สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วัดพระนอนจักรสีห์ ศรีสง่าคู่เมืองสิงห์

วัดพระนอนจักรสีห์ ศรีสง่าคู่เมืองสิงห์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร" วัดโบราณเก่าแก่ที่มีตำนานความเป็นมาคู่เมืองสิงห์บุรี
ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี มีร่องรอยหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่หลักฐานมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหิน ชิ้นส่วนกำไลสำริด เป็นต้น โดยมีการค้นพบที่บ้านชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี บ้านบางวัว ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน บ้านคู ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน และมีการตั้งบ้านเมืองต่อมาในสมัยทวาราวดี สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

"วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร" จังหวัดสิงห์บุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย อยู่ที่บ้านพระนอน ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดราว 4 กิโลเมตรตามเส้นทางถนนสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี



พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา สันนิษฐานถึงที่มาของนามวัดพระนอนจักรสีห์ไว้ในหนังสือ "ระยะทางเสด็จพระพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ มณฑลกรุงเก่าและมณฑลนครสวรรค์" (พ.ศ.2459) ว่า "...ใต้วัดพระนอนลงไปราว 30 เส้น มีวัดอีกวัดหนึ่งชื่อวัดจักรสีห์ ข้อนี้เองจึงเป็นเหตุให้เอาชื่อวัดทั้ง 2 ไปควบรวมเรียกวัดพระนอนว่า วัดพระนอนจักรสีห์..."

วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หรือที่เรียกกันว่า "พระนอนจักรสีห์" เป็นพระพุทธไสยาสน์ปางโปรดอสุรินทราหูปูนปั้นลงรักปิดทอง มีขนาดใหญ่และมีความยาวที่สุดในประเทศ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสิงห์บุรีมาช้านาน องค์พระนอนจักรสีห์มีความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว (ประมาณ 47.40 เมตร) มีพระพุทธลักษณะแบบสุโขทัยแต่เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา องค์พระหันพระเศียรไปทางตะวันออก หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ พระกรขวาศอกยื่นไปด้านหน้าไม่ทำงอพระกรตั้งขึ้นรับพระเศียรเหมือนพระพุทธรูปนอนโดยทั่วไป ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารขนาดใหญ่



  คติการสร้างพระนอนเล่ากันว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เชตะวันมหาวิหารในพระนครสาวัตถี "อสุรินทราหู" ได้สดับพระเกียรติคุณ ของพระพุทธองค์จากเทวดาทั้งหลาย จึงมีความปรารถนาจะไปเฝ้า แต่คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ถ้าเข้าไปเฝ้าก็คงต้องก้มลงมองซึ่งจะทำให้คนเองลำบากทั้งไม่เคยคิดจะก้มหัวให้ใครอีกด้วยจึงไม่ยอมเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แต่เมื่อเห็นเหล่าเทวดาจำนวนมากไปเฝ้าพระพุทธองค์จึงไม่อาจทนอยู่ได้ ในราตรีวันหนึ่งจึงตัดสินใจเข้าเฝ้าพระพุทธองค์

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าอสุรินทรหูจะมาเฝ้าจึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดบรรจถรณ์แล้วก็สำเร็จสีหไสยาสน์รออสุรินทราหูบนพระแท่นที่ประทับ ทรงทำปาฎิหาริย์เนรมิตพระวรกายให้ใหญ่กว่าพระอสุรินทราหูหลายเท่าซึ่งปรากฏเห็นได้เฉพาะอสุรินทราหูเท่านั้น เมื่ออสุรินทราหูเข้าไปเฝ้าก็อัศจรรย์ใจ แทนที่ตนจะต้องก้มหน้ามองดูพระพุทธองค์ แต่กลายเป็นว่าต้องแหงนหน้ามองดูพระพุทธลักษณะจนเป็นที่พอใจ

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้พาเอาอสุริทราหูไปปรากฏยังพรหมโลกซึ่งก็มีพระพรหมจำนวนมากพากันมาเข้าเฝ้าและล้วนแต่มีอัตตภาพใหญ่โตกว่าพระพุทธองค์ทั้งสิ้น ส่วนอสุริทราหูนั้นต้องคอยหลบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) ของพระพุทธองค์ตลอดเวลาเพราะความหวาดกลัว ในที่สุดอสุริทราหูก็กลับมีใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาจึงได้มีการสร้างพระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหูหรือปางไสยาสน์ขึ้น  



ประวัติการสร้างวัดพระนอนจักรสีห์ ไม่มีบันทึกเป็นเอกสาร มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่ามีการสร้างวัดขึ้นเพื่อชำระบาปที่ได้ทำ "ปิตุฆาต" หรือการฆ่าพ่อ ตำนานแรกเล่าว่า "สิงหพาหุ" เป็นผู้สร้างวัดนี้ โดยเล่ากันว่าณ หมู่บ้านหนึ่ง มีเศรษฐีคนหนึ่งมีลูกสาวสวยเป็นที่เลื่องลือ และยังเป็นช่างทอผ้าฝีมือดีมีกระสวยทอผ้าทองคำคู่มือที่ลูกสาวเศรษฐีหวงแหนมาก อยู่มากระสวยทองคำเกิดหายไปหาไม่พบ ลูกสาวเศรษฐีออกปากว่าถ้าใครหากระสวยทองคำมาคืนให้ได้จะยอมแต่งงานด้วย ต่อมามีสิงห์ตัวหนึ่งนำกระสวยทองคำมาให้ลูกสาวเศรษฐีจึงต้องไปอยู่กับสิงห์อย่างจำใจ สิงห์พาลูกสาวเศรษฐีกลับมาอยู่ที่ถ้ำของตนที่เมืองสิงห์

