สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การหลีกเลี่ยงหน้าผาการคลังของสหรัฐ

การหลีกเลี่ยงหน้าผาการคลังของสหรัฐ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หลังวันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้า รัฐสภาและฝ่ายบริหารของสหรัฐก็รีบกลับมาที่กรุงวอชิงตันเพื่อเร่งเจรจาหาข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงหน้าผาทางการคลัง
โดยจะมีเวลาเหลือเพียง 4 สัปดาห์ หากตัดเอาวันหยุดในช่วงเทศกาลคริสต์มาสออกไป กล่าวคือมีเวลาเหลือน้อยเต็มทีในการเจรจาเพื่อขยายอายุมาตรการลดภาษีและกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคมศกนี้ ดังนั้นหากตกลงกันไม่สำเร็จ ก็จะส่งผลให้ภาษีต้องถูกปรับขึ้นและรายจ่ายของรัฐบาลต้องถูกตัดลงคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 4% ของจีดีพี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวอยู่เพียง 2% ต่อปี

บางคนถามว่าหากทราบถึงอันตรายของการไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าว ก็ทำไมไม่ต่ออายุมาตรการทั้งหมดเพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ต่อไป? คำตอบคือการทำเช่นนั้นย่อมเป็นการไม่แก้ปัญหาระยะยาวของสหรัฐคือการใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้ปัจจุบันสหรัฐซึ่งมีจีดีพีมูลค่า 15 ล้านล้านดอลลาร์ มีหนี้สาธารณะกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์ กล่าวคือปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 8% ของจีดีพีหรืออีกนัยหนึ่งคือทุกๆ 100 ดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐเก็บภาษี รัฐบาลสหรัฐจะใช้เงิน 140 ดอลลาร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องไม่ได้ จำต้องรีบจัดทำแผนการรัดเข็มขัดเพื่อให้กลับมาสู่การมีวินัยทางการคลังโดยไม่ชักช้า

ดังนั้น การเจรจาเพื่อต่ออายุมาตรการลดภาษีและมาตรการใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องคุยกันในเดือนนี้จึงต้องผูกมัดกับการเจรจาในภาพใหญ่เพื่อรัดเข็มขัดทางการคลังใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตยังมีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือพรรคเดโมแครตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีโอบามาต้องการเน้นการเก็บภาษีคนรวยในอัตราที่สูงขึ้น (เน้นการปรับขึ้น Tax rate) และพยายามจะคงรายจ่ายรัฐสวัสดิการให้มากที่สุด โดยเฉพาะโครงการประกันสุขภาพที่ประธานาธิบดีโอบามาผลักดันออกกฎหมายปฏิรูปโครงการประกันสุขภาพเมื่อ 3 ปีก่อนที่เรียกว่า Obamacare แต่ในอีกด้านหนึ่งพรรครีพับลิกันมีจุดยืนต่อต้านการปรับขึ้นอัตราภาษีคนรวยเพราะมองว่า “คนรวย” ดังกล่าวนั้นที่จริงแล้วคือนักธุรกิจที่เป็นนักลงทุน ดังนั้น หากปรับขึ้นอัตราภาษีก็จะทำให้การลงทุนชะงักงัน กล่าวคือ พรรครีพับลิกันมองว่าเป็นการเก็บภาษีธุรกิจที่ตั้งใจลงทุนขยายกิจการและขยายการจ้างงานนั่นเอง (ทั้งนี้ประธานาธิบดีโอบามาต้องการปรับเพิ่มอัตราภาษีคนโสดที่มีรายได้เกินกว่า 2 แสนดอลลาร์ และคู่สามี-ภรรยาที่มีรายได้เกินกว่า 2.5 แสนดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป) ในส่วนของรีพับลิกันนั้น ยินดีที่จะให้ปฏิรูประบบการเก็บภาษีที่สลับซับซ้อนและปิดช่องโหว่ เช่น การหักลดหย่อนภาษีสำหรับการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านและการบริจาคต่างๆ แต่เดโมแครตมองว่าจะกระทบกระเทือนต่อองค์กรทางสังคมต่างๆ ที่ได้ประโยชน์จากเงื่อนไขทางภาษีดังกล่าว ที่สำคัญคือ รีพับลิกันต้องการให้รัฐบาลลดรายจ่ายรัฐสวัสดิการลงเป็นหลักในการแก้ปัญหาการขาดวินัยทางการคลังตามที่ได้เคยตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา นำโดยนาย Simpson และนาย Bowles ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอให้ลดรายจ่ายและเพิ่มภาษีในอัตรา 3 ต่อ 1 เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณรวมทั้งสิ้น 4 ล้านล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า

