สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฐากูร บุนปาน แจงผ่านทีวี กรณี บทอาเศียรวาท มติชน อย่าตีความ เหาะเกินลงกา

ฐากูร บุนปาน" แจงผ่านทีวี กรณี บทอาเศียรวาท "มติชน" อย่าตีความ "เหาะเกินลงกา

จากประชาชาติธุรกิจ

เวลา 19.00 น. วันที่ 6 ธันวาคม นายฐากูร บุนปาน คอลัมนิสต์ ให้สัมภาษณ์ ในรายการ" มติชนวิเคราะห์" ในประเด็นเรื่องบทอาเศียรวาทของหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. 2555 ที่ถูกแปลความไปต่างนานา ไกลเกินเจตนารมณ์ของผู้แต่งบทอาเศียรวาท มีเนื้อหาดังนี้

ผมเข้าใจว่าท่านผู้ชมจำนวนมาก คงได้อ่านคำชี้แจงของกองบรรณาธิการและของผู้ประพันธ์แล้ว ท่านก็ชี้ให้เห็นว่าท่านหมายความอย่างที่ท่านเขียน ตรงไปตรงมาทุกคำ ไม่มีการซ่อนเร้นนัยยะใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะบาทสุดท้ายที่ตั้งคำถามกันมากว่า ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร

ท่านก็หมายถึงว่า ก็ในวันที่มีทุกข์ มีร้อน เหมือนกับวันลมร้อน ลมเย็น ฝนแล้ง ฝนหนัก ทุกคนก็นึกถึงวันที่สดใส ฟ้าสว่างในที่นี้ก็คือพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ดีอย่างไร ในที่นี้เป็นสำนวนไทย ไม่ใช่คำว่าดียังไงนะครับ คำว่าดียังไงนั้นเป็นการตั้งคำถาม ดีอย่างไร ถ้าใครเคยพูดไทยแบบตรงไปตรงมาก็ต้องเคยพูดคำนี้ ใช้เป็นตัวอย่าง ใช้เป็นคำที่ทำให้เราระลึกถึง ภาษาอังกฤษใช้ "Remind" ย้อนคิดถึงสิ่งที่ประทับใจ นี่คือความตั้งใจ นี่คือเจตนาของผู้ประพันธ์ และของกองบรรณาธิการ

**คำถามมากมายว่าทำไมไม่เปิดเผยชื่อผู้ประพันธ์


จริงๆ ท่านเขียนอาเศียรวาทและบทกวีอื่นๆ ด้วย มาร่วม 30 ปีแล้ว บางคนเขียนจนเลยจุดที่ต้องการชื่อเสียงหรืออย่างอื่นไปแล้ว เขียนเพราะใจรัก เพราะเป็นหน้าที่ และ ที่ผ่านมาเราก็ไม่เคยลง ทั้งมติชน และ ข่าวสด เวลาลงบทอาเศียรวาท ไม่เคยลงนามผู้ประพันธ์ เป็นธรรมเนียมของเราแต่ไหนแต่ไร ถ้าไม่ได้ทำมา 30-40 ปี แล้วอยู่ดีๆ ปีนี้ทำสิครับแปลก

แล้วจริงๆ ท่านผู้ประพันธ์ก็เขียนบทอาเศียรวาทในแนวแบบนี้มาตลอด ท่านเขียนบทอาเศียรวาทในกรอบความคิดว่าประชาชน กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รักและผูกพันกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมีทุกข์มีร้อนที่พึ่งหลักที่พึ่งแรกที่ประชาชนนึกถึงก็คือพระเจ้าอยู่หัว กรอบความคิดท่านเป็นอย่างนี้มาตลอด
ดูจากบทอาเศียรวาท 5 ธันวาคม 2543 ก็ได้ ท่านเขียนว่า

หกสิบเจ็ดล้านไทยป่วยไข้หรือ ไม่มีมือไม่มีเท้าเฝ้านั่งถัด
หรือมะเร็งกินถ้วนกระบวนรัฐ รอพระหัตถ์ประทานส่งพระองค์เดียว
กราบบาทพระพุทธเจ้าข้า กระแสช่อพารายังบ่าเชี่ยว
พวกบังหลวงยังโกงเห็นตัวเป็นเกลียว มีแต่ ธ คอยเหนี่ยวประชาชน

คือถ้าใครอ่านมาโดยตลอดอย่างเข้าใจ ไม่ได้มีอคติ ไม่มีกรอบความคิดทางการเมือง แบ่งข้างแบ่งสีเข้ามาบังตา ผมเข้าใจว่าก็จะเห็นบทอาเศียรวาทนี้เป็น บทอาเศียรวาทที่ดีด้วยซ้ำ เพราะท่านเปรียบทุกข์ของประชาชนเหมือนกับโดยภัยธรรมชาติที่กระหน่ำเข้ามา โดนลมร้อน ลมแล้ง ลมเย็น ฝนแห้ง ฝนบ่า นะครับ แล้วก็นึกถึงวันที่ฟ้าสว่าง นึงถึงพระมหากรุณาธิคุณว่าดีอย่างไร ถ้าไม่ตีความกันแบบ "เหาะเกินลงกา" ไม่มีอคติบังตา เป็นท่านอาจารย์ภาษาไทย ก็ตีความภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาหน่อย เป็นสื่อก็พยายามค้นหาข้อมูลหน่อย ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ที่มีปัญหาไม่ใช่ตัวอาเศียรวาท เป็นปัญหาทัศนคติของคนอ่านแล้วตีความ แบบลากให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ


อ.จุฬาชี้บทอาเศียรวาทมีเจตนาส่อเสียด

จาก โพสต์ทูเดย์

อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬา ชี้บทอาเศียรวาทของมติชนผู้ประพันธ์มีเจตนาส่อเสียดเพื่อให้เกิดการตีความมากกว่าเป็นคำถวายพระพร

นายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เปิดเผยว่า ได้พิจารณาเนื้อหาบทอาเศียรวาท ซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือมติชน เมื่อวันที่ 5ธ.ค.2555 แล้ว ไม่มีตรงไหนที่ จะบอกว่าเป็นบทประพันธ์ที่ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา

หากนำออกไปตีพิมพ์เดี่ยวๆ แล้วตัดคำว่าอาเศียรวาทและภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกไป คนอ่านจะไม่รู้เลยว่านี่คือบทประพันธ์ถวายพระพรและยิ่งหากดูบริบทอื่นๆ ประกอบ เช่น บทความหรือข้อเขียนต่างๆในหนังสือพิมพ์มติชน ก็มีแนวทางเช่นนี้ ดังนั้นจะยิ่งเห็นว่าบทประพันธ์เจตนาอย่างไร

