สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระทึก!ศาลเยอรมนีชี้ขาด จุดเปลี่ยนการเงินโลก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กูรูมองวิกฤติหนี้ยุโรปนานกว่าคาด จับตาเดือนก.ย.ศาลเยอรมนีชี้ขาด จุดพลิกผันการเงินโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง สศช.ได้การปรับประมาณการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใหม่ โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวประมาณ 5.5-6.0%

การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว 5.5 – 6.0% จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ และการเร่งตัวขึ้นของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมจะขยายตัว 4.8% และ 11.3% ตามลำดับ

ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 7.3% ลดลงจากประมาณการเดิมเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่คาดว่าจะขยายตัว 15.1%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง2.9 – 3.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.1% ของ GDP

การประมาณการเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว5.5 – 6.0% เทียบกับการขยายตัว 0.1% ในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2.9 – 3.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.1% ของ GDP เทียบกับเฉลี่ย 3.8% และ3.4% ของ GDP ในปี 2554

ในการแถลงข่าววันที่ 20 สิงหาคม 2555 สศช. ได้ปรับช่วงการประมาณการทางเศรษฐกิจให้แคบลงจาก 5.5 – 6.5% ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เป็น 5.5 – 6.0% ในการประมาณการครั้งนี้ โดยมีเหตุผลที่สำคัญ ๆ คือ การปรับสมมติฐานการประมาณการโดยเฉพาะสมมติฐาน ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งสมมติฐานด้านราคาส่งออกและนำเข้าซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่ความล่าช้าในการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศซึ่งในประมาณการเดิมคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ภายในครึ่งปีแรก เหตุผล ทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 6.0% ลดลง


ผลกระทบจากภายนอกที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกอย่างชัดเจนที่สุด คือ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป ซึ่งขณะนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยมีบางส่วนที่มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น เช่น การปรับตัวของธนาคารและสถาบันการเงินในสเปนหลังจากที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา            

"ในยุโรปสถานการณ์ยังไม่นิ่ง แม้ในบางส่วนจะมีทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีสัญญาณที่อาจนำไปสู่การฟื้นตัวได้ แต่อาจจะเป็นการฟื้นตัวแค่ชั่วคราว เพราะการได้รับเงินช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ หรือองค์กรภายนอกก็อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ กระเตื้องขึ้นในช่วงสั้น แต่ปัญหาในการมีรายจ่ายมากก็ยังเป็นปัญหาที่ยุโรปต้องแก้ไข แน่นอนว่า ต้องมีการรัดเข็มขัดก็อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อบางรายสินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว" นายอาคมกล่าว

@ธปท.ชี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่


นายประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะแถลงภาวะเศรษฐกิจครั้งต่อไปเมื่อสิ้นไตรมาส 3  ซึ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วยังไม่มีปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ ธปท.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจตามเดิมไว้

โดยปกติ ธปท.จะแถลงประมาณการเศรษฐกิจทุกไตรมาส  แต่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจทุกครั้ง  และการประชุมครั้งล่าสุด ธปท.ขออนุญาต กนง.เพื่อขอแถลงภาวะเศรษฐกิจล่าสุดเลยเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเหตุผลจึงทำให้การแถลงครั้งที่แล้วเกิดขึ้นก่อนกำหนด

ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ธปท.ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2555 เหลือ 5.7 % ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 6% เนื่องจากมีปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจที่สมควรแถลงให้ประชาชนทราบ  และถ้าไม่แถลงอาจส่งผลให้นักธุรกิจต่อการวางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ

ธปท.เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดจึงแยกตัวจากผลกระทบจากเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ได้  โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบ 3 คือ 1. การค้าระหว่างประเทศ 2. ตลาดการเงิน 3. สถาบันการเงิน  ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบต่อการส่งออกมากกว่าตลาดการเงินและสถาบันการเงิน

"กระทบต่อธุรกิจที่ผลิตเพื่อส่งออกไปอียูและสหรัฐ  รวมทั้งส่งผลต่อการส่งออกไปเอเชียด้วย และต่อไปอาจกระทบการผลิตในประเทศ และอาจกระทบกับการบริโภคในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป"

@ชี้ต้องเตรียมรับวิกฤตินานกว่าคาด


น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (สแตนชาร์ต) กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติหนี้รัฐยุโรปยังไม่จบและยังแก้ไม่ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสุดที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปีนี้

"ยิ่งวิกฤติยืดเยื้อถึงปีหน้า ยิ่งเป็นความเสี่ยงหลักสำคัญ ไทยจึงต้องตระหนักว่าผลกระทบเกิดกับเศรษฐกิจอาจจะยืดเยื้อมากกว่าคาดไว้ได้ ยิ่งปัญหาแก้ไม่ตกแน่นอนเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยกับโลกชะลอตัวยาวไม่หยุดแค่ครึ่งหลังปีนี้"
 

