สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธนาคารกลางกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งต่อไป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.บัณฑิต นิจถาวร



มีโอกาสสูงที่มาตรการการแก้ไขปัญหาที่ทางการประเทศอุตสาหกรรมได้ทำไป จะทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงตามมา
ช่วงนี้ผมชีพจรลงเท้า วันจันทร์ที่บทความนี้เผยแพร่ ผมคงอยู่ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อร่วมสัมมนาระดับผู้ว่าการ และรองผู้ว่าการของกลุ่มธนาคารกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ SEACEN ที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ BIS โดยผมได้รับเชิญไปให้ความเห็นเรื่องวิกฤตยูโรและตลาดเกิดใหม่เอเชีย วันนี้ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องนี้ เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวโดยตรงกับการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งเป็นประเด็นที่ในประเทศไทยเองก็สนใจ

วิกฤตหนี้ยุโรปขณะนี้ลากยาวมากว่าสองปี การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาแม้จะสามารถป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้ลุกลามไปสู่การเกิดวิกฤตที่รุนแรง แต่การแก้ไขก็ไม่สามารถแก้ปัญหาจริงๆ ที่มีอยู่ได้ นั่นก็คือ การลดหนี้สาธารณะ ปัญหาความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจที่ไม่ขยายตัว ตรงกันข้าม การแก้ไขกลับได้สร้างความเสี่ยงและผลกระทบที่ไม่ตั้งใจ (Unintended Consequences) ที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างน่าเป็นห่วง และเมื่อเกิดขึ้นก็จะเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะต้องแก้ไขผลกระทบเหล่านี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบเศรษฐกิจ และเสถียรภาพเศรษฐกิจ  ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่ผมพูดถึงนี้คงจะเกิดแน่ๆ ในสามเรื่อง

หนึ่ง เศรษฐกิจโลกคงเข้าสู่การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่อง อย่างน้อยสองสามปีข้างหน้า หรืออาจมากกว่า ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเศรษฐกิจหลักของโลกขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐ หรือญี่ปุ่น มีปัญหาเรื่องการขยายตัวเหมือนกันหมด กลุ่มเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งจีน อินเดีย บราซิล และรัสเซีย ก็ชะลอตัว และประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย และลาตินอเมริกา เศรษฐกิจก็ชะลอเช่นกัน ดังนั้น เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังอยู่ในวัฎจักรขาลง ที่สำคัญพื้นที่นโยบายด้านการเงินการคลังที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก็จำกัด เพราะในหลายประเทศขณะนี้ระดับหนี้สาธารณะก็สูง และอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำมาก ดังนั้นเมื่อนโยบายไม่สามารถทำได้มาก เศรษฐกิจโลกก็คงจะซบเซาต่อเนื่องเป็นเวลานาน

สอง สาเหตุหลักที่มาตราการแก้ไขปัญหาไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ก็เพราะ สถาบันการเงินในประเทศที่มีปัญหาหนี้ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ จากปัญหาที่ยังมีอยู่ในระบบสถาบันการเงิน นั้นก็คือ ปัญหาหนี้เสีย และความเพียงพอของเงินกองทุน ปัญหานี้พร้อมกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะชะลอ ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ใหม่ ซึ่งกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ใหม่ หรือ Basel 3 ที่จะเริ่มนำมาใช้ทั่วโลกต้นปีหน้า ที่ค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องเงินกองทุน สภาพคล่อง และการกู้ยืมเพื่อทำธุรกิจ  ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะยิ่งระมัดระวังในการทำธุรกิจเพื่อประหยัดเงินกองทุน

ดังนั้นสิ่งที่เราจะเห็นจากนี้ไปก็คือ ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป และสหรัฐจะลดบทบาทลง กิจกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง จะย้ายออกจากตลาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มาสู่ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมถึงธนาคารพาณิชย์นอกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมแทน

สาม  ผลกระทบที่ไม่ตั้งใจ ที่พูดถึงมาจากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงสองปี ผ่านมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ และการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหภาพยุโรป ระบบการเงินโลกขณะนี้มีการเติบโตของปริมาณเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในทางเศรษฐศาสตร์ ถ้าเรามองเศรษฐกิจโลกเป็นประเทศเดียว การอัดฉีดสภาพคล่องมากขนาดนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจจริงขยายตัวต่ำ (นึกถึง MV=PT) เงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจจะรุนแรงขึ้นแน่นอน ดังนั้น มีโอกาสสูง ที่มาตรการการแก้ไขปัญหา ที่ทางการประเทศอุตสาหกรรมได้ทำไป จะทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงตามมา

