สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย (3)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ



ครั้งที่แล้วผมได้เปรียบเทียบเงินเฟ้อของไทยและประเทศพัฒนาแล้วในอดีต สรุปว่า เงินเฟ้อไทยกับเงินเฟ้อประเทศพัฒนาแล้วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ในครั้งที่แล้วผมได้เปรียบเทียบเงินเฟ้อของไทยและประเทศพัฒนาแล้วในอดีต สรุปว่า เงินเฟ้อไทยกับเงินเฟ้อประเทศพัฒนาแล้วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์ทางสถิติสูงถึง 80% ดังนั้น การที่เงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วต่ำมาก คือ  ประมาณ 2% ต่อปี จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้เงินเฟ้อของไทยก็อยู่ที่ระดับต่ำด้วย เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่ “เปิด” มากขึ้นเป็นลำดับ ประเทศขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจเปิดน้อยเช่นอินเดียจะพบว่าเงินเฟ้อไม่มีความสัมพันธ์ทางสถิติสูงเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อประเทศพัฒนาแล้วหรือกับเงินเฟ้อของโลก

 

ทั้งนี้ ผมไม่ได้คัดค้านการใช้นโยบายการเงินแบบกรอบเงินเฟ้อ แต่อยากศึกษาข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ เพราะหากเงินเฟ้อไทยต่ำเพราะกรอบนโยบายดังกล่าวดังที่เข้าใจกันทั่วไปก็ไม่เป็นไร แต่หากเป็นเพราะเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วต่ำ จึงทำให้เงินเฟ้อไทยต่ำก็ต้องเตรียมการไว้ว่าหากเงินเฟ้อของประเทศดังกล่าวสูงขึ้นในอนาคต (เพราะปัจจุบันใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินขนาด) ประเทศไทยก็จะต้องรับรู้ว่าเรายังจะมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้ นอกจากนั้น ก็ต้องเข้าใจร่วมกันว่าแม้เงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วจะต่ำ แต่เงินเฟ้อของไทยก็จะสูงได้หากขาดวินัยทางการเงิน กล่าวคือ ความสำคัญของวินัยทางการเงินนั้นมีอยู่ไม่ว่าจะใช้กรอบนโยบายการเงินแบบใด

 

ประเด็นที่ตามมา คือ ประเทศไทยมีเศรษฐกิจเปิดจนกระทั่งการดำเนินนโยบายการเงินแบบกรอบเงินเฟ้อเริ่มขาดประสิทธิผลแล้วหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเข้าใจร่วมกันว่าเศรษฐกิจเปิดหมายความถึงอะไร สำหรับผมนั้นประเทศเช่นไทยที่มีการส่งออก+นำเข้าสูงเกือบ 150% และมีนโยบายเงินทุนไหลเข้า-ออกเสรีนั้นน่าจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดในลักษณะที่ทำให้ไทยเป็น price taker หมายความว่า ราคาสินค้าและบริการของไทยถูกกำหนดโดยราคาสินค้าและบริการที่ถูกกำหนดมาจากตลาดโลกหรือประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก ซึ่งประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยนำเสนอแนวคิดว่าแม้การส่งออกและการนำเข้าของไทยจะมีสัดส่วนสูงแต่ไทยนำเข้าเพื่อผลิตส่งออกและคนไทยก็ใช้สินค้านำเข้าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20-30% ของการบริโภคทั้งหมด ดังนั้น การบริโภคส่วนใหญ่จึงจะสามารถควบคุมได้ด้วยการปรับดอกเบี้ยขึ้น-ลงและได้ยกตัวอย่างบริการ เช่นการตัดผมว่าจะไม่ปรับขึ้น-ลงตามราคาสินค้าในตลาดโลก

 

ผมมีข้อคิดในอีกด้านหนึ่งดังนี้

 