"ผู้ประพันธ์มีเจตนาที่จะส่อเสียด หรือก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไปมากกว่าจะเป็นถวายพระพรตามปกติ เหมือนที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่คนอ่านแล้วจะเข้าใจความหมาย ถือเป็นการกระทำที่แยบยลของผู้ประพันธ์" นายอนันต์ กล่าว 


จวกยับ “มติชน” อาเศียรวาทกำกวม-ไม่เหมาะสม แจงวุ่นยันเปรียบเทียบ “ฟ้าสว่าง” กับ “ฟ้าครึ้ม”

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ชาวเน็ตวิจารณ์ขรมอาเศียรวาท “มติชน” ใช้คำกำกวม-ถูกตีความไม่เหมาะสม “บิลลี่” สุดทนแต่งบทกลอนโต้ “มติหมาภาษาสัตว์” คอลัมนิสต์ดังถามจำเป็นหรือไม่ต้องเขียนกำกวมให้สื่อความหลายแง่-ซ่อนปมใน เชิงลบหรือไม่ อีกด้านมองคนแต่งพยายามซ่อนความหมายแต่มือไม่ถึง จึงไม่เนียน ไม่แยบยล และหมิ่นเหม่

       
       วันนี้ (6 ธ.ค.) เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ได้ออกคำชี้แจงกรณีอาเศียรวาท สืบเนื่องจากมีผู้ตั้งคำถามต่อบทอาเศียรวาท ที่ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาว่ามีความหมายอย่างไร มีความกำกวมไม่เหมาะสมหรือไม่ มีเนื้อความดังนี้
       
       “วันหนึ่งฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งลมแล้งในใจไห้โหยหาย
       ข้าวกล้านาไร่ได้กลิ่นอาย ยามฝนขวนขวายมุ่งหมายมา
       วันหนึ่งเมฆคลุ้มเป็นกลุ่มก้อน ลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา
       พฤกษ์พุ่มชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร”

       
       ต่อไปนี้ คือ คำอธิบายจากผู้ประพันธ์บทอาเศียรวาทดังกล่าว
       
       “....อาเศียรวาทสองบทนี้ มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการ
       
       ด้วยวิธีการเขียนบทกวีที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จึงใช้วันฟ้าสว่างกับวันฟ้ามืดครึ้ม
       
       วันฟ้าสว่างนั้นแม้แต่ลมแล้งในใจผู้คนที่โหยไห้ก็ยังหาย ข้าวกล้านาไร่ยังได้กลิ่นอายฝนที่มุ่งหมายมาตกต้องตามฤดูกาลย่อมหมายถึงความ สว่างในพระบรมเดชาเมตตาบารมี ที่ปกเกล้าพสกนิกรและทุกสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากพระวิริยะอุตสาหะเช่นฟ้าฝน ชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำอันยังประโยชน์สม่ำเสมอแก่ไร่นา
       
       ดังนั้น เมื่อมีวันมืดครึ้ม ซึ่งแม้แต่ธรรมชาติปัจจุบันเช่นที่เห็นกันก็ผันผวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นเป็นปัญหา
       
       จึงมีหรือที่จะไม่นึกฝันถึงวันฟ้าสว่าง วันที่กระจ่างแจ้งร่มเย็นอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ว่าดีอย่างไร ดีขนาดไหน คือ ความหมายซึ่งอธิบายได้ตามตัวอักษรทุกวรรคตอน”
       
       กองบรรณาธิการ หวังว่า คำอธิบายความหมาย สัญลักษณ์ และเจตนาของผู้ประพันธ์ น่าจะสร้างความกระจ่างและทำให้เกิดการตีความที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของ ผู้ประพันธ์ ลงชื่อ กองบรรณาธิการมติชน 6 ธันวาคม 2555
       
       อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะตีพิมพ์บทอาเศียรวาท ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ได้มีการแต่งบทอาเศียรวาทลงในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ ซึ่งมองว่ามีการใช้คำและสัมผัสที่กำกวมและไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง
       
       “บิลลี่ โอแกน” ดารานักแสดงชื่อดัง โพสต์บทกลอนตอบโต้ ระบุว่า
       
       “อาเจียรวาทชาติหมาประสาหนอน
       แต่งคำหอนโหยหวนชวนคลื่นเหียน
       มติหมาภาษาสัตว์ร่วมกัดเกรียน
       จงวนเวียนเดียรัจฉานสถานเอย”

       
       ขณะที่ นายสุรวิชช์ วีรวรรณ บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และคอลัมนิสต์ นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว Surawich Verawan ว่า ประเด็นที่ต้องถามมติชน ก็คือ บทอาเศียรวาทนั้น จำเป็นต้องเขียนกำกวม ให้สื่อความหมายไปหลายแง่ จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาสัญญลักษณ์ที่ซ่อนเงื่อนปมให้ตีความไปในเชิงลบก็ได้ ด้วยหรือไม่
       
       นายสุรวิชช์ กล่าวว่า แปลกใจกับบทกวีถวายพระพรของมติชนวันนี้มาก อย่าไปติดใจการใช้คำสามัญ เพราะต้องเข้าใจว่า การใช้ถ้อยคำสามัญเพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจความหมายของบทกวีเป็นเรื่องที่ดี มติชนใช้คำสามัญแบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่ละปีก็มีความหมายที่ลึกซึ้งคมคายเสมอ แต่ปีนี้นอกจากความหมายจะมีปัญหาก็ยังอ่อนในเรื่องการใช้คำมากอีกด้วย แม้จะเคยเขียนกลอนงูๆปลาๆมาบ้าง อ่านแล้วก็รู้เลยว่า ไม่ได้ความทั้งเสียงและการใช้คำ ซึ่งถ้าให้เดาก็พอจะเดาออกว่าเป็นฝีมือของใคร
       
       “คนเขียนบทกวีชิ้นนี้แบ่งบทกวีเป็นสองช่วงเวลาในบทแรกเวลาหนึ่ง บทที่สองเวลาหนึ่ง เช่น บทแรกพยายามสื่อว่า ฟ้าสว่าง ความแห้งแล้งในใจก็เหือดหายไป ข้าวในนาก็อุดมสมบูรณ์ แล้วอยู่ฝนก็ตกลงมา อันนี้มีปัญหานะครับ ถ้าฝนจะตกฟ้ามันต้องครื้มก่อนไม่ใช่ฟ้าสว่าง บทที่สอง บอกว่า ท้องฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป เกิดเหตุน้ำท่วมไร่นา คนก็นึกถึงวันที่ต้องฟ้าโปร่งใส สรุปก็คือ กำลังบอกว่า วันนี้ ท้องฟ้ากำลังมืดมัว ความหมายนัยที่เขาต้องการเล่นและซ่อนเร้นอยู่ตรงคำว่า “ฟ้า” นั่นเอง แต่เดี๋ยวมติชนก็คงออกมาอธิบาย เขาคงเตรียมทางออกไว้แล้ว ผมคิดว่า เขาคงจะอธิบายทำนองว่า ไม่ว่า จะสุขหรือทุกข์ประชาชนก็จะระลึกถึงฟ้า อะไรทำนองนี้” นายสุรวิชช์ กล่าว
       
