สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประชานิยมจ๋าดอกเบี้ยลาก่อน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 5 ก.ย.ที่จะถึง เริ่มมีเสียงคาดการณ์แล้วว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% เนื่องจากการใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือผลักดันเศรษฐกิจกำลังติดลมบน

ผู้บริโภคเริ่มสนุกสนานกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรกที่ยอดขอใช้สิทธิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัปดาห์ละ 100 คัน เป็น 1,000 คัน และล่าสุดเป็นสัปดาห์ละ 1 หมื่นคัน ทำให้ยอดขอใช้สิทธิรถคันแรกสูงถึง 1.45 แสนคัน เป็นเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายคืน 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีจะมีผู้ขอใช้สิทธิไม่น้อยกว่า 5 แสนคัน เป็นเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายคืนไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ผู้ขอใช้สิทธิรถคันแรก ประกอบด้วย รถยนต์นั่งทั่วไป 8 หมื่นคัน เป็นเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายคืน 7,336 ล้านบาท รถกระบะ 3.2 หมื่นคัน เป็นเงินที่ต้องคืน 530 ล้านบาท และรถยนต์นั่งมีกระบะ 3.16 หมื่นคัน เป็นเงินที่ต้องคืน 2,482 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลได้ของบเพื่อจ่ายคืนรถคันแรก 7,000 ล้านบาท แต่หากเงินไม่พอกรมสรรพสามิตจะขอให้รัฐบาลจัดสรรงบกลางมาจ่ายไปก่อน

ขณะที่โครงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และโครงการจบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 1.5 หมื่นบาท ช่วยดันให้การใช้จ่ายสะพัด เช่นเดียวกับนโยบายรับจำนำข้าวที่รัฐบาลอ้างว่าเงินถึงมือชาวนา ช่วยให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนได้จากยอดการออกรถกระบะ จะมีเพียงเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่เริ่มกุมขมับจากราคายางตกต่ำ

นโยบายประชานิยมจึงช่วยให้เกิดการกู้ยืมเงิน ลูกค้ารายย่อยหันกู้ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะยอดถอยรถป้ายแดงกับนโยบายรถคันแรก ช่วยให้ปีนี้ธุรกิจลีสซิงรีบโกยยอด ขณะที่การใช้จ่ายซ่อมแซมบ้านหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปลายปีก่อน ก็ทำให้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อบุคคลเติบโตต่อเนื่อง ผ่านครึ่งปีแรกไม่กี่เดือนธนาคารพาณิชย์ต่างพาเหรดปรับเป้าสินเชื่อปีนี้ เพิ่มขึ้น เงินจึงหมุนลงไปอยู่ในระบบมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขเงินเฟ้อขณะนี้ก็ยังไม่น่ากังวล เพราะสถานการณ์ในยุโรปและสหรัฐยังไม่น่าไว้วางใจ เมื่อเศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจเกิดชะงักงันและกินพื้นที่ในวงกว้าง ก็ทำให้การใช้จ่ายของคนในกลุ่มประเทศอียูและสหรัฐชะลอตัว เป็นผลดีต่อการปริมาณการใช้น้ำมันในโลก เพราะเมื่อคนไม่มีเงิน การใช้พลังงานและเชื้อเพลิงก็ต้องน้อยลงตาม ในระยะที่ผ่านมาจึงเห็นได้ว่าเงินเฟ้อไม่ได้ก่อตัวเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ยังอยู่ในระดับคงที่ด้วยซ้ำ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ว่าปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับ 3.2% และปีหน้าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.3% สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันและราคาอาหารทยอยปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโลก

ฉะนั้น เมื่อมองในมุมนี้การใช้นโยบายการเงินของ ธปท. ด้วยการลดดอกเบี้ยจากที่ยืนอยู่ 3% มาระยะหนึ่งก็ยิ่งไม่มีความจำเป็น เพราะนโยบายการคลังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อยู่แล้ว

