สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับสัญญาณกนง.กับ5เหตุผลคงดอกเบี้ย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินกนง.ตัดสินใจคงดอกเบี้ย เหตุวิกฤติหนี้ยุโรปยังไม่เปลี่ยน ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน12 ก.ย. ชื่อเก็บกระสุนไว้รับมือ
แม้ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่ออกมา แต่ดูเหมือนว่า "ตลาดการเงิน" และ "นักเศรษฐศาสตร์" ส่วนใหญ่ฟันธงไปเรียบร้อยแล้วว่า กนง. จะตัดสินใจ "คง" อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม คือ 3% พร้อมคาดการณ์ว่า มติที่ประชุมในครั้งนี้จะ "ไม่เอกฉันท์" เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา

สาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่ฟันธงว่า กนง. น่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม พอจะประเมินออกเป็น 5 เหตุผลด้วยกัน คือ 1.สถานการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป ณ ขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ประเด็นสำคัญที่เป็นตัวชี้อนาคตของกลุ่มนี้ คือ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ที่มีต่อการจัดตั้งกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป หรือ ESM ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้จะมีขึ้นกลางเดือนก.ย. ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในยุโรปยังไม่เปลี่ยน เหตุผลที่ กนง. จะรีบใช้ "กระสุนนโยบาย" จึงไม่มี

"เชื่อว่าเวลานี้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า กนง. พร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นถ้าเห็นว่าสถานการณ์ในยุโรปเลวร้ายลง แต่การประชุมกนง.ครั้งนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 5 ก.ย.แล้ว จึงคิดว่า กนง. น่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน เพราะเกรงว่าถ้าตัดสินใจรีบลดดอกเบี้ยโดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะเป็นการเปลืองกระสุนโดยใช่"น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) ระบุ

เหตุผลที่ 2 คือ แม้เศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อ "ภาคส่งออก" ที่ชะลอตัวลงชัดเจน ...แต่ "การบริโภค" และ "การลงทุน" ในประเทศยังเติบโตอย่างเด่นชัด สะท้อนจาก "ดัชนีการลงทุน" เดือนก.ค.ที่ขยายตัว 19.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ "ดัชนีการบริโภค" ขยายตัว 7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และ 0.4% จากเดือนก่อนหน้านี้

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ปัจจัยในประเทศเป็นตัวหนุนการเติบโตเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างชัดเจน ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย คงต้องบริหารเศรษฐกิจในลักษณะคู่ขนาน ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบาย

"แม้ว่าการคาดเดาทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ยาก แต่การตัดสินใจของ กนง. คงยาก เพราะเศรษฐกิจมันสวนทางกันค่อนข้างชัดเจน โดยภาคส่งออกชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การบริโภคและลงทุนในประเทศเติบโตได้ดีมาก ถ้าลดดอกเบี้ยลงก็ยิ่งเป็นการกระตุ้น แต่หากไม่ดูแลเลยก็คงทำไม่ได้เพราะกลุ่มส่งออกเองยังเผชิญกับปัจจัยต่างประเทศ ผมเองคิดว่าการประชุมครั้งนี้ผลน่าจะออกมาเหมือนเดิม คือ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยที่3%"ดร.เบญจรงค์กล่าว

เหตุผลที่ 3 คือ สินเชื่อยังเติบโตระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินในประเทศยังแข่งขันแย่งชิงฐานเงินฝาก ดังนั้นถึงแม้ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่คง “ไม่จูงใจ” ให้สถาบันการเงินเหล่านี้ปรับลดดอกเบี้ยทั้ง "เงินกู้-เงินฝาก"ลงตาม

แบงก์ชาติ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค.ว่า สินเชื่อภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 16.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.ที่เติบโต 16.1% ในจำนวนนี้เป็นการเติบโตของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ 17.2% และสินเชื่อเพื่อธุรกิจ 15.5%

การเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนถือเป็นการสะท้อนวัฎจักรด้านการลงทุนที่เริ่มกลับมาในช่วง 1-2 ปีนี้ สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยยังเป็นระดับที่เอื้อต่อการขยายตัว ส่วนความกังวลเรื่องดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำจนนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น ผู้บริหารแบงก์ชาติยืนยันว่า ดอกเบี้ยนโยบายแม้อยู่ในระดับผ่อนคลาย แต่มองไปข้างหน้าแล้วเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาที่นำไปสู่การเร่งตัวที่มากเกินไป จนกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

เหตุผลที่ 4 คือ เงินเฟ้อ แม้กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขล่าสุดของเดือนส.ค. โดยเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 2.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก.ค. แต่ยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้

เรื่องนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบ ซึ่งปรับเพิ่มเนื่องจากความกังวลทางการเมืองในตะวันออกกลาง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลงในเร็ววัน ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน

"อย่างไรก็ตามความเสี่ยงด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีสูงกว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทำให้แบงก์ชาติยังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปได้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางด้านการเติบโตเศรษฐกิจ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงไว้ที่ 3% จนถึงสิ้นปี 2555"อีไอซีเอาประเมินไว้

เหตุผลสุดท้าย คือ มาตรการภาครัฐที่ผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการรถยนต์คันแรกหรือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล้วนเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแทบทั้งสิ้น ขณะที่นโยบายการเงินช่วงที่ผ่านมาถือว่าผ่อนคลายไประดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะมาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ดังนั้นกนง.จึงอาจมองว่าหากปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกจะยิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้โตร้อนแรงเกินไป

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัยพ์(บล.) ทิสโก้ จำกัด บอกว่า ช่วงที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ใช้มาตรการ ซอฟท์โลน ผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับหนึ่งอยู่แล้ว จึงมองว่า กนง. คงไม่มีความจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในเวลานี้ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 3% ก็ถือเป็นอัตราที่สอดรับกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

"เวลานี้ดอกเบี้ยที่ 3% ก็ดูเหมาะกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี และถ้าดูจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ไตรมาส2 ที่ประกาศออกมานั้น การลงทุนและการบริโภคเติบโตดีมาก สะท้อนอุปสงค์ในประเทศยังอยู่เกณฑ์ดี อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และยังมีเรื่องซอฟท์โลนที่ออกมาได้รับการตอบรับที่ดี ดังนั้นความจำเป็นที่ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจึงน้อย"ดร.กำพลระบุ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จับสัญญาณกนง. 5เหตุผลคงดอกเบี้ย

view