สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุยกับหมอพิณ เสียงเรียกร้องจากหัวเข่า

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ

โดบ พญ.พิณนภางค์ ศรีพหล






เคยรึเปล่าค่ะ ที่เวลาชวนคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายไปเที่ยวแล้วก็เจอข้ออ้างว่า "ไม่ไป เดินไม่ไหว ปวดเข่า"

โรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis of knee) พบบ่อยในผู้สูงอายุอาการที่บอกถึงข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

- อาการปวดเข่า
มักจะปวดเรื้อรังและปวดมากขึ้นเวลางอเข่า และในวันที่เราใช้งานเข่าหนัก ๆ เช่น ขึ้นลงบันได งอเข่านาน ๆ บางรายที่มีอาการมากอาจปวดเข่าแม้ในเวลาพัก หรือแม้แต่เวลานอน


- อาการข้อฝืด โดยเฉพาะช่วงเช้า มักไม่กินเวลานานกว่า 30 นาที อาการฝืดตึงอาจจะเกิดชั่วคราวหลังจากที่ไม่ได้ขยับเป็นเวลานาน เช่น พอนั่งนาน ๆ แล้วต้องเปลี่ยนท่าเป็นลุกขึ้นยืน ต้องค่อย ๆ ยืน ค่อย ๆ เหยียด ไม่ไหลลื่นเหมือนสมัยเป็นวัยรุ่น

- เสียงดังกรอบแกรบของเข่าระหว่างการเคลื่อนไหว ฟังเสียงร้องจากหัวเข่าคุณบ้าง มันอาจจะเริ่มร้องเตือนคุณว่า ฉันเริ่มจะเสื่อมแล้วนะจ๊ะ

- ข้อใหญ่ผิดรูป

- มีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันจากที่ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ลำบาก เช่น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะลุก ก็ดูติดขัดไปหมด การรักษาเข่าเสื่อมมีหลายวิธี ทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด ซึ่งล้วนแต่เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุค่ะ

ต้นเหตุของเข่าเสื่อมคืออะไรบ้าง

- ความอ้วน : เข่าก็เหมือนขาโต๊ะค่ะ โต๊ะที่วางของหนัก ๆ ย่อมเสื่อมเร็วกว่าโต๊ะที่วางของเบา ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง) มากกว่า 23

- การใช้เข่าผิดวิธี : การนั่งคุกเข่านาน ๆ นั่งขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดมาก ๆ อาจทำให้เข่าเสื่อมเร็วได้

ทีนี้เรามาป้องกันที่ต้นเหตุกันดีกว่า ได้แก่

- ลดน้ำหนัก : ในคนที่อ้วนควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรืออย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักเดิมที่มีอาการปวดข้อ

- หลีกเลี่ยงการใช้เข่าผิดวิธีดังที่กล่าวมาข้างต้น


- ออกกำลังเพื่อเข่าของเรา


กายบริหารชนิดที่มีแรงกระแทกต่ำ ได้แก่ การเดิน การปั่นจักรยาน การออกกำลังในน้ำกายเหยียดงอเข่า เพื่อป้องกันข้อยึดกายบริหารเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขา เช่น นั่งพิงพนักหลังแล้วเหยียดเข่าสุด พร้อมกระดกข้อเท้าขึ้นสุดเกร็งค้างไว้ นับ 1-10 อย่าขี้โกงนับเร็วนะคะ ทำสลับกันสองข้างแม้ไม่ปวด เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ท่ายืนเกาะพนักเก้าอี้ ย่อเข่าลงเล็กน้อยแล้วเหยียดตรง 10-20 ครั้ง ให้รู้สึกตึง ๆ ที่กล้ามเนื้อหน้าขา แต่ท่านี้ให้ระวังในผู้สูงอายุนะคะ เพราะอาจทำให้ล้มง่าย มาดูแลเข่าของเรากันนะคะ โดยเริ่มจากแก้ไขที่ต้นเหตุ เวลาอายุมากขึ้นจะได้ออกไปร่าเริงกับลูก ๆ หลาน ๆ ได้อย่างเต็มที่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คุยกับหมอพิณ เสียงเรียกร้อง หัวเข่า

view