สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย (2)

นโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงภูมิหลังของนโยบายการเงินของไทยว่าส่วนใหญ่อาศัยการตรึงค่าเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐ
เพื่อ “หยิบยืม” ความน่าเชื่อถือของเงินเหรียญสหรัฐและนโยบายการเงินของสหรัฐมาให้กับนโยบายการเงินของไทย แต่ในช่วง 1994-1997 ได้มีการเปิดเสรีทางการเงินและทางการของไทยส่งเสริมให้ธุรกิจไทยกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อเร่งการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไทย แต่เมื่อเกิดปัญหาความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้เอกชนไทยยิ่งเร่งกู้เงินต่างประเทศ จนกระทั่งหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การที่ประเทศถูกลดความน่าเชื่อถือและการเก็งกำไรค่าเงินบาท  ดังนั้นจึงไม่ควรไปกล่าวโทษว่าวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997 เกิดจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นหลัก
 

นอกจากนั้นก็อาจเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าหากยกเลิกนโยบายการเงินที่อาศัยกรอบเงินเฟ้อ (inflation targeting) แปลว่า นโยบายการเงินจะไม่สนใจไยดีกับการควบคุมเงินเฟ้อ ทั้งนี้เพราะพื้นฐานของนโยบายการเงินโดยทั่วไปคือการรักษาเสถียรภาพของราคา (ทำให้เงินเฟ้อต่ำประมาณ 2-3% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง) แต่ที่จะมีประเด็นทางวิชาการอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ
 

1. เราจะควบคุมเงินเฟ้อโดยอาศัยอะไรเป็นเครื่องมือ ในกรณี inflation targeting นั้นจะใช้การปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดเงินเฟ้อและการปรับดอกเบี้ยลงเมื่อเงินเฟ้อต่ำเกินไป แต่อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประเทศที่รู้ตัวว่าเป็นเศรษฐกิจเปิด เช่นสิงคโปร์ก็จะยอมรับว่าประเทศเช่นตนเป็น price taker กล่าวคือราคาสินค้า ราคาบริการและดอกเบี้ยของโลกเป็นอย่างไร ประเทศของเขาก็ต้องยอมรับ “ราคา” ดังกล่าว ดังนั้นจึงมีเครื่องมือที่จะควบคุมเงินเฟ้อเหลืออยู่เครื่องมือเดียวคือการปรับอัตราแลกเปลี่ยน เช่น สมมุติว่าเงินเฟ้อโลกอยู่ที่ 5% ต่อปี แต่สิงคโปร์อยากคุมเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 3% สิงคโปร์ก็จะต้องตั้งเป้าให้ค่าเงินเหรียญสิงคโปร์แข็งค่าปีละประมาณ 2% เป็นต้น ประเทศที่เศรษฐกิจเปิดมากจะไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหลักบวกกับการควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ (macro prudential measures) ในการควบคุมเงินเฟ้อและปัญหาฟองสบู่
 

2. Inflation targeting นั้นตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ให้น้ำหนักกับการตั้งเป้าอย่างชัดเจนเพื่อควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อ (anchoring inflationary expectations) กล่าวคือหากธนาคารกลางมีเป้าหมายเงินเฟ้อชัดเจนมีกลไกควบคุมเงินเฟ้อที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินการอย่างอิสระให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน การรักษาวินัยทางการเงินจะทำได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่อธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือ การกล่าวเตือน (โดยยังไม่ต้องออกมาตรการ) ก็อาจเพียงพอที่จะเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ เช่นหากธนาคารกลางเอ่ยปากว่าเงินเฟ้อดูจะสูงเกินไป ประชาชนก็จะเชื่อทันทีและชะลอการใช้จ่ายลง มิฉะนั้นแล้วจะถูกมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงินกดเงินเฟ้อและเศรษฐกิจให้ต่ำลงอยู่ดี ตรงกันข้ามหากธนาคารกลางไม่มีความน่าเชื่อถือก็จะต้องออกมาตรการให้เข้มข้นอย่างมากจึงจะควบคุมเงินเฟ้อเอาไว้ได้
 

