สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มือหนึ่งของอังกฤษ มองโลกการเงิน

มือหนึ่งของอังกฤษ มองโลกการเงิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ระบบการควบคุมการบริหารความเสี่ยงที่ซับซ้อนขึ้น อาจจะไม่สามารถนำพาสถาบันการเงินให้ห่างไกลจากวิกฤติได้จริงเสมอไป
หากว่าจะนับ ดร.เบน เบอร์นันเก้ และ ดร. พอล ครุกแมน ว่าเป็นที่สุดของผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงิน ผู้เขียนคิดว่า นาทีนี้เดี่ยวมือหนึ่งผู้เจนจัดด้านนโยบายสถาบันการเงิน ต้องยกให้ ดร.แอนดรูว์ ฮาร์เดน หนึ่งในกำลังสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการวางระบบการเงินของอังกฤษในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

จุดเด่นของนายฮาร์เดน หากใครได้ฟังการนำเสนอผลงานของเขาแล้ว ต้องบอกว่าเหมือนชมภาพยนตร์สืบสวนที่สนุกเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้ เขาสามารถทำเรื่องทางวิชาการที่ดูเหมือนน่าเบื่อหน่าย ให้มีพล็อตเรื่องที่น่าสนใจชวนติดตาม ที่สำคัญในแง่ความลึกซึ้งของเนื้อหาและความกล้าคิด ออกนอกกรอบ น่าจะถือว่าอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในเกาะอังกฤษเลยก็ว่าได้

งานสัมมนาของสุดยอดนักการเงินและการธนาคารที่เมืองแจ็คสันโฮวล์ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว นายฮาร์เดน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อสังเกตและทิศทางสำหรับระบบสถาบันการเงินของโลก ในปัจจุบัน ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ปี 1980 อังกฤษมีจำนวนพนักงานขององค์กรกำกับสถาบันการเงิน 1 คนต่อพนักงานที่อยู่ใน อุตสาหกรรมการเงิน 11,000 คน มาถึงปี 2011 อัตราส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 300  แนวโน้มดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสหรัฐ ที่ปี 1935 สัดส่วนของจำนวนพนักงาน องค์กรกำกับสถาบันการเงินต่อจำนวนสถาบันการเงินอยู่ที่ 1 ต่อ 3 มาถึงปัจจุบันกลับกลายเป็น 3 ต่อ 1 คำถามคือ ยิ่งมีระบบการควบคุมการบริหารความเสี่ยงที่ซับซ้อนขึ้น จะยิ่งทำให้สามารถนำพา สถาบันการเงินให้รอดจากวิกฤติได้จริงไหม ในประเด็นนี้นายฮาร์เดนได้ยกตัวอย่างไว้ 2 ประการ เพื่อมิให้รีบด่วนสรุปเกินไป ดังนี้

ตัวอย่างแรก การประเมินความเสี่ยงความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน ตั้งแต่ปี 1986 ได้มีการนำแนวทางการแปลงมูลค่าสินทรัพย์ในทางบัญชีของธนาคาร ให้เป็นมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง ด้วยการนำน้ำหนักความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภท มาคูณกับปริมาณของสินทรัพย์นั้นๆ แล้วนำสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดมารวมกันเป็นมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง

ทั้งนี้ เชื่อกันว่าอัตราส่วนของเงินกองทุนธนาคารต่อมูลค่าสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Ratio) จะสามารถสะท้อนระดับความเสี่ยงที่แท้จริงได้ดีกว่าอัตราส่วนระหว่างเงินกองทุนต่อมูลค่าสินทรัพย์ ทางบัญชีแบบที่มิได้ปรับน้ำหนักความเสี่ยง (Leverage Ratio) เนื่องจากตัวน้ำหนักความเสี่ยง ที่เหมาะสมจะสามารถสะท้อนระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ได้ดีกว่าการไม่ใช้

อย่างไรก็ดี จากรูปที่ 1 กลับพบว่าการใช้ดัชนีเงินกองทุนต่อมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี สามารถบ่งบอกว่าแบงก์ไหนจะล้มละลาย (จำนวน 37 แห่ง) ได้ดีกว่าอัตราส่วนของเงินกองทุน ธนาคารต่อมูลค่า สินทรัพย์เสี่ยง ทั้งในแง่ของจำนวนแบงก์ที่คาดการณ์ได้ถูกและโอกาสที่ จะคาดการณ์ได้ถูกต้อง