ดังนั้น โจทย์สำคัญของปัญหาหนี้ยุโรปไม่ได้มีเฉพาะผลระยะสั้นที่จะมีต่อการส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างที่เราห่วงกัน แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือผลระยะยาวที่จะมาจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพราคานั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของธนาคารกลาง ดังนั้นผลกระทบที่ไม่ตั้งใจเหล่านี้จะเป็นบริบทใหม่ที่จะท้าทายการทำงานของธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย

ความท้าทายนี้จะมีสองเรื่อง เรื่องแรก ซึ่งกำลังเกิดขึ้นก็คือ การป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ ที่จะมาจากการก่อหนี้ที่ขับเคลื่อนโดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทั่วโลก และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ เศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตก็คือ เศรษฐกิจที่ก่อหนี้จนเกินพอดีโดยภาครัฐ บริษัทธุรกิจ สถาบันการเงินหรือภาคครัวเรือน ในกรณีของไทย จุดเปราะบางที่ต้องจับตามากที่อาจสร้างหนี้จนเกิดปัญหาฟองสบู่ก็คือ การบริโภคภาคเอกชน (หนี้ครัวเรือน) การลงทุนของภาครัฐ (หนี้สาธารณะ) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (หนี้ภาคเอกชน) ธุรกิจหลักทรัพย์ (การเก็งกำไร) และการกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการในต่างประเทศ (หนี้สถาบันการเงินและหนี้บริษัทเอกชน) ซึ่งถ้าทางการไม่ดูแลหรือจริงจังกับการก่อหนี้เหล่านี้ โอกาสที่เศรษฐกิจจะเกิดวิกฤตรอบใหม่ก็มีสูง

ความท้าทายที่สอง เป็นความท้าทายระยะยาว ก็คือ ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งคงเกิดขึ้นหลังปัญหาเงินฝืดที่จะเกิดก่อนจากที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจโลกที่ชะลอจะทำให้ความต้องการใช้จ่ายลดลง กดดันให้ราคาสินค้าลดลง จนเป็นภาวะเงินฝืด คือระดับราคาสินค้าและบริการในภาคเศรษฐกิจจริงปรับลดลง แต่ความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือหารายได้ ทำให้สภาพคล่องที่มีอยู่มากจะถูกนำมาใช้เพื่อเก็งกำไรในสินทรัพย์ และสินค้าวัตถุดิบแทน ผลักดันให้ราคาทรัพย์สินต่างๆ ปรับสูงขึ้น และรายได้ที่ได้จากการเก็งกำไรก็จะถูกนำมาใช้ซื้อสินค้าและบริการ ในภาวะที่การผลิตชะลอหรือยังไม่ขยายตัว ทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับสูงขึ้น และจะปรับสูงขึ้นรุนแรง ถ้าการเก็งกำไรมีมาก และสภาพคล่องมีมาก ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีปริมาณเงินหรือสภาพคล่องมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่รออยู่

มองไปข้างหน้า ความท้าทายต่อการทำหน้าที่ของธนาคารกลางจึงมีมาก ในประเทศอุตสาหกรรมธนาคารกลางต้องรักษาความเชื่อมั่นของตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่นำไปสู่การเกิดวิกฤต ขณะที่ในประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย ธนาคารกลางต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจเกิดวิกฤต แต่ที่ทำให้น่าห่วงมากขึ้นก็คือ ขณะที่เงินทุนไหลเข้าจะเป็นปัญหาระดับโลก (Global Phenomenon) ที่จะมีขนาดใหญ่และรุนแรงกว่าในอดีต แต่เครื่องมือที่ธนาคารกลางมีที่จะใช้ดูแลเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินในเชิงระบบ (Macro prudential Measure) ยังเป็นเครื่องมือชุดเดิมที่อาจมีความพร้อมและประสิทธิภาพน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาในลักษณะที่ได้พูดถึง

ดังนั้นการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง โดยเฉพาะนโยบายการเงินในระยะต่อไปคงต้องเปลี่ยนมากพอสมควร เพื่อให้ทันกับความท้าทายที่รออยู่ ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ ความไม่ประมาท การตระหนักถึงปัญหา และการยอมรับการเปลี่ยนแปลง


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธนาคารกลาง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งต่อไป

view