ดังนั้น การเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงหน้าผาการคลังจะเป็นการเจรจาเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐได้ใช้จ่ายเกินตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องแลกกับการมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างรีพับลิกันกับเดโมแครตว่าแผนการในระยะกลาง (3-5 ปีข้างหน้า) เพื่อให้เกิดวินัยทางการคลังนั้นจะมีสาระสำคัญอะไรบ้างและฝ่ายใดจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ซึ่งนักธุรกิจย่อมจะต้องการรับรู้แผนการดังกล่าวเป็นเรื่องหลัก จึงจะสามารถวางแผนธุรกิจของตนต่อไปได้ หากยังตกลงกันไม่ได้และมีความคลุมเครือก็ย่อมจะทำให้นักธุรกิจไม่สามารถวางแผนการลงทุนขยายกิจการของตนได้โดยง่าย

ประเด็นที่เป็นความเสี่ยงคือฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครตอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองทำให้ตกลงกันไม่ได้ โดยหวังว่าเมื่อ “ตกหน้าผาทางการคลัง” แล้ว อำนาจต่อรองของตนจะเพิ่มขึ้น เช่น วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนเคยกล่าวว่าหากปล่อยให้มาตรการลดภาษีหมดอายุลง ก็จะทำให้ชาวอเมริกันทุกคนจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2013 เป็นต้นไป ซึ่งพรรคเดโมแครตก็จะสามารถฉวยโอกาสเสนอกฎหมายต่อสภาเพื่อลดเฉพาะภาษีคนจนและคนชั้นกลาง ซึ่งหากรีพับลิกัน (ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาล่าง) ไม่ยอมลงคะแนนเสียงผ่านให้ รีพับลิกันก็จะต้องถูกประชาชนตำหนิอย่างมาก กล่าวคือ เดโมแครตมองว่าฝ่ายตนจะมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นหากยอมให้ตกหน้าผาทางการคลังในระยะสั้น ในส่วนของรีพับลิกันนั้นก็อาจมองว่าฝ่ายตนจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นหากทอดเวลาออกไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่การก่อหนี้ของรัฐบาลชนเพดาน และรัฐบาลสหรัฐจะต้องเสนอกฎหมายเพื่อขอขยายเพดานหนี้และหากทำไม่ได้ รัฐบาลก็จะขาดเงิน ต้องปิดการทำงานของราชการหรือแม้กระทั่งพักชำระหนี้ สภาวการณ์ดังกล่าวย่อมจะทำให้รีพับลิกันมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น ในขณะที่ปัญหาและผลกระทบจะเป็นความรับผิดชอบของเดโมแครต ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร กล่าวโดยสรุปคือ หากมีการ “เล่นการเมือง” มากไป ก็มีความเสี่ยงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจได้

ดังนั้น ประเด็นที่นักธุรกิจสหรัฐพยายามรณรงค์อย่างมากคือ การเน้นถึงผลร้ายของการตกหน้าผาทางการคลัง ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่านักการเมืองยังไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงผลเสีย เพราะดูเสมือนว่านักการเมืองยังเข้าใจว่าหากให้ตกหน้าผาทางการคลังชั่วคราว (สัก 60 วัน) ก็ไม่น่าจะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐมากนัก ทั้งนี้ก็ยังสามารถคืนภาษีย้อนหลังก็ได้ ซึ่งมีคนเปรียบเปรยว่า Wall Street หรือนักธุรกิจอาจมองว่าเป็น Fiscal Cliff แต่ Washington (นักการเมือง) กลับมองว่าเป็น Bungee Jump (กระโดดลงหน้าผาโดยผูกเส้นยางขนาดใหญ่เอาไว้ที่ขา ทำให้กระเด้งกลับขึ้นมาได้ในทันที) หรือมองว่าเป็น Fiscal slope ไม่ใช่ Fiscal Cliff ด้วย

เหตุผลนี้เอง Bank of America Merrill Lynch จึงเตือนให้นักลงทุนรัดเข็มขัดเพราะอาจต้องเผชิญพายุทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาใน 4 สัปดาห์ข้างหน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การหลีกเลี่ยง หน้าผาการคลัง สหรัฐ

view