1. หากช่างตัดผมในประเทศอังกฤษ-ญี่ปุ่นได้ค่าจ้างสูงขึ้นมาก ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่ช่างตัดผมไทยจะย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนช่างตัดผมในไทยและค่าตัดผมก็ต้องปรับขึ้น ที่จริงแล้ว การเคลื่อนย้ายแรงงานก็กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เช่น การที่พ่อครัว-แม่ครัวไทยโยกย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่นับแรงงานประเภทอื่นๆ อีกหลายแสนคน การเคลื่อนย้ายของแรงงานสามารถส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการที่นึกว่าเป็น non-traded goods หรือสินค้าที่ไม่ได้ค้าขายกับต่างประเทศ ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันได้

 

2. บางครั้งการมองปริมาณและนำเอาสัดส่วนของปริมาณมาสรุปว่าเป็นตัวกำหนดราคานั้นไม่ถูกต้อง เช่น ข่าวล่าสุดว่าราคาอาหารสัตว์ของไทยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเพราะราคาถั่วเหลืองในต่างประเทศปรับสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในสหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าเมื่อถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นราคาอาหารสัตว์ของไทยก็ต้องปรับขึ้นตาม แม้ว่าไทยผลิตถั่วเหลืองใช้เอง 2 ล้านตันและนำเข้าเพียง 1 ล้านตัน แต่ส่วน 1 ล้านตันนั้นเป็นส่วนที่กำหนดราคาของผลผลิต 2 ล้านตันของไทย เช่นเดียวกันแม้ไทยจะผลิตข้าวมากถึง 20 ล้านตันและส่งออก 10 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดของโลก แต่ไทยกลับไม่สามารถกำหนดราคาข้าวสูงเกินกว่าตลาดโลกมากเกินไป

 

3. สัดส่วนของการบริโภคที่เป็นการนำเข้าเพียง 20-30% นั้นไม่ได้หมายความว่าเงินเฟ้อจากภายนอกจะส่งผ่านมาทางสินค้านำเข้าเท่านั้น เช่น ข้าวที่ไทยส่งออกและสินค้าทุกชนิดที่ไทยส่งออกนั้นล้วนแต่จะสามารถปรับราคาขึ้นได้หากราคาในตลาดโลกปรับขึ้น เพราะสินค้าหลายพันชนิดที่ไทยส่งออกก็เป็นสินค้าที่มีการบริโภคในประเทศไทยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทต่างๆ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอื่นๆ หมายความว่า หากเงินเฟ้อในต่างประเทศสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยสูงขึ้น ก็เป็นไปได้สูงว่าจะทำให้เงินเฟ้อของไทยปรับสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กล่าวโดยสรุปคือผมเชื่อว่าการที่เงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายโดยเสรีทั่วโลกประกอบกับการที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกและนำเข้าสูงทำให้ราคาสินค้า-บริการและอัตราเงินเฟ้อของไทยจะถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ระดับต่ำนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ระดับต่ำมาก เพราะญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะเงินฝืด สหรัฐก็กลัวเงินฝืดมากกว่าเงินเฟ้อ ยุโรปก็กำลังหดตัวทำให้ต้องปรับลดดอกเบี้ย แปลว่าไทยก็น่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถขาดวินัยทางการเงิน เพราะบางประเทศเช่นอินเดียก็กำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อสูง

 

บางคนอาจแย้งว่ามีหลายประเทศที่ใช้นโยบายการเงินที่ยึดกรอบเงินเฟ้อและประสบความสำเร็จ โดยมีประเทศที่ใช้กรอบเงินเฟ้อถึง 27 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิวซีแลนด์ที่เป็นเจ้าตำรับที่ใช้กรอบเงินเฟ้อมานานเกือบ 25 ปี ออสเตรเลียก็เช่นกัน ทั้งสองประเทศเป็นประเทศเล็กในเชิงจำนวนประชากร (นิวซีแลนด์ 3 ล้านคน ออสเตรเลีย 21 ล้านคน) จึงน่าจะต้องพึ่งพาการค้ากับต่างประเทศมาก แต่หากดูสัดส่วนการค้าจะพบว่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงน้อยมาก คือ อยู่ที่ระดับ  50-60% ของจีดีพีสำหรับนิวซีแลนด์และ 30-40% สำหรับออสเตรเลีย แม้แต่เกาหลีที่น่าจะมีสัดส่วนการค้าสูงก็ยังต่ำกว่าไทย คือ ประมาณ 70-100% ของจีดีพี