       ด้าน นายบัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์ กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ดิ้นได้ มีระดับชั้น ละเมียดละไม ซ่อนความแยบยลเอาไว้หลายมิติ แถมจริตคนไทยก็รู้ๆ ว่า เจ้าบทเจ้ากลอน ชอบพูดจากันอ้อมๆ ค้อมๆ เป็นวงกว่าจะมาลงเข้าเรื่อง คำประพันธ์ร้อยกรองก็ถอดจริตดังกล่าวออกมาทั้งหมด มีตัวอย่างร้อยกรองมากมาย แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ประชดประเทียด หลอกด่า แดกดัน เช่น “โรคมาก รากโมกต้มกินหาย” ฟังเผินๆ เหมือนจะเป็นตำรายา แต่ทว่าเมื่อผวนกลับกลายเป็น “ต้มกินหาย” มีเสียง “ตาย”ซ่อนอยู่ในความ ภาษาที่มีระดับชั้น ที่ใช้กับผู้ใหญ่เขาจึงเข้มงวดกับคำที่แปรความไปในทางลบ เช่น ผักบุ้ง ปลาสลิด ดอกสลิด อะไรเหล่านี้
       
       เมื่อนำมาใส่ในคำอวยพรจึงต้องระวังคำที่มีความหมายแปรนัย ซ่อนนัย เหล่านี้ แม้กระทั่งคำพ้องเสียงเขาก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ใช้กันเช่นคำว่า “โลกันต์” ที่มีบทอาเศียรวาทชิ้นหนึ่งของหน่วยงานใหญ่ปรากฏในมติชนเมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานนั้นแรกก็เถียงว่าหมายถึงโลก ซึ่งเป็นการเถียงแบบข้างๆ คูๆ เพราะธรรมเนียมของอาเศียรวาทจะไม่ใช้คำแบบนั้นเลย เพราะมันใกล้กับ “โลกันตร์” แถม “โลกันต์” ก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับภาษาพาไป ควบคุมภาษาที่ใช้ไม่ได้
       
       มาถึงบทอาเศียรวาทของมติชนรายวันที่กำลังเป็นที่สนใจของโซเชียลมี เดีย ตนตั้งข้อสังเกตว่า คนแต่งฝีมือไม่ถึง พยายามซ่อนความหมาย ความนัยชั้นสูง แต่เมื่อมือไม่ถึง จึงไม่เนียน ไม่แยบยล และหมิ่นเหม่ น่าประหลาดใจที่ปกติแล้วบทอาเศียรวาทที่ขึ้นหน้าหนึ่ง เป็นตัวแทน “ในนามองค์กร” คือ ประพันธ์ในนามหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับจะต้องมาจากผู้ประพันธ์ที่มีชื่อเสียง หรือได้รับความไว้วางใจจากองค์กรนั้นๆ ปกติแล้วเขาจะมีชื่อจริงสกุลจริงเป็นเกียรติให้ผู้แต่ง
       
       “ผมเคยได้ยินมาว่าซีไรต์ท่านหนึ่งเขียนแค่ 2 บรรทัดก็ได้หลักแสนบาทเขียนให้ “ในนาม” บรรษัทการค้ายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง แต่หากไม่มีชื่อเขียนในนามองค์กรเลยก็ไม่มีข้อห้ามไว้ สิ่งเดียวที่คนในวงการนี้ทำกันคือ ในเมื่อเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะแล้ว ผิดชอบชั่วดียังไงองค์กรนั้นๆ (ก็คือมติชนรายวัน) ก็ต้องค้อมรับเอาไว้ เนื่องเพราะเผยแพร่ในนามองค์กรตน ในเมื่อมติชนยอมรับให้เป็นบทอาเศียรวาทขององค์กรย่อมต้องผ่านการคัดกรอง ตรวจสอบผ่านตามาแล้ว ตีความได้ว่า บทประพันธ์ชิ้นนี้มีความดีเด่น อาจจะซ่อนความหมายลึกซึ้ง ยากแก่คนทั่วไปตีความ ประมาณว่าคนที่มีสติปัญญาทั่วไปไม่เข้าใจอาเศียรวาทบทนั้นของมติชนได้ แต่ในความเป็นจริงคนในองค์กรสื่อด้วยกันก็ต่างรู้กันว่า มันไม่มีจริงหรอกกระบวนการคัดกรองเนื้อหาบทประพันธ์ก่อนจะตีพิมพ์แบบที่ทุก คนเชื่อว่านี่เป็นบทประพันธ์ที่ล้ำลึกสุดยอดอะไรนั่น เพราะแท้จริงแล้ว อาจจะแค่มีคนเส้นใหญ่คนหนึ่งที่ร้อนวิชาเขียนขึ้นมาแล้วผลักดันลงกันเองก็ เป็นไปได้ ที่สำคัญ อ่านยังไงก็ไม่สามารถเรียกว่าลึกซึ้งได้เพราะ การประพันธ์ก็คือการสื่อสารชั้นสูง หากไม่สามารถสื่อออกมาได้ดี การรับสารย่อมยากจะเข้าใจสิ่งที่ต้องการแสดงออกอยู่ดี” นายบัณรส กล่าว
       
       นายบัณรส กล่าวว่า มองในแง่ดี ผู้เขียน มีความตั้งใจดี ประมาณว่า จะเปรียบเทียบว่ายามที่บ้านเมืองปกติฟ้ายังแจ้งสว่าง ชาวนาไร่ไพร่ฟ้าก็สดชื่นมีสุข ในวันที่บ้านเมืองไม่ปกติฟ้าไม่สว่างเกิดทุกข์เข็ญ ไพร่ฟ้าตั้งหน้ารอวันที่บ้านเมืองดีด้วยพระบารมีอีกครั้งฯ แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกว่าผู้เขียนไม่ใช่นักกลอนที่ช่ำชอง ดูจากวรรคที่สอง “ลมแล้งในใจไห้โหยหาย” ที่ไม่มีความหมาย เป็นกลอนพาไป ลากคำให้ลงสัมผัสเท่านั้น ยิ่งเมื่อร้อยคำทั้ง 2 บทเข้าด้วยกัน ยิ่งพบเห็นสิ่งบกพร่องในสื่อคำที่ต้องการส่งสารออกไป เพราะผู้แต่งไม่สามารถหยิบคำที่สื่อออกมาแล้วคนอ่านเข้าใจได้มาใช้ ต่อให้ผู้เขียนมีความตั้งใจดีเพียงใด แต่กฎเกณฑ์-เป้าหมายของบทประพันธ์แต่ละอย่างจะบังคับเป็นพื้นฐาน เช่น หากเขียนอาเศียรวาท ก็ควรเข้าใจว่านี่คือคำสรรเสริญ ปกติแล้วจะใช้ลีลาชั้นสูง เช่น ฉันท์ กาพย์ หรือต่อให้เป็นแค่กลอนก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคำสรรเสริญ ดังนั้น ผู้แต่งต้องหลีกเลี่ยงใช้คำกำกวม มีความหมายส่อนัยด้านลบ
       
