สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประภัสร์ ฟุ้ง 6 เดือนลดขาดทุน รฟท.หมื่นล้านบาท

จากประชาชาติธุรกิจ

นายประภัสร์ จงสงวน ว่าที่ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 พ.ย. ตนจะเดินทางไปเซ็นสัญญาว่าจ้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อรับตำแหน่งผู้ว่า รฟท.อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 4 แสนบาท เท่ากับช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

สำหรับงานแรกที่ตนจะเร่งทำคือการลดภาระขาดทุนให้แก่ รฟท. ซึ่งเบื้องต้นได้หารือร่วมกับผู้บริหารของ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน เพื่อขอจัดเก็บค่าเช่าที่ดินของ รฟท.ในพื้นที่ที่ ปตท.ได้เข้าใช้ประโยชน์ ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าที่ช่วงต้นปี 2556 นี้ ซึ่งเบื้องต้นผู้บริหาร ปตท. ก็ไม่ขัดข้อง


“รฟท. ให้ ปตท. ใช้ที่ดินฟรีมาเป็นเวลานานถึง 30 ปี โดยไม่ได้เก็บค่าเช่า ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าที่ต้นปีหน้า ขณะที่อีกด้านหนึ่ง รฟท. ก็เป็นหนี้ค้างชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ปตท.มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ผมจึงมีแนวคิดว่าต่อไปนี้ รฟท.จะจัดเก็บค่าเช่าที่จาก ปตท. ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทมหาชนที่มีรายได้ที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นอาจจะนำค่าเช่าที่ได้รับมาหักกลบลบกับภาระหนี้ค่าน้ำมัน 1 หมื่นล้านบาท ที่เราค้างอยู่กับ ปตท. คาดว่าภายใน 6 เดือนนี้จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง โดยหนี้ รฟท.จะลดลงบางส่วน แต่จะลดหนี้ได้เท่าไหร่ยังบอกไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลที่ดินที่ ปตท.เข้าไปใช้ประโยชน์ เพื่อนำมาคำนวณอัตราค่าเช่าที่จะจัดเก็บ” นายประภัสร์กล่าว

สำหรับแผนการหารายได้ของรฟท.ว่าเบื้องต้นอาจจะใช้ รูปแบบหน่วยธุรกิจเข้ามาดำเนินการก่อน แต่หากมีปัญหาติดขัด อาจจะจัดตั้งบริษัทลูกเข้ามาดำเนินธุรกิจแทน

ที่มา : สำนักข่าวไทย


ประภัสร์” เครื่องร้อนจ่อรีดค่าเช่าที่ ปตท.โปะหนี้น้ำมัน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

     “ประภัสร์” ลุยแก้ขาดทุน ร.ฟ.ท. ไล่เช็กบิล ปตท.เก็บค่าเช่าที่ดินหลังใช้ฟรีมานาน ชี้ไม่ใช่หน่วยราชการหมดสิทธิ์ เล็งหักค่าเช่ากับหนี้ค่าน้ำมันหมื่นล้าน พร้อมตรวจทุกแปลงอุดรั่วไหล ปิ๊งไอเดียหารือคลังคิดผลตอบแทน ศก.คืน รสก.ที่ลงทุนด้วย ยันใน 6 เดือนห้องน้ำรถไฟต้องสะอาด เร่งประมูลโครงการปรับปรุง1.7 แสนล้านเสร็จใน 2.5 ปี
       
