สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการทีดีอาร์ไอเสนอข้อคิด"อัตราดอกเบี้ย-อัตราแลกเปลี่ยน"น่าสนใจ เมื่อไม่ควรใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย คำถาม"ควรใช้อะไรเป็นเป้าหมาย
ตามปกติแล้วสภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากภายในประเทศ (อันได้แก่การบริโภค/การลงทุนที่มากเกินควร) และจากภายนอกประเทศ (อันได้แก่ราคาสินค้าเข้า/สินค้าออกที่เปลี่ยนแปลง) คำถามที่แทบทุกฝ่ายสงสัยคือ การที่รัฐวางนโยบายการเงินไว้ในรูปแบบ inflation targeting คือ เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินบาท
ไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ภายในขอบเขตหนึ่งนั้นถูกต้องหรือไม่

บทความของดร.วีรพงษ์ รามางกูรใน นสพ. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13-17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจและครอบคลุมหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทยเป็นประเทศเล็กและเปิด มูลค่าการนำเข้าและการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 140 ของรายได้ประชาชาติ สินค้าแทบทุกอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าจากต่างประเทศทั้งนั้น ในปัจจุบันเนื่องจากประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การค้าโลกต้องเปิดตลาดของตัวเอง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ เช่น พลังงาน แร่ธาตุ วัตถุดิบ และสินค้ากึ่งวัตถุดิบต่างก็มีการค้ากันอย่างเสรี ราคาสินค้าเหล่านี้จึงถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของโลก ไม่มีรัฐบาลของประเทศใดที่สามารถทำอะไรกับอัตราเงินเฟ้อได้ดังเช่นเมื่อ 30-40 ปีก่อนหน้านี้

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือในยุคของการค้าเสรีและโลกาภิวัฒน์ขณะนี้ เป้าหมายของนโยบายดอกเบี้ยจึงควรเปลี่ยนไปจากเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นอย่างอื่น เช่น เป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน อัตราแลกเปลี่ยน ดุลบัญชีเดินสะพัดกับต่างประเทศ เพราะอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ในอิทธิพลของตลาดโลกไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำอะไรได้

ดร.วีรพงษ์ ได้ยกตัวอย่างด้วยว่าในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ธปท. พยายามปราบเงินเฟ้อโดยรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงกว่าต่างชาติมาก และนโยบายเช่นนั้นก็มิได้ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด เพราะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก เพื่อกินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย แม้ว่า ธปท. จะเข้าไปแทรกแซงตลาดด้วยมาตรการ (ซื้อ-ขาย-ซื้อ) เงินตราต่างประเทศ เพื่อจำกัดการเพิ่มค่าของเงินบาท พร้อมทั้งเลื่อนเวลาที่ปริมาณเงินบาทในระบบจะสูงขึ้น นอกจาก ดร.วีรพงษ์ เห็นว่ามาตรการดังกล่าวจะเปล่าประโยชน์แล้ว มาตรการนั้นยังก่อผลขาดทุนแก่ ธปท. อีกด้วย แต่หาก ธปท. ลดดอกเบี้ยเงินบาทลงแต่แรกก็จะเป็นมาตรการที่ให้ประโยชน์ในหลายแง่มุม กล่าวคือ ช่วยลดแรงกระตุ้นเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เงินทุนที่ไหลเข้าจากต่างชาติน้อยลงนี้ก็จะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อลงได้บ้าง พร้อมทั้งช่วยให้ ธปท. สามารถเลี่ยงภาวะขาดทุน

