สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

80ปีรัฐธรรมนูญความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

80ปีรัฐธรรมนูญความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

10 ธ.ค. 2555 ครบรอบ 80 ปี ของการมีรัฐธรรมนูญของไทยนับตั้งแต่ฉบับแรก พ.ศ. 2475 ซึ่งปรากฏว่าสังคมไทยยังล้มลุกคลุกคลานกับรัฐธรรมนูญนับ 18 ฉบับ และยังมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ไม่รู้ว่าจะจบลงที่จุดใด และเมื่อใด กว่าจะถึงจุดสมดุลลงตัวของคนทั้งประเทศ ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เห็นว่า 80 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญมีพัฒนาการมากขึ้นจากการที่มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.รัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการที่ประกาศใช้ชั่วคราวหลังปฏิวัติ 2.รัฐธรรมนูญกึ่งประชาธิปไตย เช่น ให้อำนาจวุฒิสภาเทียบเท่าสภาผู้แทนราษฎร และ 3.รัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ คือ รัฐธรรมนูญปี 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่ให้สิทธิประชาชน และต่อมารัฐธรรมนูญปี 2540 ที่นอกจากเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว ยังมีเรื่องกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. รวมไปถึงองค์กรอิสระในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจการเมือง

“แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระจนไม่สามารถดำเนินการได้ จนเกิดรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเรื่องสิทธิเสรีภาพถือว่าดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะมีเสียงต่อต้านเรื่องที่มา แต่ประชาชน 14 ล้านเสียง ก็ให้ความเห็นชอบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่บางฝ่ายต้องการแก้ไข เช่น เรื่องโทษของกรรมการบริหารพรรคที่ส่งผลให้ยุบพรรคการเมือง” อาจารย์ธีรภัทร์ กล่าว

จากนั้น ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสริมในภาพใหญ่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อาจนำมาสู่ความขัดแย้งว่า สาเหตุที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นมีปัญหา เพราะไม่มีการระบุวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเอาไว้ให้ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไข ดังนั้นควรจะต้องไปทำกลไกการแก้ไขให้ถูกต้องชัดเจนเสียก่อน โดยให้ทุกฝ่ายลดละความขัดแย้ง

“ควรให้การพิจารณาวาระ 3 ที่ยังค้างอยู่ด้วยการลงมติให้ตกไปก่อน จากนั้นค่อยมายกร่างกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจนว่าใช้เสียงเท่าไหร่ ใช้วิธีใด โดยระบุชัดไปเลยว่าต้องมีการทำประชามติก่อนยกร่างทั้งฉบับหรือไม่ หรือจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มารับหน้าที่ยกร่างอย่างไรก็ว่ากันไป เพื่อให้เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง เรื่องนี้ควรถือคติช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม อย่าเดินหน้าไปตกหลุมความขัดแย้ง” ประธานสภาพัฒนาการเมือง ระบุ

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายชัดเจนว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่สังคม องค์กรที่นำไปปฏิบัติ โดยรัฐธรรมนูญที่ดีประชาชนต้องมีความเชื่อถือต่อสิทธิของประชาชนภายใต้รัฐ ธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาการแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเชื่อถือของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้รัฐธรรมนูญเข้าไปอยู่ในใจประชาชนได้

อาจารย์กิตติศักดิ์ บรรยายเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ยังอยู่ในรูปลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีรัฐบาลไหนส่งเสริมการทำความเข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลต้องส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ในหมู่ประชาชน ให้เข้าใจในสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

“ตราบใดที่คนยังไม่เข้าใจในเนื้อหา รัฐธรรมนูญก็จะเป็นช่องทางให้คนที่มีอำนาจมาแสวงหาประโยชน์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองเข้ามาหาประโยชน์ ไม่ได้มีไว้ปกป้องสิทธิของประชาชน เป็นข้ออ้างที่นำมาสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องนู่นนี่นั่น ที่ผ่านมาการเรียกร้องประชาธิปไตยเรื่องรัฐธรรมนูญ คนส่วนใหญ่ยังไปสนใจที่บุคคลผู้ที่ออกมาเรียกร้อง มากกว่าสนใจในหลักการ” ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนความขัดแย้งนั้น นักวิชาการนิติศาสตร์รายนี้มองว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็เป็นชนวนเรื่องความขัดแย้งได้ แต่ถ้าถามว่าประชาชนเชื่อมั่นต่อรัฐธรรมนูญแค่ไหน ต้องย้อนไปดูว่าประชาชนเชื่อมั่นต่อผู้แทนราษฎรแค่ไหน ถ้าเชื่อมั่นมากก็จะเชื่อมั่นต่อรัฐธรรมนูญมาก แต่หากเชื่อมั่นต่อผู้แทนราษฎรลดลง ความเชื่อมั่นต่อรัฐธรรมนูญลดลง เพราะผู้แทนฯ เป็นส่วนหนึ่งที่มาจากรัฐธรรมนูญ

