สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โลกการเงินยุโรป ปี 2013

โลกการเงินยุโรป ปี 2013




ต้นสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวดีจากการประชุมผู้นำยุโรปว่า ได้มีข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับกรอบเวลาการจัดตั้งองค์กรกำกับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว
หรือ Single Supervisory Mechanism (SSM) เพื่อดูแลสถาบันการเงินกว่า 6,000 แห่งทั่วยุโรป ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานในธนาคารกลางยุโรป ตามด้วยนโยบายการเพิ่มทุนของธนาคารในยุโรป กลไกการช่วยเหลือ แบงก์ที่ต้องขายกิจการในช่วงวิกฤต และแผนการสร้างองค์กรประกันเงินฝาก ของธนาคารทั่วยุโรป อันจะเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดตั้ง Banking Union ว่าด้วยการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินทั่วทั้งภูมิภาคยุโรปให้เป็นเอกภาพ ในลำดับต่อไป จากนั้นนำไปสู่สหภาพการเงินหรือ Monetary Union ในที่สุด แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวยังมีเงื่อนไขของนางแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ต้องการให้การช่วยเหลือสถาบันการเงินของไอร์แลนด์และสเปนต้องผ่านทางรัฐบาล กลางก่อนก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นนั้นควรจะมีผลต่อเหตุการณ์ในอนาคตเท่านั้น

บทความนี้ จึงขอนำเสนอแนวทางการจัดระเบียบสถาบันการเงินฉบับแบงก์ยุโรปของแท้ ที่เรียกกันว่า Liikanen Review ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ฉบับเบื้องต้นที่แนะนำให้แบงก์ในยุโรป ปฏิบัติตามเพื่อให้มีความเสี่ยงของระบบลดลงจากผลการศึกษาของคณะทำงานภายใต้การนำของ นายเอิร์กกิ ลิคาเนน ประธานธนาคารกลางของประเทศฟินแลนด์

ก่อนจะไปทำความรู้จักรายงานฉบับดังกล่าว ขอเกริ่นก่อนว่า เหตุใดสถาบันการเงินจึงมีความสำคัญต่อยุโรปเป็นอันมาก ในปี 2010 ขณะที่แบงก์สหรัฐมีขนาดสินทรัพย์อยู่ 8.6 ล้านล้านยูโร หรือประมาณร้อยละ 80 ของจีดีพี แบงก์ในสหภาพยุโรปมีขนาด 42.9 ล้านล้านยูโร หรือประมาณร้อยละ 350 ของจีดีพี รวมถึงครึ่งหนึ่งของแบงก์ขนาดใหญ่ที่สุด 30 แห่งมีสำนักงานใหญ่ อยู่ในสหภาพยุโรป ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสถาบันการเงินในยุโรปจำเป็นต้องมี ความปลอดภัยกว่าในสหรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรายงานของลิคาเนนที่จะต้องทำให้ ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จ

องค์ประกอบหลัก 4 ประการของรายงานฉบับดังกล่าวมี ดังนี้

หนึ่ง การล้อมรั้วกิจกรรมทางการเงินที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ หรือ Ring-Fencing นั่นคือการแยกกิจกรรมของสถาบันการเงินที่การบริการมีความจำเป็นชนิดที่เศรษฐกิจ และประชาชนทั่วไปจะขาดเสียมิได้ให้อยู่ภายใต้การดูแลของทางการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะไม่ต้องใช้เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ซึ่งในรายงานฉบับนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ว่าธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินเอง (Proprietary Trading) หรือกิจกรรมทางการซื้อขายหลักทรัพย์อื่นๆ ในส่วนใดที่ไม่ให้เกี่ยวข้อง กับธุรกิจของสถาบันการเงินที่เงินฝากได้รับการคุ้มครองจากสถาบันประกันเงินฝาก ดังรูป อันประกอบด้วย 2 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก หากขนาดของสินทรัพย์ในส่วนของการซื้อขายหลักทรัพย์ เกินกว่า ร้อยละ 15-25 ของสินทรัพย์ธนาคาร หรือ เกินกว่า 1 แสนล้านยูโร ให้ไปตรวจสอบ ขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่สอง การกำหนดว่าธุรกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องแยกออกจาก ธุรกิจของสถาบันการเงินที่ใช้แหล่งเงินจากเงินฝากได้รับการคุ้มครองจริงๆ หรือไม่ ด้วยการกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของขนาดกิจกรรมดังกล่าวต่อสินทรัพย์ธนาคาร ซึ่งอาจจะมีอัตราที่ไม่เท่ากันตามระดับรายได้ต่างๆ ของสถาบันการเงิน

