สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินหยวนแห่ไหลออก ลางร้ายจีนซบยาว

จาก โพสต์ทูเดย์

โลก...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นอีกหนึ่งสัญญาณร้ายต่อเนื่องเพิ่มเติมรับคำเตือนของจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักลงทุน เจ้าของฉายาพ่อมดทางการเงิน ซึ่งกล่าวในที่ประชุมสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐ ณ มหานครนิวยอร์ก ว่า เศรษฐกิจของจีนขณะนี้กำลังชะลอตัวลง เนื่องจากภาคครัวเรือนลดการใช้จ่าย เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่เพิ่มขึ้นช้าลง ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในภาวะซบเซา

สำหรับลางร้ายที่เสริมเข้ามาก็คือกระแสเงินหยวนไหลออกนอกประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในสังกัดหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ได้อาศัยข้อมูลการค้า ปริมาณการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และข้อมูลทางสถิติตัวอื่นๆ ประกอบกัน พบว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554-ก.ย. 2555 มีปริมาณเงินไหลออกจากจีนทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและชนิดที่จุดประสงค์ของ การเคลื่อนย้ายเงินยังคลุมเครือแล้วประมาณ 2.25 แสนล้านหยวน (ราว 1.13 ล้านล้านบาท) หรือเทียบเท่าได้กับ 3% ของปริมาณผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว

ตัวเลขข้างต้นกลายเป็นหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมในสิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์ เริ่มหวาดวิตกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของพญามังกรแห่งเอเชีย โดย ไมเคิล เพตทิส ศาสตราจารย์ด้านการเงินประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และอดีตนักลงทุนตลาดหลักทรัพย์ประจำละตินอเมริกา แสดงความเห็นว่า สภาวะที่มีแต่เงินไหลออกไม่ใช่สัญญาณที่ดีแม้แต่น้อย

“เมื่อบรรดานักธุรกิจในประเทศคิดว่า การเก็บเงินที่หามาได้ไว้นอกประเทศดีกว่า แม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในภาวะซบเซาหนัก ย่อมเป็นลางร้ายสำหรับเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อย่างเห็นได้ชัด” เพตทิส อธิบาย

สาเหตุเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นข้อจำกัดสำหรับรัฐบาลจีนในการ ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนชะลอความร้อนแรงอย่าง เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน กระทั่งเวิลด์แบงก์และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างพร้อมใจกันปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ลงมาอยู่ ที่ 7.7% และ 7.8% จากเดิมที่ 8.1% และ 8.2% ตามลำดับ

ต้องยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมาความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจจีนได้รับอานิสงส์มหาศาลจากปริมาณ เงินมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าประเทศอันเป็นผลพวงจากการส่งออกและการลงทุนต่าง ชาติ โดยรายได้ในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐเมื่อแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินหยวนผ่าน ธนาคารกลางของประเทศจีนแล้ว ส่งผลให้มีเงินหยวนแพร่กระจายอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

 

และการที่มีเงินหยวนปริมาณมากวนเวียนอยู่ในระบบ ได้ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ภายในประเทศมีสภาพคล่องพอจะเกื้อหนุนการขยายตัวเติบโตของบรรดาธุรกิจกิจการ ต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้นผ่านการปล่อยกู้

อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ข้างต้นจะกลับตาลปัตรทันทีที่เกิดกระแสเงินไหลออกนอกประเทศชนิด ห้ามไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เนื่องจากเงินที่หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศจะเหลือน้อยจนมีไม่เพียงพอที่จะ ให้ใช้เป็นทุนหนุนการเติบโตของประเทศนั้นๆ

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ซึ่งตามติดความเคลื่อนไหวของจีนมาอย่างต่อเนื่องระบุ ตรงกันว่า กระแสเงินทุนไหลออกของจีนเริ่มมีมากขึ้นในช่วงกลางปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดกระแสความวิตกอย่างรุนแรง ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงอย่างมากจนสกัดการแข็งค่าของเงิน หยวน ดันหุ้นในตลาดดิ่งลง และทำราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศหมดเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุน

ข้อสังเกตดังกล่าวสอดคล้องกับแถลงการณ์ของคณะบริหารอัตราแลกเปลี่ยนต่าง ชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารกลางจีน ที่ระบุว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จีนเกิดภาวะเงินทุนไหลออกจำนวนหนึ่ง แต่เงินเหล่านั้นล้วนเป็นไปเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการเพิ่มเติมในต่างประเทศ ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่น่าสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ ประเทศจีนโดยรวม

ทว่า นักวิเคราะห์และนักลงทุนกลับทำใจพยักหน้าเห็นด้วยไปกับเหตุผลจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางจีนไม่ได้

