สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

งัดคิวอี3สู้หยวน มะกันก่อชนวนสงครามค่าเงินโลก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ถือเป็นวาทะโต้ตอบค่อนข้างดุเดือดพอสมควรระหว่าง คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในประเด็นแนวคิดเรื่องนโยบายผ่อนปรนทางการเงิน (คิวอี) ที่สหรัฐ และบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายนำออกมาใช้อยู่ในขณะนี้

เพราะสำหรับฟากไอเอ็มเอฟ สารพัดมาตรการคิวอีระลอกใหม่ รวมถึงคิวอีรอบที่ 3 จากสหรัฐ ที่บรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกขนานนามว่าเป็น“คิวอี อินฟีนิตี” เนื่องจากเป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่จำกัดระยะเวลาที่แน่นอน กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างมาก

ไล่เรียงตั้งแต่ การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติมหาศาล ค่าเงินของประเทศแข็งค่าขึ้นกระทบส่งออก และมีแนวโน้มจะก่อปัญหาฟองสบู่สินทรัพย์ให้ร้อนแรงเกินไป

ทว่า สำหรับฟากเฟด โดยประธานเบอร์แนนคีกลับโดดออกมาปกป้องมาตรการคิวอีเต็มที่ ด้วยเหตุผลที่ว่านโยบายผ่อนปรนที่ทำให้มีปริมาณเงินนับล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่เพียงจะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมอีกด้วย

เพราะนโยบายที่มุ่งลดปัญหาการว่างงานและสร้างเสถียรภาพด้านราคา จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการเติบโตของสหรัฐซึ่งท้ายที่สุดจะมีผลสนับสนุน เศรษฐกิจโลกไปในที่สุด

แม้ผลลัพธ์จากมาตรการผ่อนปรนนโยบายจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในปัจจุบัน แต่การใช้มาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องได้ส่งสัญญาณอันตรายแน่ชัดให้นัก วิเคราะห์นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หวั่นใจเรียบร้อยแล้ว

และสัญญาณไม่สู้ดีที่ว่า คือแนวโน้มการปะทุขึ้นมาอีกรอบของสงครามค่าเงิน โดยนักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเมลลอนในสังกัดแบงก์ออฟนิวยอร์ก ได้ออกโรงเตือนเพียงไม่นานหลังจากที่เฟดประกาศใช้คิวอี 3 ว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดสงครามค่าเงินอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน จะหวนกลับมาใช้นโยบายควบคุมเงินทุนขนานใหญ่กันอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อเอ่ยถึงสงครามค่าเงิน คำจำกัดความสั้น ง่าย และได้ใจความ คือ การที่บรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลกแข่งขันกันลดค่าเงินเพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออกและลดการนำเข้า ซึ่งผลกระทบไม่เพียงแต่จะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ อ่อนลงอย่างฮวบฮาบจนสร้างความได้เปรียบในภาคการส่งออกเท่านั้น แต่ยังบีบให้หลายประเทศจำต้องใช้นโยบายกีดกัน สกัดการขาดดุลและชดเชยความเสียเปรียบที่ประเทศตนเองได้รับ

กุยโด มันเตกา รัฐมนตรีคลังบราซิล หนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือที่เรียกกันว่า บริกส์ กล่าวเตือนในระหว่างการประชุมไอเอ็มเอฟที่กรุงโตเกียวเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ ผ่านมา ว่า เมื่อตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายไม่สามารถทนทานต่อกระแสทุนขนาดใหญ่ที่มีความ เสี่ยงและการแข็งค่าของค่าเงินที่มีผลมาจากนโยบายทุ่มเงินของบรรดาประเทศ พัฒนาแล้วอีกต่อไป เมื่อนั้นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากงัดเอาทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องตัวเองจากปัญหาทุนจากสหรัฐมาใช้

สำหรับศูนย์กลางของสงครามค่าเงินในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่าคงหนีไม่พ้นการต่อสู้ห้ำหั่น ระหว่างสองชาติมหาอำนาจหลักของโลกระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์จากอีแกน-โจนส์ หนึ่งในบริษัทจัดอันดับในสหรัฐ ซึ่งเห็นว่าคิวอี 3 ในครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศแต่จะลดมูลค่าของสกุลเงินเหรียญสหรัฐ เสียมากกว่า ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ตลาดหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นแล้วยังช่วย ให้ภาคการส่งออกของสหรัฐขยายตัว และเป็นตัวดึงดูดภาคการผลิตให้หวนกลับคืนสู่ประเทศ

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐประสบกับภาวะขาดดุลมาโดยตลอด โดยเฉพาะกับจีน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับสกุล เงินหยวน ทำให้บรรดาอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ของสหรัฐแห่แหนไหลออกนอกประเทศไปอย่างต่อเนื่อง

แต่การที่สกุลเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหยวน ทำให้บรรดาผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของสหรัฐราว 48% จากการสำรวจของบอสตัน คอลซัลติง กรุ๊ป (บีซีจี) คิดที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับบ้านเกิด เพราะเริ่มมองเห็นแล้วว่าการผลิตในจีนกับการผลิตในสหรัฐมีต้นทุนส่วนต่างที่ ไม่แตกต่างกันมากนัก และเผลอๆ อาจจะมีมากกว่า เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนี้ รายงานจากบีซีจี ยังระบุชัดว่า ต้นทุนการผลิตในสหรัฐ ซึ่งรวมถึงค่าจ้าง มีแนวโน้มจะปรับลดลงเรื่อยๆ โดยภายในปี 2558 ต้นทุนการผลิตของสหรัฐจะถูกกว่าอังกฤษ 8% ถูกกว่าฝรั่งเศสและเยอรมนี 15% ถูกกว่าญี่ปุ่น 21% และถูกกว่าอิตาลี 22%