นอกจากนี้ มาตรการลดดอกเบี้ยเงินบาทจะช่วยชาวไร่ชาวนาและผู้ส่งออกอีกด้วยผ่านค่าเงินบาทที่คงจะอ่อนตัวลงตามอัตราดอกเบี้ยและกระแสเงินทุนจากต่างชาติที่จะหยุดไหลเข้าและอาจกลายเป็นไหลออกด้วยซ้ำ ในแง่นี้คงต้องพิจารณารายละเอียดของดุลบัญชีเดินสะพัดกับต่างประเทศด้วยว่า หาก ธปท. เลือกใช้มาตรการลดดอกเบี้ยเงินบาท การส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการจะดีขึ้นหรือแย่ลงจนดุลบัญชีเดินสะพัดมีฐานะดีขึ้นหรือแย่ลงมากน้อยเพียงไร

ในเมื่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยไม่ควรใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย หลายฝ่ายอาจถามว่าแล้วควรใช้อะไรเป็นเป้าหมาย คำตอบคือแล้วแต่สถานการณ์ว่าประเด็นใดฉุกเฉินก็ควรมาก่อน เช่น growth targeting หรือ exchange rate targeting หรือ employment rate targeting ในบรรดาเป้าหมายเหล่านี้ อัตราแลกเปลี่ยนควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะไทยทำการค้าขายกับต่างประเทศเป็นอันมากดังที่กล่าวข้างต้น และอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวเชื่อมระดับราคาภายในกับภายนอกประเทศ ดังนั้น เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนจึงส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ที่ทั่วโลกมีเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย และหากภาพพจน์หรือความน่าเชื่อถือนี้เสื่อมถอยลง การแก้ไขก็จะลำบากและใช้เวลามาก ดังนั้น รัฐบาลไทยควรบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้บรรลุถึงเป้าหมายหลัก 3 ประการ อันได้แก่ (1) เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน (2) ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และ (3) ดุลยภาพในบัญชีเดินสะพัดกับต่างประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เพียงพอในปัจจุบัน พร้อมทั้งข้อตกลงกับประเทศในภูมิภาค ASEAN และ IMF ย่อมช่วยเป็นกันชนให้บรรลุเป้าหมายข้อ (1) ได้ไม่ยาก ในส่วนเป้าหมายข้อ (2) รัฐคงต้องติดตามค่าเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งในภูมิภาคที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของเงินสกุลต่างๆ ก็อยู่ในระดับที่แตกต่างกันตามแต่สภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เป้าหมายข้อ (3) มีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวแปรที่แสดงว่าปัจจัยพื้นฐานของการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศของไทยจะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนด้วยตัวเองหรือไม่

โดยสรุปรัฐคงต้องติดตามค่าของเงินบาทและเงินในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และอาจจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงบ้างเพื่อลดความผันผวนหรือจำกัดแถบของการแกว่งตัวไม่ให้ใหญ่เกินไป เพราะเสถียรภาพของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อทั้งธุรกิจของภาครัฐและเอกชน รวมถึงความไว้วางใจในตลาดเงินทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แถบนี้อาจค่อยๆ เคลื่อนไหวไปในระยะเวลาปานกลางเพื่อให้ค่าเงินบาทปรับตัว และสร้างดุลยภาพให้แก่บัญชีเดินสะพัดกับต่างประเทศของไทยได้อย่างสม่ำเสมอ

อนึ่ง ในปัจจุบันรัฐคงสามารถลดความจำเป็นที่จะต้องเข้าแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศลงได้บ้าง เพราะตลาดอนุพันธ์เงินตราต่างประเทศล่วงหน้าของไทยที่เพิ่งเปิดดำเนินการในกลางปี พ.ศ. 2555 นี้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถเข้าถึงสัญญาซื้อขายเงินดอลล่าร์ สรอ. ล่วงหน้าได้อย่างคล่องตัวกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ดังนั้น รัฐจึงเหลือแต่เพียงทบทวนกฎเกณฑ์การกำกับควบคุมฐานะเงินตราต่างประเทศสุทธิของสถาบันการเงินและหน่วยงานเอกชนให้ละเอียดรอบคอบขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ ก่อความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยไม่ประสบภาวะวิกฤติดังเช่นในอดีตอีกครั้ง


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน

view