สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุนร้อนไหลท่วมเอเชีย ระวังฟองสบู่-เงินแข็งค่า

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นอกเหนือจากที่เอเชียจะต้องพะวงกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ แน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สามเสาหลักเศรษฐกิจโลกยังคงจมอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ ทั้งยุโรป สหรัฐ และจีน จนทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องออกมาตัดลดคาดการณ์การเติบโตจีดีพีในปีนี้ลงเมื่อไม่นานมานี้ จากเดิม 3.5% เหลือแค่ 3.3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552

ทว่าอีกหนึ่งปัญหาที่น่าหวาดหวั่นไม่แพ้กันนั่นคือ ปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ ค่าเงินที่แข็งค่ามากเกินไป รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการที่เงินทุนในโลกตะวันตกแห่ไหลทะลัก เข้ามาในภูมิภาคอย่างหนักในระยะนี้

ดังเห็นได้จาก ในวันนี้ปริมาณยอดเงินทุนจากโลกตะวันตกไหลเข้ามายังตลาดพันธบัตรรัฐบาล อินโดนีเซียเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งพุ่งสูงขึ้นไปมากถึง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.9 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ 1 เดือนก่อนหน้านั้นยังอยู่ที่ 540 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.62 หมื่นล้านบาท) เท่านั้นเอง ขณะที่ในฝั่งของเกาหลีใต้มียอดเงินทุนไหลเข้าสุทธิในเดือน ก.ย.มากถึง 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.2 หมื่นล้านบาท) สวนทางกับยอดเงินทุนไหลเข้าในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านั้นที่ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.2 หมื่นล้านบาท)

แน่นอนว่า ภาวะกระแสการหลั่งไหลของเงินทุนจากโลกตะวันตกดังกล่าวยังทำให้ตลาดหุ้นและ ราคาสินทรัพย์ในประเทศต่างๆ ในเอเชียปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าผิดสังเกต อาทิ ตลาดหุ้นในไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 28% ในปีนี้ ขณะที่ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 24% อินเดียเพิ่มขึ้น 23% ส่วนตลาดหุ้นฮั่งเส็งของฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 เดือน

ไม่เพียงเท่านั้น ผลพวงจากการเข้ามาเก็งกำไรของเงินทุนจากตะวันตกไม่เพียงแต่จะส่งผลทำให้ อัตราแลกเปลี่ยนและการซื้อขายในตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งมีนโยบายเปิดรับในการลงทุนอย่างเปิดกว้างได้รับผลกระทบทำให้เกิดภาวะฟอง สบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ไปด้วย

“ราคาบ้านในฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น” จอห์น ถัง เลขาธิการด้านการเงินของทางการฮ่องกง กล่าวกับหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล

เหล่านักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า ปัญหาทั้งหมดเป็นผลโดยตรงมาจากการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเหล่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อออกมากระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) รอบที่ 3 หรือการเข้าซื้อคืนพันธบัตรโดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในวงเงินเดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) พร้อมทั้งประกาศชัดว่าจะกดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ 0-0.25% เอาไว้จนถึงกลางปี 2558 ทำให้นักลงทุนในตะวันตกพากันขนเงินมาลงทุนเพื่อเก็งกำไรในเอเชียขนานใหญ่

เนื่องจากในมุมมองของนักลงทุนเหล่านี้มองว่า การย้ายเงินลงทุนเข้ามาในเอเชียให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันสูงมากระหว่าง ตะวันตกกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 0-0.25% ยูโรโซนที่ 0.75% อินโดนีเซียกลับอยู่ที่ 5.75% ฟิลิปปินส์ที่ 5.9% ไทยที่ 2.75% เกาหลีใต้ที่ 2.75%

“อัตราดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะต่ำอยู่เช่นนี้ต่อไปอีก นาน ซ้ำยังจะลดต่ำลงไปกว่าเดิมอีก ดังนั้นนี่จึงเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนหันมาสนใจในการลงทุนในเอเชียมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทน สูงกว่า” วาสุ มีนอน รองประธานฝ่ายบริหารความมั่งคั่งของธนาคารโอซีบีซี กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างกำลังเผชิญภาวะเงินทุนไหลทะลักเข้าท่วมแล้ว นับตั้งแต่เฟดได้ประกาศใช้มาตรการคิวอี 3 เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงอัตราการขยายตัวและพื้นฐานของเศรษฐกิจในเอเชียที่ยังคงแข็งแกร่ง และยังสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างร้อนแรง ยืนยันได้จากยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในอินโดนีเซีย ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้นถึง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 5,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.77 แสนล้านบาท)

ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดว่า เอเชียทั้งทวีปโดยเฉลี่ยแล้วจะขยายตัวได้มากถึง 7.2% ในปีนี้ ส่วนทางด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์เอเชียว่าจะขยายตัวได้มากถึง 6.1% และ 6.7% ในปีหน้า

“การใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินในโลกพัฒนาแล้ว กำลังเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความร้อนแรงมากเกินไป และเสี่ยงจะเกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์มากขึ้นด้วย” คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าวในที่ประชุมประจำปีไอเอ็มเอฟที่กรุงโตเกียว เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับเสริมว่า นโยบายทางการเงินในลักษณะดังกล่าวกำลังจะทำให้ศักยภาพของประเทศเศรษฐกิจเกิด ใหม่เกิดภาวะตึงตัวมากขึ้น และไม่อาจจะลดแรงกระแทกจากการไหลเข้าของทุนขนาดใหญ่

จากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกใจนักที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชียจะหันมาออกนโยบายเพื่อรับมือกับภาวะเงินทุนไหลทะลักเข้าท่วมและการ เก็งกำไรดังกล่าว เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในเอเชียต่างเคยมีบทเรียนจากการได้รับผลกระทบของการใช้มาตรการคิวอีมาแล้ว ถึง 2 ครั้ง ทั้งในปี 2552 และปี 2553 ที่ทำให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชียล้วนแข็งค่าขึ้นมาแล้วกระทบภาคการส่งออกไปตามๆ กัน

เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การออกไปลงทุนในตลาดตราสารและอนุพันธ์ในต่าง ประเทศได้สะดวกมากขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พร้อมแย้มอีกว่าในปีหน้าอาจเปิดทางให้บุคคลทั่วไปสามารถนำเงินไปลงทุนยัง ต่างประเทศได้อีกด้วย ซึ่งจุดประสงค์ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกระตุ้นการไหลออกของเงินทุนภายในให้ออกไปลง ทุนยังต่างประเทศมากขึ้น และเป็นการช่วยรักษาสมดุลภาวะการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศที่มากเกิน ไปในปัจจุบัน จนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินในประเทศต่อเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น 2.7% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ขณะที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ธนาคารกลางฮ่องกง (เอชเคเอ็มเอ) ก็ได้ประกาศเข้าแทรกแซงค่าเงินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 เพื่อปกป้องไม่ให้ค่าเงินเหรียญฮ่องกงแข็งค่ามากเกินไปเมื่อเทียบกับเงิน เหรียญสหรัฐ โดยได้เทขายเงินเหรียญฮ่องกงวงเงิน 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 189 ล้านบาท) ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. หลังจากที่เงินเหรียญฮ่องกงได้แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 7.75 เหรียญฮ่องกงต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเพดานต่ำสุดในอัตราแลกเปลี่ยนที่ฮ่องกงผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงิน เหรียญสหรัฐ

ด้านสิงคโปร์และฮ่องกงที่ประสบกับปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่ราคาบ้านในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นถึง 56% โดยเทียบจากช่วงไตรมาส 2 ของปี 2552 ก็ได้ออกมาตรการกำกับการปล่อยสินเชื่อบ้านให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อสกัดกั้นปัญหาราคาบ้านที่ร้อนแรงมากเกินไป และอาจจะนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ได้

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต่างๆ ต้องหันมารักษาเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามากเกินไปก็เพราะว่า หากปล่อยให้ปัญหายังคงดำเนินต่อไปจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของ ประเทศต่างๆ ให้มีต้นทุนในการส่งออกไปขายยังต่างประเทศแพงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียนั้นขึ้นชื่อในเรื่องการพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากภาคการส่งออกเป็นหลักอยู่แล้ว เช่น ไทย ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี ทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ตามที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วก็คือปัญหาฟองสบู่ รวมไปถึงเงินเฟ้อ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ ต้องการเร่งแก้ไข เนื่องจากกำลังกลายเป็นปัจจัยกดดันให้ประชาชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสิงคโปร์และฮ่องกงไม่พอใจและออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอยู่ใน ปัจจุบัน

“อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีหน้า เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคยังดีอยู่ รวมไปถึงอัตราค่าจ้างและราคาสินค้าต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัญหาเงินเฟ้อจึงกลายเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญ” เฟรเดอริก นูแมน หัวหน้านักวิจัยทางเศรษฐกิจของธนาคารเอชเอสบีซี กล่าว พร้อมย้ำว่า ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อมากกว่าประเทศอื่นๆ

ฉะนั้นต่อจากนี้ไป ปัญหาของเกือบทุกประเทศในเอเชียจึงไม่ใช่เพียงแต่จะต้องกังวลกับการชะลอตัว และกลัวว่าการเติบโตของจีดีพีจะทำไม่ได้ตามเป้าเท่านั้น เพราะอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังเป็นปัญหาใหม่โผล่ขึ้นมาให้แก้ไขก็คือ ฟองสบู่เสถียรภาพของค่าเงินและเงินเฟ้อ

จากนี้ไปจึงนับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของเอเชียเป็นอย่างยิ่งในการเตรียม ความพร้อมรับมือ เพราะหากไม่เตรียมตัวให้พร้อม ทุกอย่างอาจสายเกินแก้ไข


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุนร้อนไหล ท่วมเอเชีย ระวังฟองสบู่ เงินแข็งค่า

view