สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ควันหลงจากการประชุมของ ECB

ควันหลงจากการประชุมของ ECB

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ตลาดการเงินโลกจับตามองยุโรปอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าธนาคารกลางสหภาพยุโรปจะมีมาตรการใหม่อะไรออกมาหรือไม่
ทั้งหมดนี้ เริ่มจากสถานการณ์ในสเปนที่สุกงอมขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสเปนระยะ 10 ปี พุ่งขึ้นไปที่ระดับ 7.7% ทำให้คนกังวลใจว่าสเปนกำลังจะเป็น Domino ชิ้นใหม่ที่จะล้มลง และมีคำถามต่อไปว่า จะลุกลามไปที่อิตาลีหรือไม่
 

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า คุณ Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหภาพยุโรป จำต้องออกมาให้สัมภาษณ์อย่างกะทันหันว่า “พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อดูแลปัญหาเพื่อรักษาเงินสกุลยูโรไว้ และขอให้เชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะเพียงพอ ต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ” ก่อนได้หารือกับคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ ในธนาคารกลางสหภาพยุโรป นำมาซึ่งความดีใจของนักลงทุน การผ่อนคลายของปัญหาในสเปนและอิตาลี และการรอคอยของตลาดว่า ท้ายที่สุด จะสามารถทำได้ตามที่พูดไว้หรือไม่
 

ความผันผวนในตลาดการเงินโลก
 

สิ่งที่น่าสนใจที่เกิดระหว่างที่คุณ Draghi แถลงผลการประชุมของธนาคารกลางสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็คือ ความผันผวนในตลาดการเงินโลก
 

ในวันดังกล่าว ก่อนที่จะเริ่มแถลง ค่าเงินยูโรได้แข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 1.24 ดอลลาร์/ยูโร ดอกเบี้ยพันธบัตรของสเปน และอิตาลีได้ปรับตัวลดลง ดัชนีหุ้นของประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น (เพื่อรอข่าวดี) แต่หลังเริ่มแถลงข่าวไปได้ไม่นาน ตลาดก็แสดงความกังวลใจและความผิดหวังกับมาตรการที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปแถลงออกมา โดยค่าเงินยูโรได้ลดลงเหลือเพียง 1.21 ดอลลาร์/ยูโร ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 30 นาที ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสเปนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลับไปที่ระดับ 7.2% ดัชนีหุ้นของสเปนลดลงจาก 6,850 จุด เหลือเพียง 6,300 กว่าจุด ฯลฯ
 

ในวันต่อมา Mood ต่างๆ ก็เปลี่ยนอีกรอบ หลังจากมีข่าวลือเรื่องการที่รัฐบาลสเปนจะขอรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และมีข่าวดีเรื่องตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐ ค่าเงินยูโรได้ปรับแข็งค่าขึ้นอีกครั้งหนึ่งกลับมาที่ 1.24 ดอลลาร์/ยูโร (ส่งผลให้ค่าเงินบาทของเรา ผันผวนตามไปด้วย) ดอกเบี้ยพันธบัตรของสเปนและอิตาลีปรับลดลง และหุ้นของประเทศต่างๆ ได้ปรับกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ช่วยให้ดัชนีหุ้นในตลาดต่างๆ ของเอเชียปรับดีขึ้น
 

เกิดอะไรขึ้น ทำไมตลาดการเงินโลกจึงผันผวนเช่นนี้
 

ถ้าจะว่าไปแล้ว ทั้งหมดเป็นผลมาจากความเปราะบางที่มีอยู่มากในยุโรป และไม่แน่นอนเชิงนโยบายที่หลายคนไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดย
 

1. ความผันผวนที่พบ สะท้อนถึง “ความอ่อนไหวและความเปราะบางของสถานการณ์ในยุโรป” ที่นักลงทุนพร้อมจะวิ่งเข้าออกจากตลาด เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป (ถ้าเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ปกติเราจะไม่เห็นการ swing ไปมาของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่แรงเท่านี้)
 

2. ความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก “ความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย” ที่นักลงทุนยังไม่แน่ใจว่า “จะเกิดอะไรขึ้น” โดยในยุโรปมีความขัดแย้งกันในเชิงความคิดเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องหา Compromised Solution เพื่อให้ทุกคนเห็นชอบร่วมกัน
 

กรณีผลการประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรปรอบนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของปัญหาดังกล่าว นักลงทุนเดิมคิดว่า ECB จะมีมาตรการออกมาแก้ไขปัญหาทันที ผ่านการเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรสเปนและอิตาลีเพื่อกดดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป โดยจะสามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อประชุมเสร็จ
 