 

ในกรณีของไทยนั้นจะพบว่าในช่วง 2001-2011 (ไม่นับปี 2009 และ 2010 เพราะเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก) จะพบว่าการส่งออกขยายตัวเฉลี่ย 6.7% ต่อปี ขณะที่จีดีพีขยายตัว 4.3% ต่อปี ซึ่งหากการขยายตัวของการส่งออกและจีดีพีเป็นไปเช่นเดียวกันนี้ต่อไปอีกเพียง 12 ปี การส่งออกก็จะมีขนาดเท่ากับจีดีพี (ในปี 2024)

 

ผมเชื่อว่าหากไทยจะยังต้องการใช้นโยบายการเงินที่ยึดโยงกับกรอบเงินเฟ้อต่อไป ประเทศไทยจะต้องหยุดดำเนินนโยบายส่งเสริมให้การส่งออกขยายตัวสูงกว่าจีดีพีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 2005-2010 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความหวังดีแต่ก็ส่งผล 3 ประการ คือ

 

1. อาจเป็นเหตุทำให้การส่งออกขยายตัวสูงกว่าจีดีพีต่อเนื่องออกไปอีก

 

2. ธปท.ต้องซื้อเงินตราต่างประเทศ ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของจีดีพี

 

3. สร้างภาระในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินโดยการออกพันธบัตร ธปท. เพราะทุนสำรอง (สินทรัพย์) ที่เพิ่มได้มาจากการสร้างหนี้สินที่เป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น ทำให้หนี้เงินบาทของ ธปท. เพิ่มถึง 10 เท่าเป็น 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน

 

แต่เมื่อ ธปท.มีนโยบายตรึงดอกเบี้ยในประเทศให้สูง (3%) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ประเทศพัฒนาแล้วกดดอกเบี้ยลงต่ำบวกกับมาตรการคิวอี (การพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล) ทำให้ ธปท.ประสบกับการขาดทุน เพราะหนี้ที่เป็นพันธบัตร ธปท.มีภาระดอกเบี้ย 3% แต่สินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่านั้นมาก สิ่งที่เป็นห่วง คือ เมื่อขาดทุน ธปท.ก็ต้องพิมพ์เงินออกมาจ่ายดอกเบี้ยทำให้อาจขัดแย้งกับความต้องการที่จะควบคุมปริมาณเงินเพื่อตรึงดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดอกเบี้ยไทยสูงกว่าดอกเบี้ยต่างประเทศอย่างมาก ก็มีความเสี่ยงว่าเงินทุนอาจไหลเข้าประเทศในจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ ธปท.ต้องขาดทุนมากขึ้นไปอีกหากจะยังพยายามควบคุมเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเช่นที่เคยทำมา

 

จึงสรุปได้ว่าหากจะยังต้องการใช้นโยบายการเงินที่อิงกรอบเงินเฟ้อต่อไปในระยะยาว ธปท.ก็คงจะต้องแทรกแซง เพื่อควบคุมค่าเงินบาทให้น้อยที่สุด เช่น ที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ยึดปฏิบัติมาโดยตลอด แม้ค่าเงินบาทจะปรับตัวขึ้น-ลงอย่างมากเช่นใดก็ต้องยอมให้เป็นไปตามกลไกตลาด แม้จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกก็ยอมครับ


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นโยบายการเงินที่เหมาะสม ประเทศไทย (3)

view