       ที่สำคัญ คนไทยรู้ดีว่าสัญลักษณ์ที่ใช้แทนพระเจ้าแผ่นดินที่เข้าใจกันทั่วไปคือ “ฟ้า” ผู้ประพันธ์จงใจเล่นกับ “ฟ้า” คือ ฟ้าสว่าง กับ วันที่ฟ้ามืดเมฆมัว มองยังไงก็เข้าใจว่าต้องการสื่อถึงพระมหากษัตริย์ หากไม่มีความช่ำชอง ร้อยคำที่มีความหมายสื่อสารชัดเจน ความเข้าใจของผู้รับสารจะแตกต่าง ตีความเป็นลบได้ โดยเฉพาะวรรคส่งบทท้าย “ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร” ชวนให้ประหวัดถึงคำขวัญของ พคท.ในอดีตที่ว่า “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ” พร้อมๆ กัน แม้ผู้แต่งจะไม่ตั้งใจก็ตาม ในมิติของการมองในแง่ดี เนื่องจากผู้แต่งยังอ่อนด้อยไม่สามารถเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสม การสื่อสารเลยเกิดปัญหาให้เกิดการตีความในแง่ลบ ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยอาเศียรวาทเขาถือกันเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเป็นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชคงมีปัญหาแล้ว
       
       แต่หากมองในแง่ลบ เนื่องจากค่ายมติชนรายวันสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรฝ่ายแดงที่มี หลายเฉด รวมไปถึงข้อเสนอเรื่องแก้กฎหมาย ม.112 ฯลฯ อาจต้องการนำเสนออุดมการณ์ความคิด แบบที่เคยมีผู้เสนออยากเห็นสถาบันกษัตริย์เป็นแบบเนปาล ญี่ปุ่น ฯลฯ ผู้ประพันธ์จึงต้องการแทรกอุดมการณ์ความคิดลงในบทอาเศียรวาท จึงปรากฏชุดคำที่สื่อความหมายถึง “ฟ้า” การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศและท้องฟ้า รวมไปถึงการถวิลหา “ฟ้าสว่าง” แทนที่สภาพปัจจุบัน ซึ่งคิดว่าแม้จะมีความเป็นไปได้อยู่บ้างแต่ผู้บริหารมติชนคงไม่เหิมเกริมถึง ขั้นนั้น อย่างไรก็ตามด้วยชั้นเชิงของคนประพันธ์ที่ยังอ่อนด้อยอยู่ ทำให้การพยายามจะนำเสนออุดมการณ์ทั้งชุดยังไม่ละเมียดละไม ปรากฏเพียงชุดคำสีแดง ที่แยกๆ แตกๆ กันแต่ละบทละวรรคให้พอจับต้องเป็นร่องรอยได้ ถามว่าสังคมประชาธิปไตยแบบเปิดรัฐธรรมนูญรับรอง Right of speech ทำได้ไหม ตอบว่าทำได้ แต่ในมิติทางสังคมวัฒนธรรมแล้วดูยังไงก็ไม่เหมาะสมกับกาละเทศะด้วยประการ ทั้งปวง
       
       ด้าน “เอิน-กัลยกร นาคสมภพ” อดีตนักร้องสาว ได้โพสต์ข้อความพร้อมแสดงความคิดเห็น ระบุว่า “เมื่อใดที่กำกวม แสดงว่ามีความแฝง แต่การเทิดทูนในหลวง ไม่มีความจำเป็นต้องแฝง แถมฝีมือขนาดนี้ หากอยากเขียนดีๆ ก็คงไม่ยาก แต่หากไม่อยากเทิดทูนก็ไม่ได้ว่า เก็บไว้สักวันคงไม่ทุรนทุรายมั้งคะ หรือมันอดไม่ได้ ความอิจฉา ความหมั่นไส้มันเอ่อล้นใจมากใช่มั้ย ...หรือการยั่วอารมณ์คนให้กรุ่น ให้มีปากเสียงกันมันสนุกดี?” พร้อมกับเรียบเรียงบทร้อยกรองใหม่ ระบุว่า
       
       “วันหนึ่งฟ้าสว่าง กระจ่างแจ้ง
       ดั่งแดนดินที่แห้งแล้ง กลับสดใส
       ข้าวกล้านาไร่ ต่างผลิใบ
       สายฝนชโลมใจ มุ่งหมายมา
       วันหนึ่งเมฆคลุ้ม คลุมนคร
       ธ คลายร้อนผ่อนเย็น สิ้นปัญหา
       ทรงสถิตย์ในดวงใจ ปวงประชา
       เห็นแล้วว่าฟ้าสว่าง เป็นอย่างไร”

       
       นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ระบุว่า "สื่อสำนักหนึ่ง ทำทีถวายพระพร แต่ประชดแฝงไว้ตอนท้ายว่า “ฝันว่า ฟ้าสว่าง ดีอย่างไร” นี่มันสื่อมวลชนหรือสื่อมวลชินกันแน่ เมื่อถามก็จะตอบว่า -
       
       “มิใช่ฝัน! นั่นกลางวัน อันบรรเจิด
       ฟ้าพราวเพริศ ไสวสว่างทั้งแหล่งหล้า
       นับแสนล้าน แสนสดใส ใจประชา
       ไหลหลั่งมา เทิดไท้ ให้ไทยเย็น
       
       นี่ความจริง มิใช่ฝัน ดังที่ฝัน
       เนิ่นนานวัน ทรงสร้างสุข ปลดทุกเข็ญ
       ทรงเมตตา ปวงประชา ได้ร่มเย็น
       อย่าถือเช่นใจตัว มามั่วเลย”

       
       นอกจากนี้ ยังมีกวีในเฟซบุ๊กอีกจำนวนหนึ่ง ที่แต่งบทร้อยกรองตอบโต้สื่อในเครือมติชน อาทิ เฟซบุ๊ก “Nakarach กลอนรักชาติ by กวีซีฟู๊ด” ได้แต่งบทร้อยกรอง ระบุว่า
       
