สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับโครงสร้างภาษีเสียศูนย์ สู้ศึกนอก แต่เพิ่ม ศึกใน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การปรับโครงสร้างภาษี เพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังสร้างพิมพ์เขียวปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยการลดภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เพื่อชดเชยรายได้จากการลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ไม่ให้ประเทศมีปัญหาเรื่องรายได้

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเสนอให้มีการลดสิทธิภาษีส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่ง เสริมการลงทุน (BOI) เพื่อไม่ให้การลดภาษีซ้ำซ้อน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดปัจจุบันหยิบแต่ประเด็นเรื่องการลดภาษีนิติบุคคลขึ้นมาหาเสียง เลือกตั้ง โดยจะลดภาษีจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 และ 20% ในปี 2556

หลังชนะการเลือกตั่ง รัฐบาลเดินหน้าตามที่สัญญาไว้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำให้กรมสรรพากรต้องสูญรายได้ไปถึง 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

การปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลมาถูกทาง เพราะอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยอัตราเดิมสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยประเทศสิงคโปร์ที่อัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20% เท่านั้น การลดภาษีลงมาเท่ากับสิงคโปร์ ทำให้ไทยเป็นตัวเลือกของนักลงทุนไม่น้อยหน้าประเทศสิงคโปร์อีกต่อไป

นอกจากนี้ อัตราภาษีนิติบุคคล 20% ที่จะเริ่มในปีหน้า ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย กับ เวียดนาม อยู่ที่ 25% บรูไน 27.5% ฟิลิปปินส์ 30% และลาว 35% ทำให้หลังการเปิด AEC จะส่งผลให้ประเทศไทยได้เป็นที่สนใจของนักลงทุนนำเงินเข้ามาลงทุนมากกว่า เพราะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลเพียงลำพังส่วนเดียว ทำให้โครงสร้างภาษีทั้งระบบของไทยเสียสมดุล

ที่เห็นได้ชัด การไม่ปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 10-37% ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดา เพราะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่านิติบุคคล ทำให้คนรวยมีเงินบริหารภาษีโดยการตั้งบริษัทโอนรายได้รายจ่ายไปเสียภาษีใน รูปนิติบุคคลที่ต่ำกว่า ทำให้เกิดการบิดเบือนทางภาษีมากขึ้น

ขณะที่ไส้ในการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาก็ยังมีปัญหา แม้ว่าเรื่องอัตราจะเคาะกันลงที่ 5-35% แต่ก็ยังเป็นอัตราที่เพื่อนบ้านคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศสิงคโปร์ที่ภาษี บุคคลธรรมดาเก็บสูงสุดที่ 20% ซึ่งดึงดูดให้แรงงานทำงานประเทศสิงคโปร์มากกว่าไทย

นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ยังมีปัญหาเรื่องการหักค่าลดหย่อนต่างๆ ที่มีถึงกว่า 20 รายการ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์คนมีรายได้สูง ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของผู้เสียภาษี แต่การลดการหักลดหย่อนดังกล่าวก็ยังเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองไม่อยากไปลด เพื่อให้เสียคะแนนเสียง

การปรับโครงสร้างภาษีของไทยยังเสียสมดุล ที่รัฐบาลไม่ยอมปรับเพิ่มภาษี VAT ไปพร้อมกับการลดภาษีนิติบุคคล รวมถึงไม่ยอมลดสิทธิทางภาษีของนิติบุคคลที่ได้รับจาก BOI ทำให้ประเทศมีปัญหาการเก็บรายได้เกิดขึ้นทันที

โดยการเก็บรายได้ของประเทศปีงบประมาณ 2555 เก็บได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.98 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 2,500 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อลงไปดูรายละเอียดพบว่ามาจากการเก็บภาษีนิติบุคคลของกรมสรรพากรต่ำ กว่าเป้าถึง 5.5 หมื่นล้านบาท เป็นผลโดยตรงจากการลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาล

สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาระบุว่า ภาษีนิติบุคคลเก็บได้ต่ำกว่าเป้ามาจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ ปัญหาน้ำท่วม การลดภาษีตามนโยบายของรัฐบาล และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของ BOI ทำให้การเก็บภาษีนิติบุคคลสูญหายไปจำนวนมาก

ข้อเท็จจริงของอธิบดีกรมสรรพากร เป็นการยืนยันว่า การปรับโครงสร้างภาษีที่เป็นไปยังไม่สมดุล ทำให้ประเทศไทยเจอกับปัญหาการเก็บรายได้ และปัญหาจะเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะการปีหน้าภาษีนิติบุคคลจะเหลือ 20% ขณะที่ BOI ก็ยังให้สิทธิทางภาษีเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับพิมพ์เขียวของกระทรวงการคลังที่ควรจะลดสิทธิทางภาษีลง ทำให้การเก็บรายได้ของประเทศมีปัญหามากขึ้น

นอกจากนี้ การไม่เพิ่มภาษี VAT จาก 7% เป็น 10% โดยรัฐบาลได้เห็นชอบขยายการลดภาษีออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2557 ทำให้รัฐบาลไม่มีรายได้เข้ามาชดเชยภาษีที่หายไป

นโยบายลดภาษีน้ำมันดีเซลของกรมสรรพสามิตที่ทำให้รายได้หายไปเดือนละ 9,000 ล้านบาท นอกจากเป็นการบิดเบือนโครงสร้างภาษีทั้งระบบแล้ว ยังส่งผลกระทบกับการเก็บรายได้ของประเทศไม่น้อยไปกว่าการลดภาษีนิติบุคคล

ทั้งหมดส่งผลให้การเก็บรายได้ของประเทศอยู่ในวิกฤต กลายเป็นปัญหาด้านการเงินการคลังของประเทศตามมา เพราะหากรายได้ไม่พอรายจ่าย รัฐบาลหนี้ไม่พ้นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนหนี้ของประเทศอยู่ในระดับสูงใกล้จุดอันตรายที่ 60% ของจีดีพี

ปัญหารายได้ของประเทศหลุดเป้า ยังกระทบให้การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาถูกเตะถ่วงออกไปเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลกลัวการจัดเก็บรายได้จะทรุดไปมากกว่านี้ เพราะการปรับภาษีบุคคลธรรมดาจะทำให้รายได้หายไปอีก 34 หมื่นล้านบาทต่อปี

ถึงวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่า การปรับโครงสร้างภาษีของไทยเป็นเรื่องที่จำเป็น และต้องดำเนินการเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ที่การแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากการเปิด AEC เพราะหากโครงสร้างภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาของไทยสูงกว่าประเทศคู่ แข่ง จะทำให้นักลงทุนไปลงทุนในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่า

แต่การปรับโครงสร้างภาษีของไทยที่ไม่เป็นระบบระเบียบ รัฐบาลเลือกปรับโครงสร้างภาษีเฉพาะที่ได้คะแนนเสียง เป็นประโยชน์กับพวกพ้อง แต่ทางตรงกันข้าม การปรับโครงสร้างภาษีที่รัฐบาลทำแล้วจะเสียคะแนนนิยมทางการเมือง รัฐบาลไม่ยอมแตะ ทำให้การปรับโครงสร้างภาษีของไทยออกมาสุกๆ ดิบๆ สร้างปัญหาอย่างที่เห็น จนอาจจะส่งผลให้การปรับโครงสร้างภาษีเสียมากกว่าได้ในที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรับโครงสร้างภาษี เสียศูนย์ สู้ศึกนอก ศึกใน

view