       นายประภัสร์ จงสงวน ว่าที่ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วยังเหลือขั้นตอนลงนามสัญญาจ้างก่อนจึงจะปฏิบัติงานได้ โดยเห็นว่าขณะนี้ ร.ฟ.ท.มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เริ่มจากปัญหาขาดทุน ซึ่งจะมีการตรวจสอบที่ดินของ ร.ฟ.ท.ทุกแปลงที่มีเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์โดยไม่มีการจ่ายค่าเช่า เช่นกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีสัญญาใช้ประโยชน์ในที่ดินรถไฟหลายแปลง แต่ปัจจุบัน ปตท.ไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนที่ทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐแล้ว ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2556 จะมีสัญญาของ ปตท.บางแปลงทยอยหมดอายุ ดังนั้นจะต้องเจรจาคิดค่าเช่า โดยยึดต้นแบบสัญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมาบุญครอง ซึ่งค่าเช่าที่เก็บจาก ปตท.เบื้องต้นจะนำไปหักหนี้ค่าน้ำมันที่ ร.ฟ.ท.ติดค้าง ปตท.กว่าหมื่นล้านบาท หากเหลือจะนำไปดูแลพนักงาน เช่น ปรับปรุงบ้านพัก และสำนักงาน เป็นต้น 
       
       และอีกแนวคิดคือ รัฐควรพิจารณาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (IRR) ที่ได้รับจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืนให้รัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ดำเนินการ เช่น ร.ฟ.ท.ก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือมีรถไฟชานเมือง ช่วยประหยัดเวลาเดินทาง ประหยัดน้ำมัน ลดมลพิษ สุขภาพของประชาชนดี ลดค่ารักษาพยาบาล ซึ่งสามารถคำนวณเป็นตัวเลขและคืนกลับทางบัญชีเพื่อช่วยลดการขาดทุนได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว 
       
       “จะต้องคุยกับกระทรวงการคลังในการคืนผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจให้แก่รัฐ วิสาหกิจทุกแห่งไม่เฉพาะรการถไฟฯ ส่วนตัวเลขตอบแทนทางเศรษฐกิจมีอยู่แล้วตอนศึกษาโครงการ ถ้าคลังเห็นด้วยภายใน 1-2 ปีก็จะเห็นผล” นายประภัสร์กล่าว
       
       สำหรับการทำงานภายใน 6 เดือนจะเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาดขึ้นทั้งในสถานี บนขบวนรถ รวมถึงสำนักงาน ร.ฟ.ท.ที่ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดีทั้งแก่ประชาชนและผู้มาติดต่องาน การเดินรถที่สะดวกและปลอดภัยไม่เกิดอุบัติเหตุบ่อยเพื่อเรียกความเชื่อมั่น โดยจะยังไม่มีการคิดถึงเรื่องขึ้นค่าโดยสารจนกว่าจะปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น ก่อน ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์จะเร่งติดตั้งลิฟต์และบันไดเลื่อนเพิ่ม รวมถึงทำทางเชื่อมระหว่างสถานีมักกะสันกับสถานีเพชรบุรีของรถไฟฟ้าใต้ดิน 
       
       พร้อมกับเร่งรัดประกวดราคาโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ร.ฟ.ท.ภายใต้งบ 1.76 แสนล้านบาทให้เสร็จภายใน 2 ปีครึ่ง ซึ่งมีแนวคิดว่าระหว่างรอการจัดซื้อหัวรถจักรที่ต้องใช้เวลา 20 เดือน อาจจะเช่ารถมาใช้ก่อนหรือให้เงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้ส่งมอบรถได้เร็วขึ้น เป็นต้น ซึ่งการได้รถเร็วเท่าไรจะสร้างรายได้เร็วเท่านั้นและคุ้มค่ามากกว่า ส่วนรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่ยังลงนามสัญญาไม่ได้ จะตรวจสอบว่าติดขัดตรงจุดไหน ซึ่งทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้สอบถามมาเพราะเห็นว่า 2 ปีแล้วยังไม่คืบหน้า ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง จะต้องหารือกับ รมว.คมนาคมว่าจะให้หน่วยงานใดดำเนินการเพื่อให้โครงการเกิดขึ้นเร็วที่สุด
       
       อย่างไรก็ตาม นายประภัสร์จะเข้ารับมอบตำแหน่งในวันที่ 14 พ.ย.นี้ และจะมีการมอบนโยบายในการทำงานทันที


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประภัสร์ ลดขาดทุน หมื่นล้านบาท

view