       “แด่... ไอ้เศียรชาด
       
       คนตื่นรู้ ฟ้าสว่าง ทางปัญญา คนบอดบ้า หาฝัน กันไม่แจ้ง
       คนสอดซ่อน ความนัย ใจแสดง คนเคลือบแคลง แดงชาด ประกาศใด
       “ฝน” ชุ่ม อุดมดิน ถิ่นไทยแล้ว ด้วยหยาดแก้ว เหงื่อพ่อ ทอมอบให้
       ตาสว่าง ย่อมรู้ อยู่แก่ใจ มืดบอดไร้ ปัญญา ว่าไม่จริง
       
       “เมฆ” ฝนหลวง ปวงไทย ใจทราบดี แล้งไร้นี้ มีฝน ดลเย็นยิ่ง
       น้ำตาชุ่ม ชื่นใจ ได้พึ่งพิง พ่อไม่ทิ้ง ทวยราษฎร์ ชาติประชา
       “ลม” ร้อนเย็น กระแส แค่การเมือง อย่ามาเคือง โทษใส่ ไคล้ท่านหนา
       ถ้า พ่อ มีอำนาจ ดั่งว่ามา ใครนำพา? รัฐไหน? ใช้นำทาง
       
       “ฝัน” ด้วยมืด สามานย์ จะคว่ำฟ้า รีบลืมตา แสงทอง ส่องกระจ่าง
       เหลืองอำพัน ผืนไทย ไม่เคยจาง หวังล้มล้าง ข้างไหน ได้เห็นดี
       “ฟ้าสว่าง” ทางธรรม นำปัญญา มิใช่บ้า คลั่งไคล้ ในสรรสี
       ประโยชน์ชน ส่วนใหญ่ ได้พบมี ล้างกาลี อ้างสี “มติโจร” !!!”

       
       ด้านเฟซบุ๊ก “เตชะ ทับทอง หนึ่งร้อยตัวแทนทำดีเพื่อพ่อ” ได้แต่งบทร้อยกรองตอบโต้มติชนเช่นกัน ระบุว่า
       
       “วันหนึ่งเมฆคลุ้ม กลุ่มเป็นก้อน
       แดงเรื่อร้อนเผาไทย ใคร่ตัณหา
       สร้างทุกข์ ปลดสุข เกลื่อนน้ำตา
       ทุกหย่อมหญ้า สื่อเปลี่ยนแปลง แดงเรื่อยมา
       
       จวบวันนี้ท้องฟ้าสว่าง กระจ่างแจ้ง
       แม้ลมแรง เรารักพ่อ มิห่างหาย
       ข้าวทุกต้น คนทุกไทย ไม่เดียวดาย
       ล้านไทย ใจเพื่อพ่อ หมายมุ่งมา
       
       คงถึงครา ปราบจัญไร ให้พ้นชาติ
       ไทยเลิกขลาด ปรับสร้างชาติ ให้หมดสี
       ร่วมเทิดทูนไทยทุกผู้ ชูคนดี
       สร้างศักดิ์ศรี ไทยพร้อม ให้เป็นไท.”

       
       ขณะที่ผู้ใช้นามว่า “พี่คนดี กวีสมัครเล่น” ได้เขียนกลอนผ่านทางเฟซบุ๊ก P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น) เพื่อตอบโต้ “มติชน” ความว่า
       
       “วันนี้มี เมฆคลุม เพราะกลุ่มโจร
       ที่อยากโค่น แบ่งข้าง สร้างปัญหา
       จิตใจมืด หม่นสลัว มัวในตา
       ทุรยศ บดบังฟ้า ด้วยฝ่ามือ
       
       ฟ้าสว่าง เป็นอย่างไร คงไม่เห็น
       แค่เขียนกลอน ยังซ่อนเร้น เล่นไม่ซื่อ
       เขียนกำกวม ไม่น่าฟัง บังควรฤา
       อย่างนี้หรือ คือร่าย ถวายพระพร
       
       ฟ้าสว่าง กระจ่างใจ ไม่ต้องฝัน
       ถ้าไม่ปัน ใจให้ จัญไรหลอน
       มีเมฆน้อย เมฆหนา ไม่อาทร
       มีลมร้อน ลมเย็น ไม่เป็นไร
       
       ช่างเก่งเหลือ เหนือเมฆ โหวกเหวกกล้า
       คิดจะเหิน เทียบฟ้า หรือไฉน
       คิดจะรวม เมฆคลั่ง บังฟ้าไกล
       อย่าลืมว่า เมื่อเมฆใหญ่ จะตกลง
       
       เพราะว่าฟ้า อย่างไร ก็คือฟ้า
       ไม่มีวันต่ำลงมา อย่าประสงค์
       ใจย่อมรู้ อยู่แก่ใจ ใฝ่จำนง
       ว่าสรรเสริญ หรือยุยง ที่ลงไป
       
       อาเศียรวาท อาจแต่ง เป็นโคลงกลอน
       จากผู้น้อย อำนวยพร ถึงผู้ใหญ่
       เมื่ออ่านดู ได้รู้ซึ้ง ถึงจิตใจ
       รู้ว่าใคร เป็นใคร ได้ระวัง”
       
       ส่วน ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา อดีคคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ของประเทศไทย กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตนอ่านแล้วงง มีข้อสังเกตว่า เป็นบทอาเศียรวาทที่ผิดแผกไปจากขนบการประพันธ์ ถามว่าไม่ทำตามขนบได้ไหม ตอบว่าก็ได้ บทอาเศียรวาทอาจจะไม่ต้องใช้ศัพท์แสงหรูหรา หรือฉันทลักษณ์แบบที่ยาก เช่น สัททุลวิกีฬิตฉันท์ อาจใช้คำง่าย สื่อภาพสื่อความคิดที่จับใจ อาจจะเลือกเขียนเป็นบทร้อยแก้วสั้นๆ เขียนเป็นบทสารคดีสั้นๆ ก็ได้ แต่ด้านเนื้อหา คงต้องดำเนินตามกรอบคือการสดุดี สรรเสริญ ผู้แต่งแต่ละคนสามารถเลือกประเด็นมาเล่าความคิด
       
