สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระสงฆ์ ผู้ด้อยโอกาสทางโภชนาการ แนะฆราวาสลดแป้งน้ำตาลใส่บาตร

จากประชาชาติธุรกิจ

เครือข่ายคนไทยไร้พุงชี้พระสงฆ์คือผู้ด้อยโอกาสทางโภชนาการ เหตุญาติโยมนิยมถวายอาหารเสี่ยงโรคเรื้อรัง แนะ 4 วิธี ออกกำลังกายอย่างง่ายและเหมาะสม

นายรุ่งชัย ชวนไชยะกูล รองเลขาธิการเครือข่ายคนไทยไร้พุง เปิดเผยว่า ตนได้ออกแบบการบริหารร่างกายสำหรับพระสงฆ์ เป็นท่าที่เคลื่อนไหวได้ง่ายและเหมาะสม เนื่องจากพระสงฆ์ถูกจำกัดเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย ไม่สามารถเตะฟุตบอล เตะตะกร้อ วิ่ง แม้กระทั่งยกน้ำหนัก ก็ทำไม่ได้ อีกทั้งพระสงฆ์ถือเป็นผู้ด้อยโอกาสทางโภชนาการของสังคม ไม่สามารถเลือกรับประทานอาหารเองได้ การจัดโภชนาการที่เหมาะสมให้ตัวเองจึงทำยาก

"จากการสำรวจพบว่า อาหารส่วนใหญ่ที่นำมาถวายพระสงฆ์มักมีกะทิเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงเขียวหวานที่พบเป็นประจำ หรือจะเป็นขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่มีรสหวานและน้ำตาลมาก ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังในพระสงฆ์ อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ประกอบกับกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์มีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าคนปกติและต้องนั่งในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีอาการข้อเข่าเสื่อม เห็นได้จากการขอเปิดรับบริจาคเงินในเว็บไซต์ เพื่อนำไปใช้ผ่าตัดข้อเข่าเทียมให้แก่พระสงฆ์ " นายรุ่งชัยกล่าว

นายรุ่งชัยกล่าวว่า รูปแบบการออกกำลังกายของพระสงฆ์ที่ได้ออกแบบมา มี 4 ทางเลือกให้ปฏิบัติ ได้แก่ 1.การเดินขึ้นลงบันได ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว ทำได้โดยการก้าวขึ้น-ก้าวลง ถอยหลัง วนเวียนไปมา 15 นาที เป็นการออกกำลังกายง่ายๆ 2.กวาดลานวัด เป็นกิจวัตรทั่วไป อย่างน้อยวันละ 30 นาที 3.การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ภายในวัดเป็นประจำทุก 3 วัน อย่างการยกกระถางต้นไม้ เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งภายในวัด กุฏิ ปรับแต่งกิ่งไม้ ถือเป็นการออกกำลังไปในตัว ได้ใช้กำลังในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ แต่อาจไม่เหมาะสมหากมีอาการข้อเสื่อม และ 4.การใช้ยางยืดในการออกกำลังกายเมื่อตื่นนอนทุกเช้าหรือก่อนจำวัดทุกคืน เพื่อเป็นการยืดเส้นยืดสายภายในกุฏิ ช่วยคลายกล้ามเนื้อจากการนั่งเป็นเวลานานได้

"พระสงฆ์สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับร่างกาย หากมีอาการข้อเสื่อม ก็ควรเลือกวิธีใช้ยางยืดหรือการเดินขึ้นลงบันได เป็นต้น ซึ่งจากการที่ได้นำวิธีนี้ไปใช้กับโครงการของโรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อปี 2554 ซึ่งคัดเลือกพระสงฆ์ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน 20 รูปจากทั่วประเทศ มาเข้าร่วมโครงการเป็นเวลา 1 สัปดาห์ พบว่ามีพระรูปหนึ่งที่มีน้ำหนัก 120 กิโลกรัม สามารถลดน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม" นายรุ่งชัยกล่าว และว่า สำหรับวิธีดังกล่าวเพิ่งเริ่มใช้กับโครงการของโรงพยาบาลสงฆ์เท่านั้น และขณะนี้อยู่ระหว่างรอทางโรงพยาบาลเขียนโครงการที่จะนำหลักปฏิบัติทั้ง 4 ข้อไปเผยแพร่และขยายผลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นฆราวาส ที่ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการใส่บาตร ควรเป็นอาหารที่ไม่มัน หวานน้อย ไม่หนักแป้ง และควรเน้นอาหารที่ย่อยง่าย



ที่มา นสพ.มติชนรายวัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระสงฆ์ ผู้ด้อยโอกาส โภชนาการ ฆราวาส ลดแป้งน้ำตาล ใส่บาตร

view