ขณะที่การประชุม กนง.ในปีนี้เมื่อตัดการประชุมในวันที่ 5 ก.ย. ก็จะเหลืออีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 17 ต.ค. และ 28 พ.ย. ก่อนหมดปี ธปท.จึงมีโอกาสลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยอีกก็ได้หากสถานการณ์ในระยะถัดไปไม่น่า ไว้วางใจ

สิ่งที่สำนักวิจัยทั้งต่างมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ ธปท.สามารถตุนกระสุนได้เพียงพอก่อนเหนี่ยวไก เพราะสิ่งที่ ธปท.กำลังจับตาหลังจากนี้ คือ คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 ก.ย. จากนั้นวันที่ 121 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีจะตัดสินใจว่าจะจัดตั้งกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) ได้หรือไม่ รวมทั้งแผนการรวมกลุ่มทางการคลังยุโรป ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์จะเกิดขึ้นหลังการประชุม กนง.ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และหากผลของทั้งสองเหตุการณ์ออกมาไม่น่าไว้วางใจ ธปท.ก็มีโอกาสทบทวนนโยบายการเงินได้ทันในการประชุม กนง.ที่จะเหลืออีก 2 ครั้งก่อนหมดปี

ดังนั้น ตัวแปรหลักสำคัญของ กนง.หากจะมีการลดดอกเบี้ย ก็น่าจะเป็นสถานการณ์ในยุโรปที่จะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย ที่มีโอกาสหดตัวแรง ในขณะที่การส่งออกไทยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจประเทศคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพี และขณะนี้ก็เริ่มส่อเค้าแล้วว่า การส่งออกจะเจอศึกหนักต่อเนื่องไม่จบแค่ปีนี้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ปรับลดทิศทางการส่งออกของไทยในปีนี้เหลือ 8% จากเดิมที่คาดว่าปีนี้การส่งออกจะเติบโต 10.5% และปีหน้า 11% แต่หากสถานการณ์ในยุโรปแย่กว่าที่คาด การส่งออกอาจขยายตัวได้เพียง 5% ทั้งปีนี้และปีหน้า โดยภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ กลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มเคมีภัณฑ์และพลาสติก ขณะเดียวกันก็จะเห็นการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นผลลบกับกลุ่มยางพาราและอุตสาหกรรมเหล็ก

แน่นอนว่า แรงกระแทกจากการส่งออกจะส่งผ่านมายังอัตราจีดีพีอย่างหลีกไม่พ้น เพราะรายได้จากการส่งออกที่เข้าประเทศต้องลดลง

ไทยพาณิชย์ทำนายว่า ปีหน้าหากเศรษฐกิจไทยไม่บอบช้ำจากเศรษฐกิจโลกจะเห็นจีดีพีอยู่ที่ 4.7% หนุนให้การส่งออกเติบโต 11.3% แต่ทางกลับกันหากเศรษฐกิจโลกเลวร้ายกว่าที่คาด ก็อาจเห็นจีดีพีของไทยขยายตัวต่ำเพียง 2.7% และการส่งออกอยู่ที่ 5% ถึงคราวนั้นนโยบายดอกเบี้ยต่ำก็จะถูกงัดออกมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่า ธปท.จะรอดูน้ำหนักความรุนแรงของเศรษฐกิจในยุโรปก่อนงัดนโยบายการเงินออกมา ใช้ โดยมองว่าการประชุม กนง.รอบนี้จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 3% เพราะแรงขับเคลื่อนจากกิจกรรมการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งจากภาครัฐในช่วงใกล้ สิ้นปีงบประมาณ 2555 และการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ค่อนข้างดี

การประชุม กนง.ที่จะถึงนี้จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ย เพราะประชานิยมกำลังงวดเข้าที หนุนเศรษฐกิจให้ดิ้นได้อีกเฮือก


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประชานิยมจ๋า ดอกเบี้ยลาก่อน

view