       “บทอาเศียรวาทใน นสพ.มติชน นี้ มีเนื้อหาคลุมเครือ เนื้อความแบ่งเป็นสองส่วน และใช้สัญลักษณ์ที่ไม่แน่ใจว่าตั้งใจจะสื่อถึงอะไร ท่อนแรกว่า วันหนึ่งฟ้าสว่าง ข้าวนาอุดมสมบูรณ์ ความทุกข์ความโศก (ลมแล้ง) ปลาตหายไป ท่อนที่สอง เนื้อความต่อเนื่อง ทำนองว่า เวลาผ่านไปจนวันหนึ่ง มีเมฆคลุ้ม ซึ่งไม่รู้ว่าผู้แต่งเขาตั้งใจจะให้หมายถึงใคร มีลมร้อนลมเย็นซึ่งก็ไม่รู้อีกเช่นกันว่าจะให้หมายถึงอะไร แต่แน่นอน ต้องหมายถึงสิ่งที่ไม่ดี ที่เข้ามาทำลาย “ฟ้า” ที่เคยสว่าง และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน นอกจากนี้ “เมฆคลุ้ม” นี้ ยังส่งผลให้ “พฤกษ์พุ่มชอุ่ม” นั้น เกิด “ช้ำท่วมน้ำตอ พฤกษ์พุ่มชอุ่มนี้หมายถึงใคร หมายถึงประชาชนหรือ ถ้าใช่ แปลว่าอะไร แปลว่า “ฟ้าคลุ้ม” ในวันนี้ได้ย่ำยีประชาชนให้ได้ทุกข์เช่นนั้นหรือ? และผู้แต่งตบท้ายว่า “ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร” ฟ้าสว่าง ในช่วงท้ายต้องหมายถึงบุคคลเดียวกันกับ ฟ้าสว่าง ในบทแรก ฟ้าสว่างคือใครหรือ ? ผู้แต่งปรารถนาให้ “ฟ้าสว่าง” มาดูแลบ้านเมือง เพราะบอกว่า ฝันว่าฟ้าสว่างนั้นดีอย่างไร อยากให้ “ฟ้าสว่าง” กลับมา” ผศ.ดร.ธเนศ กล่าว
       
       ผศ.ดร.ธเนศ กล่าวอีกว่า ที่พยายามวิเคราะห์แยกแยะนัยยะข้างต้น ไม่ได้ตั้งใจจะบอกว่าผู้แต่งคนนี้ตั้งใจจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเราอาจตีความว่า “ฟ้าสว่าง” หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ “เมฆคลุ้ม” หมายถึง กลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้แก่บ้านเมืองที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็ตาม เนื้อความก็ยังคลุมเครือ สุ่มเสี่ยงต่อการตีความเป็นอื่นให้เกิดความแคลงใจว่าตั้งใจจะสดุดีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือไม่ และสดุดีสรรเสริญประเด็นใดกันแน่ โดยสรุป ช่างเป็นบทอาเศียรวาทที่แปลก อ่านแล้วอึ้ง งง ไม่คุ้นเคย ไม่กล้าชม ไม่กล้าด่า แต่คิดว่า นสพ.มติชนคงไม่กล้าสื่อความหมายหรือน้ำเสียงที่มีนัยลบอย่างโจ่งครึ่มแน่นอน ซึ่งตนคิดในแง่ดี แม้ว่ายังตะขิดตะขวงใจเมื่ออ่านบทประพันธ์นี้ทวนซ้ำไปซ้ำมา
       
       ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเนชั่น ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของบทอาเศียรวาทเนื่องใน วโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มติชนเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาโดยละเอียดแล้วพบว่าผู้ประพันธ์มีเจตนาที่จะส่อเสียด หรือก่อให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันไปมากกว่าจะเป็นถวายพระพรตามปกติ เหมือนที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่คนอ่านแล้วจะเข้าใจความหมาย ถือเป็นการกระทำที่แยบยลของผู้ประพันธ์ เช่น คำว่าฟ้า ในวรรคที่หนึ่งดูเหมือนจะมีความหมายถึงในหลวง แต่พอวรรคท้ายกลับมีการตั้งคำถามว่าฟ้าดีอย่างไร หรือคำว่าฝนในวรรคที่สี่ ซึ่งน่าจะทำให้ลมแล้งหายไปกลับกลายเป็นปัญหาในวรรคที่ห้า
       
       ดร.อนันต์ กล่าวอีกว่า บทประพันธ์นี้ตั้งแต่วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่ไม่มีปัญหา เพราะเหมือนจะสื่อว่าในหลวงคือฟ้าสว่างที่นำเอาฝนมาให้ข้าวในนาได้งอกงาม แต่พอเริ่มวรรคห้าที่ว่าลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา จึงเกิดคำถามว่าแล้วฝนที่มาจากฟ้าหรือจากในหลวง เหตุใดจึงทำให้เกิดปัญหา วรรคที่ห้านี้พลิกความหมายที่ปูมาตั้งแต่วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่แบบหน้ามือเป็น หลังมือ กลายเป็นว่าฟ้าสว่างทำให้เกิดปัญหา จากนั้นก็ตามด้วยพฤกษ์ชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา กลายเป็นต้นข้าวถูกน้ำท่วมซ้ำ สุดท้ายก็ตั้งคำถามว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร ไม่มีตรงไหนที่จะบอกว่าเป็นบทประพันธ์ที่ถวายพระพรเลย ซึ่งบทประพันธ์นี้หากนำออกไปตีพิมพ์เดี่ยวๆโดยตัดคำว่าอาเศียรวาทออกไป คนอ่านจะไม่รู้เลยว่านี่คือบทประพันธ์ถวายพระพร ยิ่งหากดูบริบทอื่นๆประกอบ เช่น บทความหรือข้อเขียนต่างๆ ในหนังสือพิมพ์มติชนที่มีแนวทางเช่นนี้ ก็จะยิ่งเห็นว่าบทประพันธ์เจตนาอย่างไร
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้เพิ่มเติมข้อความในคำชี้แจงกรณีอาเศียรวาท ระบุว่า “อนึ่ง ที่ยังมีข้อสงสัยต่อความหมายในบาทสุดท้าย ที่ว่า “ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร” นั้น หากติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ย่อมเห็นแล้วว่า ปัจจุบันมีปัญหามากมาย ที่ทำให้คนส่วนมากเดือดเนื้อร้อนใจ มีแต่คนส่วนมากเรียกร้องความสงบสุขในสังคม เพื่อจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน เช่นนี้แล้ว ทำไมจึงจะไม่คิดถึงล่ะว่าวันที่ฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งนั้นดีอย่างไร วันที่ธรรมชาติดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามฤดูกาล ไร่นาประชาชนสมบูรณ์ วันที่พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ปราศจากฝุ่นละอองใดๆ มาแผ้วพาน”


"มติชน"แจงบทอาเศียรวาท

จาก POST TODAY

มติชนแจงยิบกรณี "อาเศียรวาท" หลังถูกชาวเน็ตวิจารณ์แซ่ดมีข้อความกำกวมไม่เหมาะสม ขณะที่กลอนตอบโต้ว่อนเฟซบุ๊ก

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. กองบรรณาธิการมติชน ได้เผยแพร่ คำชี้แจง"มติชน" กรณี "อาเศียรวาท" ผ่าน เว็บไซต์matichon.co.th โดยระบุว่า

