สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทพิสูจน์ความเป็นอิสระธนาคารแห่งประเทศไทย(อีกครั้ง)

บทพิสูจน์ความเป็นอิสระธนาคารแห่งประเทศไทย(อีกครั้ง)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




บทพิสูจน์ความเป็นอิสระธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หลังฝ่ายการเมืองบีบให้เลิกใช้นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ หันมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนดูแลบาทอ่อน
ความขัดแย้งการดำเนินนโยบายการเงินเริ่มส่งสัญญาณอีกครั้ง หลังดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประสานเสียงให้ความเห็นในค่ำคืนวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ในหัวข้อสานเสวนา"พลวัตรเศรษฐกิจไทย ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก" ที่สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยนโยบายทางการเงิน ดร.วีรพงษ์ มองว่าธปท.จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดเลิกใช้นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ที่ในสถานการณ์ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว โดยให้หันกลับมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ดูแลค่าเงินบาท ให้สอดคล้องกับเงินทุนเคลื่อนย้าย แทนนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อ

ขณะที่นายกิตติรัตน์ กิตติรัตน์ ออกมาเสนอความเห็นสอดรับภาวนาว่า"นายวีรพงษ์ รามางกูร จะสามารถ ส่งผ่านความคิดทางเศรษฐกิจมหภาคไปยังท่านที่ได้ดำเนินการทางด้านนโยบายการเงินอยู่"

"ถ้าจำกันได้ หลายเดือนก่อนมีรมว.คลังของประเทศนี้ พูดว่าอยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องขบขันหาว่าพูดทำไม เรื่องนี้ผมก็เพียงแต่อยากชี้แจงว่า ผมเห็นมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าการส่งออกของเรา จะเผชิญกับความยากลำบากขึ้น ดังนั้นหากเราอยากส่งออกได้มากขึ้น มันมีกลไกที่สำคัญอีกหนึ่งตัว คือ อัตราแลกเปลี่ยน"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ ยังระบุให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีก 3% ลดลงเหลือ 2.5% เพราะเห็นว่าเงินเฟ้อไม่มีแรงกดดันเศรษฐกิจแล้วในเวลานี้

มุมมองทั้งสองท่าน คงฉายแววชัดเจนขึ้นอีกครั้ง ต้องการชี้นำการดำเนินนโยบายการเงิน ที่เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นผู้ดูแลอยู่ มากำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินเสียเอง หลังจากที่เปลี่ยนประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จากม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล มาเป็นดร.วีรพงษ์ รามางกูร ไม่นานมานี้

บทบาทสำคัญจากนี้ จึงอยู่ที่ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะออกมากำหนดทิศทางนโยบายการเงินอย่างไร หลังจากเริ่มมีฝ่ายการเมืองพยายามออกมาค้านการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.

หลังจากนี้ จะเห็นการขับเคี่ยวนโยบายการเงินออกมาเรื่อยๆ ระหว่างคลัง กับธปท. ไม่ว่าเรื่องการนำเงินไปปกป้องค่าเงินบาท เพราะเมื่อสิ้นปีธปท.จะรายงาน กำไร/ขาดทุน ผลตอบแทนออกมา ซึ่งจะเป็นข้ออ้างของฝ่ายการเมือง เพื่ออธิบายถึงความผิดพลาดของการตัดสินใจของธปท.

จนถึงเรื่องความคิดการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับวิกติหนี้ยูโรโซน ต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่ส่งสัญญาณให้ลดลงเหลือ2.5% ว่าจะมีการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร รวมไปถึงการส่งออกที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้ให้ได้ 15% และหากจำกันได้ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการฯธปท.ออกมาให้ความเห็นว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 9% และปรับลดลงเหลือแค่ 7% หลังส่งออกไปประเทศยุโรปลดลง

นี่คือเหตุผล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ,ประธานกรรมการธปท.คนใหม่ ที่ให้ธปท.ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้ค่าบาทอ่อนนำ แทนเป้าหมายอัตราเงิน ก็เพื่อดันให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง ก่อนที่เศรษฐกิจจะขยายตัวลดลง จนนักธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก จะไม่มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เพราะสุดท้ายคือรัฐบาล จะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายต่อการดำเนินนโยบาย

"โลกทุกวันนี้ดีมานด์น้อยกว่าซับพลาย ดังนั้นหน้าที่ของนโยบายการเงิน จึงไม่ใช่หน้าที่ ที่จะดูแลเงินเฟ้ออีกต่อไป เพราะดูแลไปก็ทำอะไรไม่ได้ แต่นโยบายการเงินมีหน้าที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การจ้างงาน หรือที่เรียกกันว่า Inclusive Growth "ดร.วีรพงษ์ ระบุ

บทพิสูจน์การเข้ามากำหนดนโยบายทางการเงินของฝ่ายการเมือง จะลงเอยกดดันการดำเนินนโยบายของตัวผู้ว่าฯธปท.เป็นแน่ เพราะหลายความคิดเห็นที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่ตอบสนองความคิดฝ่ายการเมือง ท่านผู้ว่าฯธปท. ยืนอยู่บนหลักการของธปท.ที่ดูแลด้านนโยบายการเงิน ใช้นโยนบายเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นสำคัญ และยึดการวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจตัดสินใจที่ไม่สุ่มเสี่ยงให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายตามมา

"เป้าหมายของธปท. ที่ต้องดูแลนโยบายการเงินให้ผ่านไปให้ได้ เพราะมีหลายตัวแปร ที่ต้องนำมาคิดและช่างน้ำหนักในการตัดสินนโยบาย มันไม่ง่าย และการให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 3% เหลือ 2.5% เป็นการเพิ่มแรงกดดันตรงไปยังผู้ว่าฯธปท."แหล่งข่าว กล่าว

เมื่อฝ่ายการเมือง เข้ามาบีบชี้นำทิศทางนโยบายการเงิน ถึงบทพิสูจน์ความเป็นอิสระของธปท.เพราะการปลดผู้ว่าฯธปท.ทำไม่ได้ มีกฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทยคุ้มกันไว้ นอกจากเลินเล่ออย่างร้ายแรงจริงๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัยดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ไม่มีกฏหมาย แต่มีอิสระเต็มที่ มีความสง่าผ่าเผยที่จะดำเนินนโยบายได้ตามตัวเอง

อิสระธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีอยู่จริงหรือไม่? คงมีคำถามให้คิดกัน(อีกครั้ง)


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บทพิสูจน์ความเป็นอิสระธนาคารแห่งประเทศไทย

view