กาลเวลาผ่านไป ลูกสาวเศรษฐีมีลูกกับสิงห์คนหนึ่งเป็นเพศชาย ชื่อ "สิงหพาหุ" สิงหพาหุอับอายที่มีพ่อเป็นสัตว์จึงได้ฆ่าพ่อตายในที่สุด ต่อมาสิงหพาหุได้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองสิงห์ รู้สึกถึงความผิดที่ได้กระทำมา จึงได้สร้างพระนอนจักรสีห์ด้วยแกนทองคำเพื่อเป็นการไถ่บาป พระนอนจักรสีห์เป็นที่กราบไหว้บูชามาหลายชั่วอายุคนจนองค์พระได้พังทลายลงเป็นเนินดิน ในกาลต่อมานั้นท้าวอู่ทองได้นำพ่อค้าเกวียนผ่านมาพบก็เกิดความเลื่อมใสและเห็นประโยชน์พระศาสนา จึงชักชวนพ่อค้าเกวียนสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นอีกครั้งโดยใช้แท่งทองคำที่พบนั้นเป็นแกนองค์พระดังเดิม



  อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า "พระยาจักรสีห์" เป็นผู้สร้างวัด เนื้อเรื่องเป็นทำนองเดียวกับเรื่องสิงหพาหุ ต่างกันตรงที่พระยาจักรสีห์มีบิดาเป็นสุนัข มารดาเป็นราชธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ต่อมาถูกขับออกจากวังเนื่องจากได้สุนัขเป็นสวามีและทรงครรภ์ขึ้น เมื่อพระยาจักรสีห์เจริญวัยขึ้นพระมหากษัตริย์ทรงรับเข้าไปอยู่ในพระราชวังและได้ครองราชสมบัติในเวลาต่อมา วันหนึ่งพระยาจักรสีห์ถามพระมารดาว่าใครเป็นพระบิดา พระมารดาตอบว่า "ผู้ที่ติดตามไปมาอยู่ด้วยเสมอ" พระยาจักรสีห์เห็นสุนัขติดตามอยู่เสมอเกิดความขุ่นเคืองจึงได้ฆ่าสุนัขตาย ต่อมาได้สร้างวัดและพระนอนเพื่อชำระบาปเช่นเดียวกับตำนานแรก

เรื่องเกี่ยวกับวัดพระนอนจักรสีห์ปรากฎในเอกสารเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ ณ วัดพระนอนจักรสีห์ เมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช 1111 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2297 ทรงโปรดให้สร้างพระวิหาร พร้อมทั้งพระอุโบสถและเสนาสนะต่างๆ ขึ้นใหม่และทรงเสด็จในการสมโภชโดยทรงประทับแรม ณ วัดพระนอนจักรสีห์แห่งนี้ถึง 3 คืน ในพ.ศ.2299

ในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินยังวัดนี้เมื่อปีพ.ศ.2421 ดังมีบันทึกในพระราชนิพนธ์เรื่อง "ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา" ว่า "วัดนี้อยู่ ห่างแม่น้ำสามสิบวา เป็นที่ลุ่มน้ำท่วม ต้องทุบถนนและมีสะพานข้าม รอบวิหารพระนอนมีกำแพงแก้วเตี้ยๆ ชั้นหนึ่ง ตัวพระวิหาร ยาว 1 เส้น 7 วา กว้าง 11 วา เสาข้างในเป็นแปดเหลี่ยม อาการที่พระพุทธไสยาสน์บรรทม ไม่เหมือนอย่างกรุงเก่าหรือกรุงเทพฯ พระกรทอดออกไปมากเพราะเขนยหนุนไม่สู้ชันนัก เป็นบรรทมราบ แต่พระบาทซ้อนกันตรงเหมือน อย่างพระนอนทั้งปวง" ในครั้งนั้น พระวิหารและพระนอนชำรุดทรุดโทรมมากเนื่องจากขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์มานาน ได้พระราชทานเงินค่านาสำหรับวัดเพื่อทำการปฏิสังขรณ์จนสำเร็จในปีพ.ศ.2428

เมื่อพิจารณาลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างภายในวัดพระนอนจักรสีห์ทั้งพระวิหารและพระอุโบสถ จะเห็นได้ว่าทั้งพระวิหารและพระอุโบสถได้ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งหลายหนจนยากจะกำหนดยุคสมัยได้ชัดเจน อาทิ เสาภายในพระวิหารเดิมเป็นเสาแปดเหลี่ยม ปัจจุบันเป็นเสาสี่เหลี่ยมจตุรัส

จึงสรุปได้เพียงว่า วัดพระนอนจักรสีห์เป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่ง และต้องสร้างก่อนสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วัดพระนอนจักรสีห์ ศรีสง่า คู่เมืองสิงห์

view