เหตุผลเพราะเงินที่ไหลออกไปนั้น เกือบทั้งหมดล้วนไหลไปกับการใช้จ่ายส่วนตัวไม่ใช่การลงทุนในกิจการแต่อย่าง ใด ไล่เรียงตั้งแต่ค่าเล่าเรียนลูกหลาน ค่าซื้อสินค้าแบรนด์หรู หรือค่าคอนโดมิเนียมติดชายหาดในเกาะไซปรัส

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้จะใช้ข้ออ้างข้างต้นเป็นเหตุผลในการนำเงินจำนวนมหาศาลออกนอกประเทศ แต่หากสืบลึกลงรายละเอียดจริงๆ แล้ว เงินส่วนใหญ่ที่ไหลออกไปกลับมากเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่กล่าวอ้างเหล่านั้น ทั้งสิ้น

เรียกได้ว่า วัตถุประสงค์ของการนำเงินออกนอกประเทศค่อนข้างจะกำกวมคลุมเครือ จนบางครั้งก็เข้าข่ายละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย โดยรัฐบาลจีนกำหนดให้บุคคลธรรมดานำเงินสดออกนอกประเทศได้ไม่เกินปีละ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 ล้านบาท)

ขณะที่เหตุผลประการต่อมาที่ทำให้เงินหยวนในประเทศลดน้อยลง สืบเนื่องมาจากการที่บรรดาผู้ประกอบการส่งออกของจีนส่วนหนึ่งเริ่มเก็บราย ได้ที่หามาได้ในรูปสกุลเงินเหรียญสหรัฐมากขึ้น แทนที่จะแลกกลับเปลี่ยนให้เป็นสกุลเงินหยวน

ทั้งนี้ เมื่อเงินจำนวนมากแห่ไหลออกอย่างต่อเนื่อง แถมยังไม่มีการไหลเข้ามาเพิ่มเติม ปัญหาหนักจึงตกอยู่กับเหล่าธนาคารพาณิชย์สัญชาติจีนทั้งหลาย

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ เมื่อเงินเหลืออยู่ในประเทศน้อย ธนาคารจีนเหล่านั้นย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะขอเก็บเงินที่มีอยู่ไว้กับ ตัวให้มากที่สุด โดยเลือกปล่อยกู้น้อยลงจนเห็นได้ชัดในช่วงปีนี้ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังจะกลายเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ธนาคารกลางจีนยื่นมือ เข้าแทรกแซงค่าเงินหยวนเพื่อปรับให้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินตรา ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้นักลงทุนหันมาถือเงินภายในประเทศมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์กล่าวตรงกันว่า สถานการณ์ที่เงินจะแห่ไหลออกนอกประเทศจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชน ตลอดจนนักลงทุนและเจ้าของกิจการเชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังเดินหน้าถดถอยและซบเซา

เมื่อเกิดวิกฤตการเงินในเอเชียปี 2541 หรือที่เรียกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง อินโดนีเซียต้องเผชิญกับเงินไหลออกนอกประเทศกว่า 23% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของทั้งประเทศ ขณะที่จีนเองก็เคยเผชิญหน้ากับสภาวะกระแสเงินไหลออกนอกประเทศมาแล้วในช่วง เกิดวิกฤตการเงิน โดยเงินหยวนไหลออกนอกประเทศสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) แค่เฉพาะช่วงตั้งแต่เดือน มี.ค. 2551–มี.ค. 2552 ซึ่งในครั้งนั้นส่งผลให้จีนต้องงัดยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการทุ่มงบประมาณลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม จีนในขณะนี้ไม่อยู่ในสภาพที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมที่จะเดินหน้าตัดถนน สร้างสะพาน หรือเร่งการบริโภคภายในประเทศได้อีกต่อไป ขณะที่การงัดสารพัดมาตรการกระตุ้นสภาพคล่องภายในประเทศขึ้นมาใช้ในระยะเวลา ที่ห่างกันไม่ถึงเดือน ด้วยการให้ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าระบบไปสองรอบ มูลค่ารวมกว่า 5.55 แสนล้านหยวนในโครงการซื้อคืนพันธบัตร ก็ไม่ใช่เครื่องรับประกันสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

เบิร์ต โดห์แมน ประธานและผู้ก่อตั้งกลุ่มโดห์แมน แคปปิตอล โฮลดิงส์ แสดงทัศนะผ่านนิตยสารทางการเงินชั้นนำอย่างฟอร์บส์ไว้อย่างชัดเจนว่า จีนขณะนี้คงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปาก ว่าจะจัดการหลีกเลี่ยงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในประเทศได้อีกต่อไป

และถึงเวลาที่จีนจะต้องยอมรับได้แล้วว่า เศรษฐกิจของตนเองปราศจากการเติบโตที่จะหวังพึ่งพาได้มานานแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินหยวน ไหลออก ลางร้าย จีนซบยาว

view