แต่สิ่งที่นักลงทุนได้ กลับเป็นเพียงการประกาศว่า ECB กำลังจะเตรียมมาตรการไว้ รวมทั้งศึกษาในรายละเอียดในด้านต่างๆ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า จะเข้าแทรกแซงเฉพาะประเทศที่ (1) มีการดำเนินการรัดเข็มขัดของตนเองไปอย่างน่าพอใจ (2) มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ (3) มีการดำเนินการเพื่อหลอมรวมกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปอย่างใกล้ชิดให้มากขึ้น และ (4) ได้ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือ EFSF/ESM เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า กว่าเงินจะออกมาได้ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักลงทุนจึงผิดหวัง และขายสินทรัพย์ต่างๆ ทิ้งไปในวันดังกล่าว
 

ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายในยุโรปเหล่านี้ จะไม่จบไปง่าย นับวันก็ยิ่งจะมีความขัดแย้งกันมากขึ้น โดยรอบนี้ ความขัดแย้งระหว่าง ECB และธนาคารกลางของเยอรมนีได้ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน (อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน) เพราะธนาคารกลางของเยอรมนีไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรการที่ประกาศออกมา แต่แพ้การลงมติ 1 ต่อ 22 ทำให้หลังจากนั้น มีผู้ออกมาตั้งคำถามในเยอรมนีว่า ทำไมเยอรมนีซึ่งจะเป็นผู้ที่รับภาระในการช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดแต่กลับมีคะแนนเสียงเท่ากับประเทศอื่นๆ และไม่สามารถกำหนดทิศทางของนโยบายได้
 

นอกจากนี้ การจะดำเนินการแก้ไขปัญหาในยุโรปจะมีความล่าช้า ไม่ทันกาล โดยในกลุ่ม 22 เสียงที่เห็นด้วย ไม่ใช่ว่าจะเห็นตรงกันทั้งหมด ก่อนเริ่มประชุม มีข่าวว่าธนาคารกลางหลายแห่งไม่ได้เห็นด้วยกับคุณ Draghi ที่จะเข้าไปแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาล เพราะจะเป็นการไปส่งเสริมให้รัฐบาลที่มีปัญหา ยังคงใช้จ่ายเกินตัว ไม่ยอมปรับเปลี่ยน ไม่ยอมปฏิรูปเศรษฐกิจของตน ด้วยเหตุนี้ ท้ายสุด คำตอบที่ตกลงได้ จึงเป็นการยอมความกันใน Compromised Solution ที่ไม่เข้าแทรกแซงทันที และมีการตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อเปลี่ยนใจธนาคารกลางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเหล่านั้นกลับมาสนับสนุน (แต่สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนและความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลก)
 

ความเสี่ยงในช่วงต่อไป
 

ถ้าจะสรุป ก็ต้องสรุปว่า สถานการณ์ในยุโรปขณะนี้ยังน่าเป็นห่วงมาก สิ่งที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปทำสำเร็จ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. เป็นการซื้อเวลาเพิ่มเติม เพื่อไปจัดทำรายละเอียดของมาตรการในการเข้าช่วยเหลือ โดยนักลงทุนยังคงมีคำถามเหลืออีกมาก (1) เงินที่มาช่วยเหลือจะรับสิทธิในการได้รับเงินคืนก่อนนักลงทุนในภาคเอกชนหรือไม่ (2) ที่บอกจะเข้าแทรกแซง ECB พร้อมจะใช้เงินเท่าไร เพราะรอบที่แล้วที่มีการเข้าแทรกแซง ECB หมดเงินไปกว่า 2 แสนล้านยูโร แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไร และ (3) ECB จะตั้งเป้าหมายของดอกเบี้ยของพันธบัตรเหล่านี้ไว้ที่เท่าไร
 

นอกจากนี้ กรอบที่ตกลงกันไว้ ยังมีอีกความหมาย คือ ธนาคารกลางสหภาพยุโรปจะไม่เอาตัวเข้าไปแลก จะไม่เข้าอุ้มแต่เนิ่นๆ แต่จะรอให้สเปนและอิตาลีล้มก่อน จึงจะเข้าช่วยเหลือ (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนหรือไม่ เพราะหมายความว่า ถ้าจะล้ม ก็จะไม่มีใครมาช่วยค้ำยันไว้ แต่จะมาแก้หลังจากล้มไปแล้วเท่านั้น) ด้วยเหตุนี้ ทุกคนควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมกับปัญหาในยุโรปหากจะลุกลามขึ้นอีกรอบ ก็ขอเอาใจช่วยครับ

 
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติม หรือเสนอแนะได้ที่ “Blog ดร. กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ   


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ควันหลง การประชุมของ ECB

view