อีกตัวอย่างหนึ่งที่นายฮาร์เดนใช้ในการตอบคำถามดังกล่าว ในการประเมินความเสี่ยงลูกค้า ของสถาบันการเงินนั้น หลายแห่งจะใช้หลักการ CAMEL (Capital, Asset Quality, Management, Earnings และ Liquidity) ซึ่งเชื่อกันว่าจะสามารถคัดกรองลูกค้าที่ดีออกจากลูกค้าที่ไม่ดี ทว่า จากรูปที่ 2 กลับพบว่าไม่ว่าจะใช้จำนวนธนาคารเท่าใดในการทดสอบแบงก์ 1,000 แห่งในสหรัฐ การใช้คะแนนของลูกค้าจาก CAMEL จะมีความผิดพลาดในการกรองลูกค้ามากกว่าการใช้ ดัชนีสภาพคล่องเพียงตัวเดียว นอกจากนี้ หากมีจำนวนธนาคารไม่มากพอในการทดสอบ การไม่ใช้หลักการ CAMEL ให้ผลที่คัดกรองลูกค้าดีกว่าการใช้เสียอีก

ทั้งสองตัวอย่างจึงนำมาซึ่งคำตอบที่ว่า ระบบการควบคุมการบริหารความเสี่ยงที่ซับซ้อนขึ้น อาจจะไม่สามารถนำพาสถาบันการเงินให้ห่างไกลจากวิกฤติได้จริงเสมอไป อันนำมาซึ่งข้อแนะนำของนายฮาร์เดน ดังต่อไปนี้

การกำกับสถาบันการเงินในโลกโดยทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ประกอบ ได้แก่ หนึ่ง กฎระเบียบ (Regulatory Rules) สอง การตรวจสอบตามดุลยพินิจ (Supervisory Discretion) และสาม การใช้กลไกตลาด (Market Discipline) นายฮาร์เดนเห็นว่าในอนาคตโลกการเงินควรจะลดน้ำหนัก ขององค์ประกอบแรก เนื่องจากนับวันจะมีความซับซ้อนมากขึ้น จนวันหนึ่งคอลัมน์ในโปรแกรม Excel อาจไม่พอให้กฎระเบียบดังกล่าวใส่ลงไป และจากสองตัวอย่างข้างต้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ความซับซ้อนก็มิได้สามารถช่วยแยกแบงก์ที่จะล้มออกจากแบงก์ที่ดีได้เสมอไป แต่เห็นควรเพิ่มความสำคัญขององค์ประกอบที่สองและสาม  

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ วัฏจักรของวิกฤติใหญ่ๆ ทางเศรษฐกิจมักจะมาให้เห็นทุกๆ 20-30 ปี ดังนั้น ผู้ที่จะสามารถได้กลิ่นของวิกฤติที่กำลังจะมาถึง มิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้ทำหน้าที่กำกับสถาบันการเงินว่าต้องมีจำนวนมากๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์อันยาวนานที่เคยสัมผัส วิกฤติการเงินจากประสบการณ์จริง ซึ่งนายฮาร์เดนเปรียบเทียบ ประสิทธิภาพของการกำกับโลกการเงินไว้อย่างน่าสนใจว่า อาจจะไม่ต้องการตาและหูที่ไว ต่อการเปลี่ยนแปลงเท่ากับจมูกที่ไวต่อวิกฤติที่กำลังจะมาถึง

ผู้เขียนเห็นว่า ชื่อของการสัมมนาที่แจ็คสันโฮวล์ในปีนี้ "The Changing Policy Landscape" อาจจะมีอิทธิพลต่อความเห็นนายฮาร์เดนในทำนอง Less is More หรือ Back to Basic ที่กล่าวไว้ในงานนี้  ทั้งๆ ที่ผู้เขียนมักจะเห็นนายฮาร์เดนสื่อว่า The ‘Blending of More and Less’ is More มาโดยตลอด  นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ แต่ไม่มีคำตอบจากนายฮาร์เดนคือ เส้นแบ่งหรือหลักเกณฑ์ใด ถึงจะเป็นจุดที่กำลังเหมาะในการขีดว่า การกำกับโลกการเงินกำลังอยู่ในโซนที่ไม่เรียบง่ายหรือซับซ้อนจนเกินงาม


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มือหนึ่งของอังกฤษ มองโลกการเงิน

view