เรียกได้ว่า การมุ่งกดค่าเงินเหรียญสหรัฐให้อ่อนลงในครั้งนี้ หวังผลให้เป็นยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐให้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสร้างงานเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของสหรัฐที่ส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น โดยเพียงแค่หนึ่งสัปดาห์ที่สหรัฐประกาศใช้คิวอี 3 รอบใหม่ ค่าเงินหยวนพุ่งแข็งค่าทุบสถิติสูงสุดในรอบปีนี้เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. โดยอยู่ที่ 6.2849 หยวนต่อเหรียญสหรัฐ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่อาจอดรนทนได้อีกเช่นกัน

ทั้งนี้ ในมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ตามติดเศรษฐกิจของมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง ต่างเห็นตรงกันว่า หากเป็นช่วง2-3 ปีก่อนหน้านี้ เงินหยวนที่แข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐย่อมเป็นสิ่งที่จีน ยอมรับได้อย่างไม่มีปัญหา เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศที่ถีบตัวสูงลิ่วทุบสถิติ

ทว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจของจีนที่ลดความร้อนแรงอย่างเห็นได้ชัด ยืนยันได้จากการที่เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์ของจีนในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 7.7% จากเดิม 8.1% เช่นเดียวกับไอเอ็มเอฟ ที่ลดคาดการณ์จีดีพีของจีนลงมาอยู่ที่ระดับ 7.8% จาก 8.2% โดยที่บรรดาตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนเอง ทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการส่งออก ต่างก็เผชิญภาวะซบเซาลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2–3 ในปี 2555 นี้ จนทำให้นักลงทุนต่างเกรงว่าอาจเกิดภาวะดิ่งแรง (ฮาร์ดแลนดิง) ส่งผลให้จีนไม่อาจอดทนกับค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นจนกระทบกับภาคการส่งออกหนึ่ง ในหัวใจหลักของภาคเศรษฐกิจของประเทศตนเองได้

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า มาตรการคิวอี 3 ของสหรัฐ คือยาพิษชั้นดีสำหรับเศรษฐกิจของจีนในขณะนี้

และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักนิด หากสถานการณ์นับต่อจากนี้ที่จีนจะหันมาดำเนินมาตรการแทรกแซงเงินหยวนบ้าง หลังจากที่ออกมายืนยันว่ารัฐบาลจีนดำเนินมาตรการปล่อยลอยตัวค่าเงินหยวนตาม อุปสงค์และอุปทานของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากข้อกล่าวหาของสหรัฐที่โจมตีว่าจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อน ค่ากับความเป็นจริงในตลาด จนทำให้รัฐบาลแดนมังกรได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอย่างมาก

โจวเสี่ยวฉาว ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า อัตราแลกเปลี่ยน อัตราแลกเปลี่ยนทันที และอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตของสกุลเงินหยวนในปัจจุบันถือได้ว่าเข้าใกล้จุด สมดุลแล้ว โดยนับตั้งแต่ปี 2548 เงินหยวนแข็งค่าขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐ พร้อมย้ำชัดว่าที่ผ่านมาจีนเดินหน้าปฏิรูปภาคการเงินและระบบตลาดแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งต่างเห็นพ้องตรงกันว่า เมื่อสหรัฐเลือกอัดยาแรงกดค่าเงินเหรียญสหรัฐให้ต่ำ อีกทั้งยังเดินหน้าคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำแบบไม่มีกำหนด จีนก็ย่อมมีทางเลือกเหลือไม่มากนัก นอกจากงัดมาตรการหลากหลายขึ้นมารักษาระดับค่าเงินหยวน

หนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ระบุชัดว่า ค่าเงินหยวนต่อเหรียญสหรัฐแทบไม่ขยับขึ้นในปีนี้ และผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งต่างคาดว่า ค่าเงินหยวนจีนจะทรงตัวที่ระดับเดิมต่อไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ก่อนจะแข็งค่าขึ้นไม่ถึง 1%

ทั้งนี้ ผลสำรวจข้างต้นสอดรับกับความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน เนื่องจากการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดที่หดตัวลงและการเติบโตอย่างอ่อนแรง ไม่เพียงกดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว แต่ยังทำให้การปล่อยเงินหยวนแข็งค่าไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้กำหนด นโยบายจีนอีกด้วย

นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าและค่าเงินหยวนซบเซา ยังส่งผลต่อค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียให้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องการให้ค่า เงินอ่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เรียกได้ว่า ศึกหนักของเศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ก็คือสงครามค่าเงิน ที่นานาประเทศจะแข่งขันงัดมาตรการเพื่อทำให้ค่าเงินอ่อนลง เหมือนที่รัฐมนตรีคลังบราซิลกล่าวเตือนไว้ว่า “สงครามค่าเงินรังแต่จะทำให้เศรษฐกิจโลกต้องพบกับความยากลำบากมากขึ้นเท่า นั้น”


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิวอี3 หยวน มะกัน ชนวนสงคราม ค่าเงินโลก

view