สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรุนแรงรายการ TV ภัยเงียบของเด็กยุคไอที

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Update
โดย ผศ. ดร. ปิยะธิดา ขจรชัยกุล

ภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จาก การสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งจะทำการสำรวจทุก ๆ 5 ปี พบว่าคนไทยมีเวลาว่างเฉลี่ยคนละ 3.6 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น โดยผู้ชายจะมีเวลาว่างมากกว่าผู้หญิงประมาณ 25 นาทีต่อวัน ส่วนกิจกรรมยามว่างที่เด็กไทยที่อายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด คือ การดูทีวี รองลงมา คือการดูวีดีโอ ดีวีดี วีซีดี หากแยกเป็นเพศจะพบว่าเพศชาย ใช้เวลาดูทีวี 2.8 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเพศหญิงใช้เวลา 2.6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนการดูวีดีโอ ดีวีดี วีซีดี พบว่าเพศหญิงใช้เวลามากกว่าคือ 3.2 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่เพศชายใช้เวลาเพียง 2.1 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้หากดูเนื้อหาของสื่อทีวีที่เผยแพร่ในช่วงเวลาของเด็กและครอบครัว (เวลา 16.00 -22.00 น) พบว่ามีเนื้อหาความรุนแรง และใช้ภาษา ตลอดจนสื่อสารเรื่องเพศไม่เหมาะสม ละครทีวีมีประเด็นความรุนแรงมากที่สุด

จาก ข้อมูลเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่เด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน ทำไมจึงมีจิตใจกระด้าง ไม่สนใจ และรับรู้ความต้องการตลอดจนเรื่องต่าง ๆ ของคนในสังคม รวมทั้งมีปัญหาเรื่องความรุนแรง และมีปัญหาด้านพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น เพราะในทางจิตวิทยา "เมื่อเด็กไม่ได้รับการเรียนรู้ สมองเด็กก็จะไม่ได้รับการพัฒนา ในขณะเดียวกับเมื่อได้รับการเรียนรู้ซ้ำ ๆ ในเรื่องไม่ดี (การดูแต่ละครที่มีฉากความรุนแรง ตบตี ทะเลาะเบาะแว้ง การสื่อสารเรื่องเพศ) ก็จะมีการรับรู้ เกิดการเลียนแบบพฤติกรรม และแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา รวมถึงซึมซับอารมณ์ ความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ในความทรงจำได้" เพราะมีงานวิจัยที่ทดลอง โดยให้ผู้ถูกวิจัย ดูวิดีโอที่มีเนื้อหาเป็นลักษณะคู่สมรสทะเลาะเบาะแว้งกัน เมื่อดูเสร็จจึงสอบถามผู้ดูว่ามีอารมณ์ หรือมีความรู้สึกอย่างไร พบว่าผู้ดูวิดีโอนั้น มีอารมณ์ทางลบ และรู้สึกโกรธไปด้วย แสดงว่าเรามีการรับรู้อารมณ์ตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คน ๆ นั้นประสบอยู่ด้วย

ผล จากการศึกษาและค้นคว้าด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) ในปัจจุบัน ทำให้พบว่าสมองของคนมีเซลล์ที่พร้อมจะมีปฏิสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับคนต่าง ๆ ในสังคมและช่วยให้เรามีการรับรู้อารมณ์ร่วมกัน เช่นเมื่อเราอยู่ในกลุ่มเพื่อน ๆ และฟังเรื่องเล่าที่ตลกขบขัน ทุกคนในกลุ่มจะหัวเราะและรู้สึกสนุกร่วมกันได้ ในงานวิจัยพบว่าเซลล์สมองส่วนนี้จะแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์ กับคนในสังคมมากขึ้น หมายความว่าหากเรามีประสบการณ์กับคนในสังคมมากขึ้น ก็จะทำให้เซลล์สมองส่วนนี้ได้พัฒนาดียิ่ง ๆ ขึ้น ในงานวิจัยยังพบว่า คนเรามีเซลล์ประสาทที่เรียกว่า Mirror Neurons ทำหน้าที่รับรู้ว่าบุคคลอื่นจะเคลื่อนไหว หรือมีอารมณ์อย่างไร แล้วทำให้เราเตรียมตัวที่จะทำตาม หรือลอกเลียนแบบการเคลื่อนไหว และอารมณ์ดังกล่าว รวมทั้งยังพบว่าอารมณ์ของคนเรานั้นสามารถติดต่อกันได้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดี หรืออารมณ์เสีย

