สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินท่วม ไทยเกิดได้ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

คำเตือนเงินทุนจะไหลบ่าเข้ามาในกลุ่มประเทศเอเชียและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เพราะเงินทุนต่างชาติไม่มีที่ไป เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 ขั้ว คือ สหรัฐและสหภาพยุโรป ทำให้มีการประกาศมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ฉะนั้นเงินลงทุนจะหนีจากสหรัฐและสหภาพยุโรปไปลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนดี กว่าและเสี่ยงต่ำกว่า

เงินนั้นต่างกับน้ำ ตรงที่น้ำจะไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ และเงินจะไหลจากที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปหาที่ที่ให้ผลตอบแทนสูง

ฉะนั้น ในช่วง 1-2 ปีนี้ เงินทุนไหลเข้าเป็นตัวการสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจหลายประเทศ ทำให้ค่าเงินสกุลในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นมาก เมื่อเทียบกับสกุลเหรียญสหรัฐและยูโร

ล่าสุด เงินทุนไหลเข้าไปปูดที่ฮ่องกง ทำให้กรมการเงินฮ่องกงซึ่งทำหน้าที่เหมือนธนาคารกลาง ต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินเหรียญฮ่องกงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ค่าเงินเหรียญฮ่องกงแข็งค่ามากจนทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

นักวิเคราะห์อย่างไอรีน เชิง นักวางแผนการลงทุนค่าเงินของออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ป ในฮ่องกง มองว่า ธนาคารกลางฮ่องกงไม่มีทางเลือก แต่ยังคงแทรกแซงตลาดเงินต่อไปสะท้อนให้เห็นว่าการไหลเข้าของเงินทุนสามารถ เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่

การเข้าแทรกแซงของธนาคารกลางฮ่องกง ก็ใช้ในรูปแบบเดียวกับไทยและใช้เงินมหาศาล โดยในวันที่ 19 ต.ค. เข้าแทรกแซงค่าเงิน 603 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในวันที่ 23 ต.ค.นี้ ก็ต้องเข้าแทรกแซงตลาดเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้จำนวนเงิน 885 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงนั้น อาจจะน่าตกใจสำหรับประเทศอื่น แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ประสบกับเหตุการณ์เงินทุนไหลบ่าเข้ามาเพื่อเก็งกำไรหลายครั้ง ทั้งเข้ามาในตลาดเงินและเข้ามาในตลาดทุน รวมถึงตลาดตราสารหนี้

ปัญหานี้สร้างความปวดหัวให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ดำเนินนโยบายการเงินอย่างมาก จนถึงขั้นออกปากว่า บัญชีของ ธปท.ที่ขาดทุนนั้นเป็นการขาดทุนเพื่อชาติ เพราะต้องปล่อยและดูดสภาพคล่อง รวมทั้งแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินบาท ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก

สำหรับประเทศไทย นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ยอมรับว่า คงได้เห็นนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้อายุต่ำกว่า 1 ปีเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ต่างชาติถือครองตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและยาวรวมกันราว 6.5 แสนล้านบาท หรือ 11% ของยอดคงค้างตราสารหนี้ ทั้งระบบที่ 5.8 ล้านล้านบาท

ด้านตลาดหุ้นจะเห็นเงินไหลเข้าเพิ่มเติม ตั้งแต่ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศมาตรการคิวอี 3 แล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–25 ต.ค. ต่างชาติซื้อหุ้นไทยแล้ว 50,362.99 บาท แต่ขายออกไปเพียง 14,653.93 ล้านบาท สำหรับวันที่ 25 ต.ค. ต่างชาติยังขายสุทธิอีก 2,848.24 บาท แต่เงินที่ขายหุ้นก็ยังไม่ได้นำออกไป

แถมนักวิเคราะห์ต่างประเทศหลายสถาบัน อย่างธนาคารเอชเอสบีซี ก็ระบุว่า ให้เพิ่มน้ำหนักลงทุน (Overweight) ใน 4 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และไทย และให้น้ำหนักลงทุนเป็นกลาง (Neutral) ในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง และลดน้ำหนักลงทุน (Underweight) ในตลาดไต้หวันและอินเดีย