สิ่งที่น่ากังวล คือ หากมีบางอย่างไม่เป็นไปตามคาด ถ้าวิกฤติยุโรปขยายวงกว้าง ซึ่งขณะนี้ลุกลามในสเปนแล้ว รอเพียงแค่การขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการเหมือนกรีซ และถ้าวิกฤติลามจากสเปนไปอิตาลี  จะทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากในอนาคต กลายเป็นความตกใจและอาจทำให้ความเชื่อมั่นการบริโภคและลงทุนแย่กว่าเดิม ตลาดเงินผันผวนมากขึ้น ปฏิกิริยาผู้กำหนดนโยบายการเงินการคลังมีมากกว่าเดิม กลายเป็นผู้คนตกใจบวกความผันผวนตามมา

"ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกตระหนักอยู่แล้วว่าโลกมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าเศรษฐกิจปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้ถือเป็นความเสี่ยง ทุกฝ่ายจึงต้องมองถึงเศรษฐกิจปีหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้ ไม่ใช่วางแผนแค่ครึ่งหลังปีนี้ไม่พอ แต่ต้องวางแผนเผื่อปีหน้าเลย"

@จับตาคำชี้ขาดศาล รธน.เยอรมนี 12 ก.ย.

ปัจจัยเสี่ยงต้องจับตาเฝ้าระวังในครึ่งหลังปีนี้ น.ส.อุสรา กล่าวว่า เรื่องแรก คือ วันที่ 12 กันยายนนี้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีจะพิจารณาว่าเห็นชอบกับรัฐบาลหรือไม่ในการตั้งกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) แบบถาวร ถ้าไม่เห็นชอบเพราะเยอรมนีถือเป็นเสาหลักมีเงินเยอะสุดในยูโรโซน 17 ชาติ กลายเป็นประเด็นสำคัญคนตีความว่าแย่ขาดความเชื่อมั่นและวิกฤติลุกลามปั่นป่วนได้อีกรอบ
 

เรื่องที่สองวิกฤติจะลามจากสเปนไปอิตาลีหรือไม่ต้องตามดูใกล้ชิดช่วง 6 เดือนหน้า ถ้าเกิดจริงสะท้อนว่าวิกฤติยุโรปยังไม่ถึงจุดต่ำสุดเหมือนไฟยังไม่หยุดไหม้ความเสียหายยิ่งกินวงกว้าง สุดท้ายเป็นเรื่องต้องตามดูเจ้าหนี้กรีซจะเอาอย่างไรกับกรีซ ซึ่งผลออกมาในเดือนกันยายนนี้

"ปัจจัยเสี่ยงจะมากระจุกตัวในเดือนกันยายน ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับทิศทางตลาดเงินโลกและทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้า แต่ความเสี่ยงเหล่านี้ก็ถือเป็นแผนที่การเดินทางให้นักธุรกิจ นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายในไทยจัดการวางแผนตัวเองในปีหน้าเช่นกัน"


เมื่อให้มองปัจจัยบวกช่วยบรรเทาผลกระทบเกิดกับไทย น.ส.อุสราเห็นว่าอันดับแรกราคาน้ำมันระยะยาวเฉลี่ยปีหน้าไม่น่าสูงกว่าปีนี้ ซึ่งน่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกัน โดยราคาน้ำมันต่ำจะช่วยลดแรงกดดันมูลค่านำเข้ากับเงินเฟ้อ ดังนั้น ไทยมีโอกาสใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจถ้าจำเป็น โดยไม่ต้องห่วงเงินเฟ้อ อันดับสองไทยมีกำลังใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหนี้ภาครัฐของไทยยังต่ำราว 40% ของจีดีพี

สุดท้ายปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง พิจารณาจากสถานะการคลังแข็งแกร่ง ภาคเอกชนมีงบบัญชีแข็งแกร่ง และภาคการเงินกับธนาคารแข็งแกร่งเช่นกัน เหตุวิกฤติครั้งนี้ความแรงไม่น้อยกว่าวิกฤติซับไพร์ม และจะยากกว่าเพราะวิกฤติครั้งนี้ยืดเยื้อไม่จบเร็วเหมือนซับไพร์ม แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ แม้แรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกชะลอ การถดถอยยุโรปกระทบส่งออก อย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายจะกระทบต่อจีดีพีไทย

น.ส.อุสรา เสนอว่าหากวิกฤติยุโรปลากยาวต่อเนื่อง วิธีการบริหารจัดการต้องแตกต่างกัน กล่าวคือ ไทยอาจต้องเก็บกระสุนหรือยาที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในยามจำเป็น คือ อาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อหนุนความเชื่อมั่น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าจังหวะกับเวลาเหมาะสมว่าจะใช้กระสุนหรือยาเมื่อใด จึงต้องรอใช้ตอนชัดเจนช่วงวิกฤติลุกลามจริงๆ

"คิดว่าอย่างกรณีเฟดเขามีคิวอี 3 แน่ๆ เพียงแต่ว่าเขารอดูให้เห็นจุดต่ำสุดของวิกฤติหนี้ยุโรปเสียก่อนแล้วค่อยใช้ สำหรับไทยทุกคนเห็นตรงกันว่าการลดดอกเบี้ยช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยได้ แต่อาจต้องใจเย็นรอจุดต่ำสุดของวิกฤติ จึงใช้นโยบายลดดอกเบี้ยดึงความเชื่อมั่นให้ถูกเวลา" น.ส.อุสรากล่าวปิดท้าย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ระทึก ศาลเยอรมนีชี้ขาด จุดเปลี่ยนการเงินโลก

view