สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟังดีเบต วีรพงษ์-ธาริษา ว่าด้วยนโยบายการเงิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



การถกเถียงทางวิชาการว่าด้วย “นโยบายการเงิน” เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจาก
มีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบาย “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” หรือ Inflation Targeting ออกมาประกาศจุดยืนในเรื่องนี้ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ และคนที่พูดเรื่องนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ขั้น “ปรมาจารย์” มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วประเทศ เขาคือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คนปัจจุบัน

 ส่วนนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่เห็นว่า นโยบายการเงินตัวนี้ทำหน้าที่ของมันได้ดีอยู่แล้ว ก็มีหลายคนที่ออกมาแสดงความเห็นเช่นกัน โดยหนึ่งในผู้ที่ออกมาคอมเมนท์เรื่องนี้ มีดีกรีเป็นถึงที่ปรึกษากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และยังเป็นอดีตผู้ว่าการ ธปท. "ดร.ธาริษา วัฒนเกส"

 ผมมีโอกาสรับฟังความเห็นเรื่องเหล่านี้โดยตรงจากทั้ง 2 ท่าน และเห็นว่าแต่ละท่านมีมุมมองที่น่าสนใจ รวมทั้งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงขออาศัยพื้นที่นี้บอกเล่าความเห็นจาก “กูรู” ทั้ง 2 ท่าน ให้รับทราบกันอีกครั้ง แต่ด้วยพื้นที่ซึ่งมีจำกัด จึงขอสรุปแต่ประเด็นคร่าวๆ ตามนี้ครับ

 เริ่มจาก ดร.วีรพงษ์มองว่า Inflation Targeting ไม่เหมาะกับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจ “เล็ก” และ “เปิด” ทั้งยังมีสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ ดังนั้นราคาสินค้าส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าจากต่างประเทศ

 นอกจากนี้การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมัน มีการค้าอย่างเสรี และถูกกำหนดโดยอุปสงค์-อุปทานโลก ไม่ได้เกิดจากนโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่ง อีกทั้งอุปสงค์โลกเวลานี้มีน้อยกว่าอุปทาน ด้วยเหตุนี้เป้าหมายนโยบายการเงินจึงควรเปลี่ยน ควรหันมาเน้น “การขยายตัวทางเศรษฐกิจ” มากกว่าไปห่วงเรื่อง “เงินเฟ้อ”

ขณะที่เครื่องมือ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ควรเปลี่ยนมาทำหน้าที่ “ควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน” มากกว่าไปคุมเงินเฟ้อ เพราะเงินมักไหลจากผลตอบแทนต่ำไปที่ผลตอบแทนสูง การที่แบงก์ชาติกำหนดดอกเบี้ยไว้สูงกว่าดอกเบี้ยสหรัฐ ทำให้เงินทุนนอกไหลเข้ามามาก ..ดร.วีรพงษ์เห็นว่า ตัวที่จะสร้างปัญหาให้กับเสถียรภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง คือ เงินทุนเคลื่อนย้าย จึงควรเน้นดูแลด้านนี้เป็นหลัก

 ด้าน “ดร.ธาริษา” มองว่า “ดอกเบี้ย” ที่ดึงดูด “เงินทุนเคลื่อนย้าย” นั้นทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะถ้าดูผลศึกษาจากข้อมูลจริงทั้งในไทยและต่างประเทศ พบว่า “ดอกเบี้ย” ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ยกตัวอย่างอินโดนีเซีย ที่ดอกเบี้ยสูงถึง 5.75% แต่เงินกลับไหลเข้าอินโดนีเซียน้อยสุด เหตุผลเพราะความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญด้วย

 ส่วนที่บอกว่าไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจ “เล็ก” และ “เปิด” ไม่มีอำนาจ “ตั้งราคา” ..ดร.ธาริษา ยอมรับว่าถูกต้อง แต่นั่นหมายถึงการตั้งราคาสินค้าส่งออก ส่วนสินค้าที่ขายในบ้านเราก็ต้องขึ้นกับนโยบายด้วย ถ้านโยบายการคลังและการเงินกระตุ้นมากๆ ราคาสินค้าย่อมเพิ่มขึ้น ที่สำคัญหากเราปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำนานๆ จะเป็นการสร้างปัญหาในอนาคตได้ ตัวอย่างมีชัดจากสหรัฐ

 จากความเห็นที่ยังไม่สอดคล้อง ทำให้นึกถึงคำพูดของ ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ซึ่งบอกว่า เป็นเรื่องปกติที่การดำเนินนโยบายสาธารณะจะมีทั้งคน ชอบ และ ไม่ชอบ เพียงแต่นโยบายที่ออกมาต้องยึดหลักว่าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ต้องมี “ผลดี” มากกว่า “ผลเสีย” ..จึงหวังเอาไว้ว่า สุดท้ายไม่ว่าใครมาเป็นผู้กำหนดนโยบาย จะมองถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก!


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฟังดีเบต วีรพงษ์-ธาริษา ว่าด้วยนโยบายการเงิน

view