ธนาคารเอชเอสบีซี ให้เหตุผลว่า หุ้นไทยอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ซื้อขายกันที่ประมาณ 11 เท่าของตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการ ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตและใกล้ค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่บริษัทไทยจะมีอัตราการขยายตัวของผลประกอบการที่ดีกว่าที่ 17.2% เทียบกับผลประกอบการบริษัทในเอเชียที่ 11.4%

เอชเอสบีซี ระบุว่า ปีนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยมูลค่ารวม 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทยอยขายออกไป 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือน พ.ค. แต่ความน่าสนใจในการลงทุนในไทยก็ยังคงดีอยู่ เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัวดีด้วยแรงขับเคลื่อนในประเทศ ทั้งการบริโภคและลงทุนเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

ที่สำคัญคือ ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่วนต่างดอกเบี้ยสูง 2.75-3% ถือเป็นระดับสูงเพียงพอที่ดึงเงินเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในสินทรัพย์บางประเภทที่แทบไม่มีความเสี่ยง เช่น พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตร ธปท.

เมื่อเงินไหลเข้ามาก ค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มแข็งค่า ทาง ธปท.จึงตัดสินใจดำเนินมาตรการเจาะช่องทางให้เงินไหลออกได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดเงิน

ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. มองว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงไม่ใช่ลักษณะของการโจมตีค่าเงิน เป็นเพียงเงินทุนไหลเข้าธรรมดา แต่ไหลเข้ามามากจนน่าเป็นห่วงลักษณะเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเผชิญกันรวมทั้งไทยด้วย

จะบอกว่า ธปท. ไม่กังวลใจในเรื่องของเงินไหลเข้าก็ไม่ได้ เพราะ ธปท.เองก็โดนจับตามองและโดนโจมตีมาก ที่บัญชีเงินทุนขาดทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาท จนคณะกรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้ ธปท.ทำแผนลดการขาดทุน

แต่หากยังต้องแทรกแซงเงินบาทอยู่เช่นนี้ ธปท.คงมีทางเลือกไม่มาก การแทรกแซงทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ธปท.เลือกใช้นโยบายการเจาะช่องให้เงินไหลออกโดยสนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไป ลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

โดยเมื่อต้นสัปดาห์ ธปท.ประกาศปรับหลักเกณฑ์ผ่อนคลายการลงทุนต่างประเทศของธุรกิจไทย ให้บุคคลธรรมดาลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ไม่จำกัดวงเงิน เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดและฐานการผลิต และช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนไทย สำหรับนิติบุคคลไทยสามารถลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้เสรีตั้งแต่ปี 2553 อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังผ่อนผันให้โอนเงินตราต่างประเทศเพื่อรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน ASEAN Linkage ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงตลาดทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

อนุญาตให้บุคคลในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศแบบ มีภาระผูกพันได้ไม่จำกัดวงเงิน เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้นำเข้าหรือผู้มีภาระสามารถบริหารจัดการความเสี่ยง จากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น

ธปท.ยังมีแผนที่จะผ่อนคลายมาตรการการเงินให้มากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งวิธีการทั้งหมดถือเป็นการดูแลค่าเงินอย่างผ่อนปรนและไม่ให้เกิดผลกระทบ ต่อตลาดเงินรุนแรงเกินไป

เท่านี้ยังไม่พอ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยังลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อกลางเดือน ต.ค. ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศแคบลง ทำให้แรงกดดันเงินไหลเข้ามากินส่วนต่างดอกเบี้ยลดลงตามไปด้วย

แม้ ธปท.จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนมากขึ้น วางแผนการรับมือเชิงรุก แต่ก็ยังไม่สามารถรับรองได้ว่า เหตุการณ์เงินไหลบ่าเข้ามาท่วมตลาดเงินเหมือนที่ฮ่องกงโดนนั้น จะไม่เกิดขึ้นกับไทยอีก

และหากเงินไหลเข้ามาท่วมจนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างหนัก ธปท.คงไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้ อาจจะต้องทำแบบที่ธนาคารกลางฮ่องกงทำ

สิ่งที่กลัวอาจจะเกิดขึ้นได้ หากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปยังร่อแร่ ไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินท่วม ไทย เกิดได้ เศรษฐกิจโลก ไม่ฟื้น

view