สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สินเชื่อรายย่อยดันกำไรแบงก์พุ่งกระฉูด

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ดำรงเกียรติ มาลา


แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 3% มาอยู่ที่ 2.75% เพื่อส่งสัญญาณว่าถึงเวลาที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไว้รองรับความ เสี่ยงจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและมีความเป็นไปได้ที่ผลกระทบจะยิ่ง รุนแรงขึ้นในปีหน้า

แต่เชื่อว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่สถาบันการเงินเอกชนในห้วงเวลา นี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนอย่างเคย ที่เมื่อหน่วยงานผู้กำกับดูแลส่งซิกบรรดาธนาคารพาณิชย์ก็จะทยอยปรับลด ดอกเบี้ยลงตามๆ กันภายใน 12 วัน ด้วยความว่านอนสอนง่าย

เนื่องจากเมื่อพินิจจากตัวเลขผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ในรอบ 9 เดือนแรกของปี จะเห็นได้ว่าธุรกิจธนาคารล้วนมีกำไรที่อู้ฟู่ หลายแห่งสามารถทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อในระบบที่มีการขยายตัวสูงถึง 14-15% โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง

ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานผลกำไรสุทธิไตรมาส 3/2555 ว่ามีระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้มีกำไรงวด 9 เดือนรวม 30,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากภาพรวมของสินเชื่อที่ขยายตัวถึง 20.2% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตขึ้น 20.7% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เติบโตขึ้น 39.6% และสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตขึ้น 25.7%

ธนาคารกสิกรไทย รายงานผลกำไรงวด 9 เดือนแรกที่ 38,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,146 ล้านบาท หรือ 19.18% โดยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2555 ที่ 9,212 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทย มีผลกำไรรอบ 9 เดือน ที่ 3,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.7% เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 3 ไตรมาสเดียวสินเชื่อเอสเอ็มอีมีการขยายตัวกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.68% เป็น 2.82

ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สินเชื่อในรอบ 9 เดือนมีการเติบโตไปแล้ว 7-8% หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยสินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 25-26% เป็น 29% ของพอร์ตรวม ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 28% เป็น 30% สินเชื่อเอสเอ็มอีทรงตัวที่ 20% มีเพียงสินเชื่อภาครัฐที่มีสัดส่วนลดลงเหลือ 12% จาก 16-17%

ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดเล็กที่เน้นทำธุรกิจเช่าซื้อเป็นหลักนั้น สินเชื่อมีการขยายตัวเฉลี่ยเกือบ 20%

 

ธนาคารทิสโก้ สินเชื่อมีการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 23.3 % เพิ่มจากต้นปี 4.3 หมื่นล้านบาท จากที่ตั้งเป้าเติบโตทั้งปีไว้เพียง 15 % ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อเช่าซื้อที่ขยายตัว 20.4 % จากอานิสงค์ของนโยบายรถคันแรกที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ภายในประเทศและสิน เชื่อเอสเอ็มอีที่โตขึ้น 14.6 %

ด้านธนาคารเกียรตินาคิน ฟันกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกไป 2,323 ล้านบาท จากภาพรวมสินเชื่อที่ขยายตัว 18.1 % จากสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่ออสังหาและสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่ธนาคารเร่งขยายตลาดออกสู่ต่างจังหวัดตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ผลกำไรที่สวยหรูและผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าทำไม ดอกเบี้ยจึงลงยาก เมื่อความต้องการสินเชื่อยังคงมีอยู่ไปจนถึงสิ้นปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการปรับเพิ่มค่าแรงในปีหน้า การลงทุนของภาครัฐมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ทำให้แบงก์ยังต้องเร่งระดมเงินฝากเพื่อตุนสภาพคล่องไว้ปล่อยกู้เพื่อกอบโกย กันต่อ

ตัวเลขสินเชื่อที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการโหมสร้างผลกำไรของธนาคาร ทำให้ผู้คุมกฎอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเข้ามาจับตามองอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เนื่องจากเกรงว่าจะสร้างปัญหาแก่ระบบในระยะยาว

เกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างจับตาดูการเติบโตของสินเชื่อบุคคลในระบบ เนื่องจากยอดคงค้างของสินเชื่อเริ่มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและปรับตัวขึ้น ถึงจุดที่ควรจะเริ่มกังวลแล้ว

ทั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้เป็นสินเชื่อที่ไร้หลักประกัน ควบคุมวัตถุประสงค์ได้ยาก หากมีการเติบโตที่มากเกินไปจะทำให้มีความเสี่ยงและส่งผลให้อัตราหนี้สินครัว เรือนของประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น

“ถ้าเป็นการกู้ไปใช้แบบฟุ่มเฟือยกรณีนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง ทั้งในส่วนของตัวผู้กู้เองและในส่วนของสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ เพราะจะทำให้ภาระหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น” รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ข้อมูลจาก ธปท. ระบุว่า ยอดการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลสิ้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีของผู้กู้ทั้งสิ้น 9.42 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 677,759 บัญชี หรือเพิ่มขึ้น 7.8%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ว่า ตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อบุคคลที่สูงในปีนี้ เป็นผลมาจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่ทำให้สินเชื่อในปีที่แล้วมีฐานต่ำ ประกอบกับการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมบ้านในช่วงต้นปี ซึ่งหากมองแบบค่าเฉลี่ยแล้วยังไม่ถือว่าเป็นการเติบโตที่ร้อนแรงเกินจริง

สำหรับการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ร้อนแรงมาก ก็เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นทางภาษีของรัฐบาล ซึ่งหากมาตรการต่างๆ ทยอยหมดลงในปีหน้า ภาพรวมของสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตในระบบจะกลับมาเติบโตในอัตรา ปกติที่ 10-12%

หลายฝ่ายจึงเชื่อว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ ธนาคารพาณิชย์คงจะยังเดินหน้าปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ลดละแน่นอน ซึ่งหากรวมกับปัจจัยหนุนจากการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. ซึ่งคาดว่าธนาคารพาณิชย์คงจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในที่สุด ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศการกู้ยืมในประเทศให้คึกคักขึ้น

จึงมีความเป็นไปได้ที่หลังสิ้นไตรมาสสุดท้ายนี้ เราอาจได้เห็นการประกาศตัวเลขผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งจากหลายธนาคาร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สินเชื่อรายย่อย กำไรแบงก์ พุ่งกระฉูด

view