นอกจากนี้มีการวิจัยศึกษา เปรียบเทียบพฤติกรรมก่อนและหลังการดูการ์ตูนของเด็กอนุบาล 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกเป็นเด็กที่ดูการ์ตูนที่มีเนื้อหาก้าวร้าวและมีความรุนแรง กับอีกกลุ่มดูการ์ตูนที่มีเนื้อหาตรงกันข้ามคือไม่มีบทก้าวร้าวและไม่รุนแรง พบว่ากลุ่มแรกจะมีพฤติกรรมชอบทะเลาะโต้เถียงและชกต่อยกับเพื่อน ไม่รักษากฎเกณฑ์ในชั้นเรียน มีสมาธิสั้น มีความอดทนรอคอยอะไรได้ไม่นาน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กที่ดูการ์ตูนที่ไม่มีเนื้อหาก้าวร้าว หรือมีความรุนแรง และยังพบว่าเด็กที่ดูทีวีที่มีเนื้อหาก้าวร้าวและมีความรุนแรงตั้งแต่ในวัย เยาว์จะเป็นเด็กที่มีความก้าวร้าว ทั้งการใช้ภาษาและทำร้ายเพื่อนเมื่อโตเป็นวัยรุ่นอีกด้วย

ยังมีงาน วิจัยอีกหลายชิ้นที่พบว่า "เด็กที่ดูทีวีที่มีเนื้อหาความรุนแรงเป็นเวลานานจะทำให้เด็กจะไม่ค่อย รู้สึกทุกข์ร้อน เมื่อเห็นคนอื่นเดือดร้อน หรือเกิดอาการชาชินเรื่องความเดือดร้อนของคนอื่น เด็กจะกลัวสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้นโดยไม่มีเหตุผล แยกแยะสิ่งที่เป็นเรื่องจริงกับเรื่องไม่จริงไม่ได้ ขาดจินตนาการ และเด็กจะมีอารมณ์รุนแรง หรือมีความก้าวร้าวกับคนอื่นชอบเล่นต่อสู้หรือเล่นอะไรที่ก่อให้เกิดความ เสียหาย"

ดังนั้น หากพ่อแม่ให้เวลา ใส่ใจและสนใจโดยเลือกรายการทีวีที่เหมาะสม จำกัดเวลาการดูทีวีของลูก เริ่มต้นปลูกฝังลูกด้วยการให้ความรู้ สอนให้คิดขณะที่ลูกดูทีวีว่าเรื่องที่ดูนี้ลูกได้อะไร ควรทำตามแบบในทีวีไหม ชี้แนะให้เด็กเห็นว่า เราดูทีวี ก็เหมือน กันกับการกินอาหาร เรากินอะไรก็ได้อย่างนั้น ทีวีก็เช่นเดียวกัน ดูสิ่งที่ดีก็ได้สิ่งที่ดีเข้าไปไว้ในสมอง และให้รางวัลเมื่อลูกประพฤติดี ด้วยการชมเชย พ่อแม่จะได้ไม่ต้องมานั่งร้องไห้ เสียใจภายหลัง ดูข่าวทีวีเห็นลูกไปไล่ยิงคู่อริแล้วถูกตำรวจจับ เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่น

ที่มา : Hospital Healthcare มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความรุนแรง รายการ TV ภัยเงียบ เด็กยุคไอที

view