สอง จัดสรรเงินหรือตราสารหนี้ที่ใช้ในการช่วยเหลือแบงก์ที่จะล้มในช่วงเกิดวิกฤตหรือ "Bail-inable" Debt Instruments ให้ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนของผู้บริหารธนาคาร เพื่อให้ผู้บริหารมีแรงจูงใจที่จะระมัดระวังในการบริหารมิใช่เพียงบริหารให้ราคาหุ้นมี มูลค่าสูงที่สุดเพียงอย่างเดียว

สาม กฎเกณฑ์เสริมการดำรงเงินกองทุนสำหรับสินทรัพย์เพื่อการค้าและ อสังหาริมทรัพย์ของเกณฑ์การกำกับบาเซิลที่สถาบันการเงินใช้กันอยู่เกือบทั่วโลก ซึ่งมีผู้สันทัดกรณีหลายท่านวิจารณ์ว่ากฎเกณฑ์ทางการเงินในปัจจุบันประเมินระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ทั้งสองประเภทต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว แนะนำให้มีการเสริมเงินกองทุนให้กับสินทรัพย์ดังกล่าวเพิ่มเติม

ท้ายสุด รายงานดังกล่าวยังมีคำแนะนำที่น่าสนใจไว้ปรับปรุงหลักธรรมาภิบาล ที่มีอยู่หลายประการ อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรายงานความเสี่ยง ของสถาบันการเงิน ให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น

ผู้เขียนมีความเห็นต่อการศึกษาของลิคาเนน ดังนี้

ประการแรก ประเด็นที่รายงานดังกล่าวกล่าวถึงสินทรัพย์เพื่อการค้า และ อสังหาริมทรัพย์ว่าประเมินระดับความเสี่ยงต่ำเกินไปสำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นด้วยสำหรับสินทรัพย์ประเภทแรก ทว่าสำหรับสินทรัพย์ประเภทที่สองแล้ว เกณฑ์ปัจจุบันที่สถาบันการเงินเกือบทุกแห่งในเมืองไทยและทั่วโลกใช้อยู่ กำหนดให้หลักประกันประเภทที่ดิน ไม่สามารถใช้ลดความเสี่ยงให้กับ สินทรัพย์ของธนาคาร ผู้เขียนคิดว่ารายงานดังกล่าวมองถึงน้ำหนักความเสี่ยงปัจจุบัน ของอสังหาริมทรัพย์ว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากเกินไป

ประการที่สอง การใช้ "Bail-inable" Debt Instruments แม้ดูแล้วจะเหมือน เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เหล่าบรรดาผู้บริหารสถาบันการเงินดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบขึ้น เนื่องจากถ้าเกิดเจ๊งขึ้นมา เงินในกระเป๋าตนเองก็จะหายไปด้วย ทว่าในทางกลับกัน หากเป็นเช่นนี้ นายแบงก์ก็อาจมองเหมือนน้ำขึ้นให้รีบตัก โดยหากเป็นช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองก็จะรีบเร่งหารายได้เพื่อให้ตนเองมีรายได้เป็นเงินก้นถุง ของตนเองเผื่อว่าในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วเกิดโชคร้ายธุรกิจของตนเองไปได้ไม่สวย เพื่อให้ในภาพรวมทั้งหมดตนเองมีรายได้สุทธิที่ยังสูงอยู่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็จะเกิด Procyclicality ต่อเศรษฐกิจ นั่นคือ การปล่อยกู้ของสถาบันการเงินส่งเสริมให้ จีดีพีแกว่งตัวมากขึ้นกว่าเดิมในรอบวัฏจักรเศรษฐกิจหนึ่งๆ

ประการสุดท้าย รายงานฉบับนี้ อนุญาตให้แบงก์ที่มีขนาดเล็กไม่ต้องแยกกิจกรรม การซื้อขายหลักทรัพย์ออกจากธุรกิจหลักของธนาคาร อาจจะส่งผลให้เกิดศัพท์ "Too Small to Ignore" ในวิกฤตรอบต่อไปก็เป็นได้

โดยสรุป ผลการศึกษาของลิคาเนนฉบับนี้ มีเนื้อหาที่เหมาะกับโลกการเงินยุโรปหลังปี 2013 ซึ่งนับเป็นจิ๊กซอว์แรกๆ ของการแก้ปัญหายูโรที่ถือว่าเดินมาถูกทางครับ

หมายเหตุ หนังสือเล่มใหม่ด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “จิบกาแฟ ท่องเน็ต เล่นหุ้น...ก็รวยได้” วางจำหน่ายแล้วทั่วประเทศ และติดตามประเด็น Fiscal Cliff เพิ่มเติมที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โลกการเงินยุโรป ปี 2013

view