สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สว.ชิงเกมเปิดซักฟอก ต่อลมหายใจรัฐบาล

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การเมืองในสภากำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวต่อสำคัญ เมื่อเดินทางมาถึงปลายสมัยประชุมสามัญทั่วไป ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 พ.ย. และเป็นประจำที่จะมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายนิติบัญญัติในการยื่นญัตติเพื่อขอ อภิปรายตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

อย่างฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางราย คาดว่าจะสามารถระเบิดศึกครั้งนี้ได้ประมาณกลางเดือน พ.ย.

เช่นเดียวกับฟากวุฒิสมาชิกที่ได้ยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาลไปแล้วตามมาตรา 161 บทบัญญัติมาตรานี้สงวนไว้ให้สิทธิกับ สว.เพื่อตรวจสอบรัฐบาลด้วยการเปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงและแถลงข้อเท็จจริง ถึงการบริหารราชการแผ่นดินต่อวุฒิสภาโดยไม่ต้องลงมติ

ทว่า การยื่นญัตติของ สว.ครั้งนี้กลับมีกลิ่น “ลับลวงพราง” เล็กน้อย เนื่องจากมีการยื่นซ้อนกันถึง 2 ญัตติ คือ 1.ญัตติสาย สว.สรรหา นำโดยกลุ่ม 40 สว. และ 2.ญัตติสาย สว.เลือกตั้ง

ความแตกต่างของทั้งสองญัตติอยู่ที่เหตุผลในการขอยื่นอภิปราย

ญัตติฝ่ายสรรหายื่นอภิปราย “นโยบายการรับจำนำข้าว” เพียงประเด็นเดียว มีสาระสำคัญ คือ “โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลหากช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรรายย่อยก็จะได้รับการ สนับสนุนจากทุกฝ่าย แต่ที่สังคมไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะกลับกลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจผู้ปลูกข้าว ผู้รวบรวมข้าว นายทุน เจ้าของโรงสี ผู้ส่งออกข้าวที่ใกล้ชิดรัฐบาล ทำให้มีโอกาสทุจริตคอร์รัปชันวงเงินความเสียหายแสนล้านบาท

...จึงเกิดการทักท้วง เพราะเท่ากับนำเงินภาษีจากพนักงานบริษัท พนักงานข้าราชการ และประชาชนมาอุดหนุนนายทุน นักธุรกิจที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าว ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวเพื่อให้เกิดประโยชน์ แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยอย่างแท้จริงทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดินซึ่งเป็น ภาษีของประชาชน”

ขณะที่ฝ่ายเลือกตั้งเขียนญัตติไม่ได้เจาะจงกรณีหนึ่งกรณีใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นลักษณะครอบคลุมนโยบายในภาพรวม 4 ประเด็น คือ 1.ปัญหา การแก้ไขราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ 2.ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 4.ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนอื่นๆ

“ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาอย่างเต็มที่ หลายนโยบายยังไม่มีการดำเนินการ บางนโยบายแม้จะได้มีการดำเนินการไปแล้ว แต่ก็สร้างปัญหาและเกิดอุปสรรคอย่างมากมาย”

เดิมทีก่อนการเสนอญัตติ ทั้งสองฝ่ายได้มีความพยายามจะประสานงานเพื่อร่วมกันเสนอเป็นญัตติเดียวในนาม วุฒิสภา ซึ่งจะทำให้มีพลังมากกว่า แถมยังบังคับรัฐบาลทางอ้อมให้มาตอบญัตตินี้ด้วย

ปรากฏว่ามีปัญหาที่ไม่สามารถตกลงกันในประเด็นเพื่อขอยื่นอภิปรายได้

ซีก “สรรหา” มองว่าควรใช้เรื่องนโยบายจำนำข้าวเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายเพียงประเด็น เดียว เพราะสังคมกำลังให้ความสนใจและต้องการคำชี้แจงจากรัฐบาล

การไปอภิปรายในภาพใหญ่ทุกนโยบายจะกลายเป็นว่าไม่ได้โฟกัสปัญหาสำคัญ ส่งผลให้เรื่องที่น่าจะได้รับความสำคัญที่สุดอย่างการจำนำข้าวถูกลดน้ำหนัก ลงไป และรัฐบาลก็จะเลือกตอบในบางประเด็นที่อยากตอบ

ส่วนฝ่าย “เลือกตั้ง” แย้งว่า ปัญหาของรัฐบาลไม่ได้มีเฉพาะการจำนำข้าว แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาคใต้ การสร้างความปรองดอง การสร้างระบบจัดการอุทกภัย ฯลฯ

ถ้าวุฒิสภาเปิดอภิปรายเฉพาะจำนำข้าวเพียงเรื่องเดียว จะดูเหมือนวุฒิสภากำลังเล่นการเมืองด้วย หลังจากฝ่ายค้านพยายามใช้ประเด็นนี้มาโจมตีรัฐบาลในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังจะพิจารณาว่าจะรับนโยบายจำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ที่สำคัญ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 161 มีวัตถุประสงค์ต้องการให้วุฒิสภาอภิปรายให้กว้างที่สุด ไม่ได้ต้องการให้อภิปรายเป็นกรณีเฉพาะบางประเด็นเหมือนกับที่ฝ่ายสรรหากำลัง พยายามดำเนินการ

เมื่อไม่สามารถหาจุดที่มีความเห็นร่วมกันได้ ต่างฝ่ายจึงต่างยื่นญัตติแบบทางใครทางมัน

แต่ถึงที่สุดแล้วฝ่ายสรรหาก็เลือกยอมถอยเพื่อให้เปิดการอภิปรายตามญัตติ ของฝ่ายเลือกตั้ง อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เหลือเพียงแค่รัฐบาลจะยอมให้ความร่วมมือหรือไม่เท่านั้น

อ่านใจรัฐบาลในเวลานี้ก็พร้อมเผชิญหน้ากับวุฒิสภา แม้ว่าบรรยากาศการเมืองขณะนี้จะมีแรงกดดันมายังรัฐบาลพอสมควรจากนโยบายจำนำ ข้าว ภายหลังไทยเริ่มเสียแชมป์การส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก และการปล่อยให้กัมพูชาได้รับรางวัลข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกไปครองก็ตาม

ไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลจะปฏิเสธเวทีนี้

เป็นเพราะประโยชน์ที่รัฐบาลจะได้ คือ ช่วยทำให้เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือน พ.ย. หลังจากการอภิปรายของวุฒิสภาให้มีน้ำหนักน้อยลงไปไม่มากก็น้อย

โดยหากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้นนั้น ฝ่ายค้านใช้การจำนำข้าวเป็นประเด็นนำ อาจถูกมองจากภายนอกได้ว่าฉายหนังซ้ำ ไม่สมราคาการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ทุกฝ่ายรอคอยว่าจะมีทีเด็ดอะไรล้มรัฐบาล ได้

เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายค้านจะมีหมัดเด็ดจริงๆ แต่ถ้าถึงเวลานั้นไม่มีอะไรใหม่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาของเก่ามาเล่าใหม่

ไม่เพียงเท่านี้ ยังจะสามารถใช้ประโยชน์ผ่านการชี้แจงและประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลในส่วน อื่นๆ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาความด้อยประสิทธิภาพท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในระยะ นี้ด้วย

เท่ากับรอบนี้รัฐบาลมีแต่ได้กับได้ แถมช่วยให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีความมั่นคงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าจะแพ้ภัยตัวเองเหมือนในอดีต


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สว. ชิงเกม เปิดซักฟอก ต่อลมหายใจ รัฐบาล

view