สืบเนื่องจากมีผู้ตั้งคำถามต่อบทอาเศียรวาท ที่ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาว่ามีความหมายอย่างไร มีความกำกวมไม่เหมาะสมหรือไม่

บทอาเศียรวาท มีเนื้อความดังนี้

วันหนึ่งฟ้าสว่างกระจ่างแจ้ง  ลมแล้งในใจไห้โหยหาย
ข้าวกล้านาไร่ได้กลิ่นอาย  ยามฝนขวนขวายมุ่งหมายมา
วันหนึ่งเมฆคลุ้มเป็นกลุ่มก้อน  ลมร้อนลมเย็นเป็นปัญหา
พฤกษ์พุ่มชอุ่มช้ำท่วมน้ำตา  ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร

ต่อไปนี้ คือคำอธิบายจากผู้ประพันธ์บทอาเศียรวาทดังกล่าว

"....อาเศียรวาทสองบทนี้ มีความหมายตรงตามตัวอักษรทุกประการ ด้วยวิธีการเขียนบทกวีที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพ จึงใช้วันฟ้าสว่างกับวันฟ้ามืดครึ้ม

วันฟ้าสว่างนั้นแม้แต่ลมแล้งในใจผู้คนที่โหยไห้ก็ยังหาย ข้าวกล้านาไร่ยังได้กลิ่นอายฝนที่มุ่งหมายมาตกต้องตามฤดูกาลย่อมหมายถึงความ สว่างในพระบรมเดชาเมตตาบารมี ที่ปกเกล้าพสกนิกรและทุกสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากพระวิริยะอุตสาหะเช่นฟ้าฝน ชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำอันยังประโยชน์สม่ำเสมอแก่ไร่นา

ดังนั้น เมื่อมีวันมืดครึ้ม ซึ่งแม้แต่ธรรมชาติปัจจุบันเช่นที่เห็นกันก็ผันผวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นเป็นปัญหา
จึง มีหรือที่จะไม่นึกฝันถึงวันฟ้าสว่าง วันที่กระจ่างแจ้งร่มเย็นอยู่ในพระบรมโพธิสมภาร ว่าดีอย่างไร ดีขนาดไหน คือความหมายซึ่งอธิบายได้ตามตัวอักษรทุกวรรคตอน

อนึ่ง ที่ยังมีข้อสงสัยต่อความหมายในบาทสุดท้าย ที่ว่า"ฝันว่าฟ้าสว่างดีอย่างไร" นั้น

หากติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา ย่อมเห็นแล้วว่า ปัจจุบันมีปัญหามากมาย ที่ทำให้คนส่วนมากเดือดเนื้อร้อนใจ มีแต่คนส่วนมากเรียกร้องความสงบสุขในสังคม เพื่อจะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน

เช่นนี้แล้ว ทำไมจึงจะไม่คิดถึงล่ะว่าวันที่ฟ้าสว่างกระจ่างแจ้งนั้นดีอย่างไร

วันที่ธรรมชาติดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามฤดูกาล ไร่นาประชาชนสมบูรณ์ วันที่พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ปราศจากฝุ่นละอองใดๆ มาแผ้วพาน"

กองบรรณาธิการหวังว่า คำอธิบายความหมาย สัญลักษณ์ และเจตนาของผู้ประพันธ์ น่าจะสร้างความกระจ่างและทำให้เกิดการตีความที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของ ผู้ประพันธ์

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. เครือข่ายสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตได้มีการวิพากษ์วิจารณ์บทอาเศียรวาท ดังกล่าวที่ตีพิพม์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 ธ.ค.อย่างกว้างขวาง โดยแสดงความเห็นว่า บทอาเศียรวาทดังกล่าวมีการใช้ข้อความที่กำกวมและไม่เหมาะสม ขณะที่ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของมติชนได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการ ชี้แจงของมติชนจำนวนมาก โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กได้มีการถกเถียงถึงการตีความในบทอาเศียรวาทดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงได้โพสต์กลอนตอบโต้มติชนบนเฟซบุ๊กส่วน ตัว  อาทิ  “บิลลี่ โอแกน” ดารานักร้องชื่อดัง,นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.),  เอิน-กัลยกร นาคสมภพ” อดีตนักร้องสาว


"จิตตนาถ" ตอก "มติชน" โยนบาปคนอ่านอคติ ย้ำปัญหาบทอาเศียรวาทอยู่ที่ "ทัศนคติ" ผู้บริหาร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการออนไลน์-ซีอีโอASTVผู้จัดการ “จิตตนาถ ลิ้มทองกุล” ย้ำ “บทอาเศียรวาท” กรณีปัญหาของมติชนบ่งบอกถึง “ทัศนคติ” ของผู้บริหารสื่อค่ายนี้ ตอก“ฐากูร บุนปาน” โยนบาปคนอ่านอคติ ทั้งที่ที่ผ่านมานำเสนอข่าวทั้ง ม.112 และ เป็นกระบอกเสียงให้นักการเมือง-ทุนสามานย์ชัดแจ้ง

       
       จากกรณีหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 5 ธ.ค. ตีพิมพ์บทอาเศียรวาท ซึ่งต่อมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งผู้ที่รอบรู้เรื่องคำกลอนแต่งกลอนสอนมติชนถึงความไม่เหมาะสมที่สื่อค่าย นี้ปล่อยให้มีการตีความบทอาเศียรวาทที่ดูเหมือนเจตนาให้เกิดความคลุมเครือ กำกวมและส่อเสียด ต่อมาผู้บริหารค่ายมติชนได้ออกแถลงการณ์ในนามกองบรรณาธิการมติชนชี้แจงแต่ก็ ไม่สามารถต้านทานกระแสได้ ( จวกยับ “มติชน” อาเศียรวาทกำกวม-ไม่เหมาะสม แจงวุ่นยันเปรียบเทียบ “ฟ้าสว่าง” กับ “ฟ้าครึ้ม” )
       
       จนกระทั่งนายฐากูร บุนปาน ผู้บริหารค่ายมติชน และ คอลัมนิสต์ ต้องออกมาให้สัมภาษณ์โดยระบุเป็นความอคติของคนอ่าน ("ฐากูร บุนปาน" ความหมายและเจตนา บทอาเศียรวาท "มติชน" )
       
       นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือASTVผู้จัดการ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตำแหน่งงานทางสืิ่อใกล้เคียงกับนายฐากูร แต่อยู่คนละค่ายกันอยากจะให้ความเห็นในการที่นายฐากูรออกมาปกป้องเครือมติชน แล้วโยนบาปว่าคนอ่านมีอคตินั้น ที่จริงปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทัศนคติคนอ่าน หากอยู่ที่ทัศนคติของผู้บริหารเครือมติชนต่างหาก
       