ดังนั้นประเด็นในเชิงวิชาการคือหากจะไม่ใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการควบคุมเงินเฟ้อ แต่จะใช้การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารกลางจะยังสามารถยึดโยงการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนได้หรือไม่ คำตอบในกรณีของสิงคโปร์คือพอทำได้โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนค่าเงินเป็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อ เช่นเมื่อต้องการให้เงินเฟ้อต่ำก็จะปล่อยให้เงินสิงคโปร์แข็งค่าและเมื่อต้องการผ่อนคลายก็จะปล่อยให้เงินสิงคโปร์อ่อนค่า อัตราแลกเปลี่ยนจึงถูกตั้งอยู่ในกรอบที่มีอยู่ 3 ปัจจัยคือ basket (ตะกร้าเงิน) band (กรอบให้ปรับขึ้นลงได้ในระยะสั้น) และ crawl (ปรับให้กรอบขยับได้ในระยะยาว) ซึ่งดูจะมีความสลับซับซ้อนกว่าที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่าสามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือควบคุมเงินเฟ้อได้
 

กรณีของประเทศไทยกล่าวกันว่าระบบ inflation targeting (คือการควบคุมเงินเฟ้อ โดยการปรับดอกเบี้ย) ประสบความสำเร็จในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา เพราะเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนดเอาไว้มาเกือบตลอด แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบเงินเฟ้อไทยกับเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นว่าปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันมาโดยตลอด ซึ่งอาจอธิบายได้อีกทางหนึ่งว่าเหตุที่เงินเฟ้อไทยต่ำก็เพราะเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วฉุดลงให้ต่ำด้วยก็ได้
 

หากดูตาราง 1 จะเห็นว่าเงินเฟ้อของไทยนั้นจะใกล้เคียงกับเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วมาโดยตลอดทั้งก่อนและหลังวิกฤติเศรษฐกิจและก่อนและหลังการใช้ inflation targeting กล่าวคือจะไม่มีช่วงใดเลยที่เงินเฟ้อไทยสูงกว่าเงินเฟ้อโลกมาก เว้นแต่ช่วงที่เราควบคุมฟองสบู่ในประเทศไม่ได้ในช่วงเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้เงินเฟ้อไทยเฉลี่ย 4.8% ขณะที่เงินเฟ้อประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยที่ 3.3% ต่อปี ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจนต้องลดค่าเงินบาทในที่สุด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศใหญ่ที่พึ่งพาต่างประเทศน้อยเช่นจีนและอินเดียจะเห็นว่าเงินเฟ้อของเขาจะไปคนละทิศละทางกับเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วหรือเงินเฟ้อโลกโดยรวม ซึ่งเมื่อคำนวณความสัมพันธ์ทางสถิติ (correlation)
 

ในตาราง 2 ก็จะเห็นว่าเงินเฟ้อจีนกับอินเดียมีความสัมพันธ์กับเงินเฟ้อโลกน้อยมาก แต่กรณีของจีนจะเห็นว่ามีความสัมพันธ์ทางสถิติกับเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้นในช่วง 2000-2010 สำหรับไทยนั้นความสัมพันธ์ของเงินเฟ้อกับประเทศพัฒนาแล้ว มีอยู่สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อนวิกฤติ (1981-1996) และหลังวิกฤติคือก่อนวิกฤติความสัมพันธ์เท่ากับ 78% แต่หลังวิกฤติเท่ากับ 82% จริงอยู่เงินเฟ้อไทยอาจจะต่ำในช่วง 2000-2010 เพราะปัจจัยอื่นๆ แต่ด้วยเหตุผลแล้วก็ควรจะเชื่อได้ว่าเงินเฟ้อประเทศพัฒนาแล้วน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเงินเฟ้อของไทย เพราะการค้า-ขายของไทยประมาณครึ่งหนึ่งก็วนเวียนอยู่กับประเทศพัฒนาแล้ว
 

ในครั้งต่อไปผมจะขยายความเรื่องนี้และพยายามตอบคำถามว่าเศรษฐกิจไทยเปิดหรือไม่เพียงใดครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นโยบายการเงินที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย

view