       ทั้งนี้ เรื่องใช้สีมาทำให้เกิดอคตินั้นคนทั่วไปเขาไม่มีกันวันที่ 5ธ.ค. ชาวไทยใส่กันอยู่สีเดียวจนแผ่นดินไทยสว่างไวไปหมดจะมีก็แค่คนบงกลุ่มโดย เฉพาะนักวิชาการนักคิดนักเขียนที่คิดว่าตัวเองหัวก้าวหน้า หรือพวกซ้ายอกหักที่สิงสู่กันอยู่ในเครือมติชนรู้สึกเดือดร้อนทุรนทุราย ที่เห็นว่าคนไทยโหยหาจงรักในหลวงขนาดไหน
       
       คนพวกนี้ไม่สามารถที่จะรับสีที่คนไทยทุกคนพร้อมใจกันใส่ตามสีประจำ วันเกิดพระองค์ท่านได้ ที่เห็นชัดเลยคือแบ็คกราวข้างหลังบทอาเศียรวาทประชดของเครือนี้ พยายามใส่สีอะไรลงไปทั้งๆที่สำนักพระราวังได้กำหนดโทนสีในวโรกาสนี้ไว้แล้ว
       
       และที่ผ่านมาทุกคนประจักษ์ในแนวทางของมติชนอยู่แล้วว่ามีแนวคิดอย่าง ไร อย่างกรณีม.112 หรือการเป็นกระบอกเสียงให้นักการเมืองและทุนสามานย์โดยพยายามบิดเบือนข้อ เท็จจริงทุกเรื่อง
       
       คุณฐากูรกำลังดูถูกสติปัญญาของคนไทย ที่ตอนนี้มีพากันเขียนกลอนสอนมวยเครือมติชนอย่างมากมายในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งๆเรืองนี้สื่อหลักไม่ได้มีการนำเสนอ
       
       ขอย้อนกลับไปถึงคนมติชนว่า คุณจะแถอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่าคุณรู้อยู่แก่ใจว่าแท้จริงแล้วคุณคิดและทำอะไร อยู่ ไม่มีใครหลอกตัวเองได้
       
       วันนี้ฟ้าเมืองไทยสว่างแล้ว ไม่ใช่ความฝันแต่เป็นความจริง คนที่ดีหมดความอดทนที่จะเห็นความอยุติธรมเห็นความชั่วครองมือง เห็นกษัตริย์ที่เรารักถูกให้ร้าย ประชาชนทุกคนไม่ได้คลั่งเจ้าอย่างงมงายแบบที่มติชนเคยเอามาทำเป็นปกในสุด สัปดาห์ หากแต่ประจักษ์แจ้งและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงคำสอนของท่าน พิสูจน์แล้วว่าเป็นธรรมจริงแท้ ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งชัดเจน
       
       คนไทยกำลังตาสว่างใจสว่าง มนต์สามานของกลุ่มทุนการเมืองกำลังเสื่อม และเช่นเดียวกับเครือมติชนที่เป็นส่วนหนึ่ง กล่าวคือ เป็นกระบอกเสียงของมนต์ดำนั้นก็กำลังเข่าสู่ยุคเสื่อมถอย


บทอาเศียรวาท จากออนไลน์ถึงมติชน

จาก โพสต์ทูเดย์

ประท้วง"บทอาเศียรวาท" เสียงสะท้อนจากโลกออนไลน์ถึงมติชน

ภายหลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ถึงบทอาเศียรวาทที่หนังสือ พิมพ์มติชนเผยแพร่ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. ว่าเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ตีความได้หลายแง่มุม

แม้ว่าหนังสือพิมพ์มติชนจะออกคำชี้แจงต่อบทอาเศียรวาทดังกล่าวเมื่อวัน ที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถคลายข้อเคลือบแคลงแก่ประชาชนบางกลุ่มได้ ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 7 ธ.ค. กลุ่มประชาชนประมาณ 20 คน ได้นัดหมายรวมตัวกันหน้าบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เพื่อวางพวงหรีดแสดงออกถึงความไม่พอใจ ใช้เวลาชุมนุมประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วแยกย้ายกันกลับเวลาประมาณ 16.00 น.

สมนึก คำผ่อง เจ้าของธุรกิจส่วนตัว หนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม กล่าวว่า การมาประท้วงหนังสือพิมพ์มติชนในครั้งนี้เป็นการมาตามกระแสชักชวนในเฟสบุ๊ค มาโดยไม่มีแกนนำและไม่ได้รู้จักกันมาก่อน มาเพราะอ่านบทอาเศียรวาทแล้วรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง จึงนัดหมายกันผ่านเฟสบุ๊คประมาณ 4 ทุ่มของคืนวันที่ 6 ธ.ค. ว่าอยากจะมารวมตัวกันร้องเพลงกระตุ้นจิตสำนึกรักในหลวงที่หน้าบริษัทมติชน

“พยายามอ่านและตีความให้เป็นข้อความที่แล้ว แต่มันก็ไม่ใช่ ปกติบทอาเศียรวาทจะใช้คำที่สวยงาม ฟังแล้วสวยงามเข้าใจง่าย แต่บทอาเศียรวาทนี้ไม่น่าจะแต่งออกมาแบบนี้ การแต่งกลอนมันแต่งออกมาจากจิต ถ้าจิตไม่ดี กลอนก็ออกมาไม่ดี” สมนึกกล่าว

ด้าน กันย์สินี วงศ์ตั้งเจริญ หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางมาจาก จ.นครปฐม กล่าวว่า ต้องการเดินทางมาแสดงความไม่พอใจ เพราะนั่งอ่านบทอาเศียรวาททีละประโยคแล้ว ก็ยังสงสัยในประโยคสุดท้าย

“พระองค์ท่านทรงงานหนักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังมีอะไรต้องสงสัยอีก”กันย์สินี กล่าว

กันย์สินี ย้ำว่า แม้การมาแสดงจุดยืนต่อมติชนครั้งนี้จะมีผู้มาร่วมน้อย เพราะเป็นการนัดอย่างฉุกละหุก เป็นวันทำงานและอยู่ในชั่วโมงทำงาน คนจำนวนเท่านี้ไม่ทำให้หนังสือพิมพ์สะดุ้งสะเทือน แต่เชื่อว่าปรากฎการณ์นี้จะมีการนำไปขยายต่อในแวดวงโลกออนไลน์แน่นอน

“คุณจะทำอะไรเราไม่ว่า แต่อย่าด่าพ่อ”กันย์สินี สรุป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฐากูร บุนปาน แจงผ่านทีวี บทอาเศียรวาท มติชน อย่าตีความ เหาะเกินลงกา

view