สอดคล้องกับ รศ.ดร.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมาประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่ามีผลต่อวิถี ชีวิตอย่างไร แม้หลังเหตุการณ์เดือนตุลา 2515-2516 ซึ่งมีขบวนการนิสิตนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว แต่หลังจากนั้นผ่านมา 40 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญ มีเข้าใจกันเฉพาะที่เรียนในหลักสูตรวิชารัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

“เมื่อประชาชนไม่เข้าใจในเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือรองรับความชอบธรรมของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะ ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ” นักวิชาการด้านการเมือง ระบุ

ในเรื่องของความเป็นเครื่องมือทางการเมือง รศ.ดร.ตระกูล ขยายความไปถึงคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลในการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อาจเป็นเพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างมติมหาชนเท่านั้น มากกว่าการทำให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญ

“ที่ผ่านมาปัญหาการเมืองไทยเกิดการต่อสู้ของกลุ่มอำนาจทางการเมือง โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจทางการเมือง หากยังเดินหน้าเพียงเพื่อเป้าหมายที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ย่อมนำไปสู่วงจรเดิมๆ ที่มีคนออกมาต่อต้านคัดค้าน”อาจารย์ตระกูล ทิ้งท้าย


เรเมืองเรื่อง "รัฐธรรมนูญ" วังวนแห่งความขัดแย้ง

จาก โพสต์ทูเดย์

10 ธ.ค.ของทุกปี เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวันรัฐธรรมนูญ ในด้านพัฒนาการของรัฐธรรมนูญของไทยตลอด 80 ปีที่ผ่านมา

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้ามองในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็ได้ รับการแก้ไขปรับปรุงให้มีทิศทางที่ดีขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะการมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

สิ่งที่ได้รับการปรับปรุงอย่างชัดเจนที่สุดคือ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และ ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล

รัฐธรรมนูญ 2540 วางแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่ต้องยึดหลัก “ความเท่าเทียมกัน” โดยความเท่าเทียมกันนี้รัฐมีหน้าที่กระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรม เช่น การให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ หรือการให้ประชาชนได้รับโอกาสในที่ดินทำกินเพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองโดย ไม่ต้องเป็นภาระของประเทศ เป็นต้น

ส่วนระบบการตรวจสอบถ่วงดุล รัฐธรรมนูญไทยถูกออกแบบให้ฝ่ายการเมืองในฐานะผู้เข้าสู่อำนาจรัฐต้องผ่านการ กลั่นกรองอย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้บุคคลที่ดีมีความสามารถปราศจากผลประโยชน์ ทับซ้อนเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

จนกลายเป็นที่มาของการเกิดองค์กรตามรัฐธรรมนูญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังจะเห็นได้จากในอดีตที่ผ่านมามีหลายคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้อง ตกเก้าอี้เพราะระบบนี้มาแล้ว

แม้ว่าในช่วงหนึ่งประเทศไทยจะได้ขึ้นชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญที่ดีสุดฉบับ หนึ่งของโลกภายหลังการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และเป็นความหวังว่าประเทศไทยจะได้ไม่ต้องกลับไปอยู่วังวนของความขัดแย้ง รุนแรงเหมือนเหตุการณ์เดือน ต.ค. 2514 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

แต่สุดท้ายความขัดแย้งก็เกิดขึ้นอย่างฝังรากลึกโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนจนนำมาสู่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ได้บรรยายเอาไว้ในหนังสือ “พิศรัฐธรรมนูญ” ของสถาบันพระปกเกล้า ถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540ว่ามีด้วยกัน 4 ประการ คือ 1.ปัญหาการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 2.ปัญหาเรื่องการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม 3.การขาดคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ 4.ปัญหาการแทรกแซงองค์กรตรวจสอบทำให้ระบบตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นฉบับที่18 จึงมีเจตนารมณ์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อลดช่องโหว่ของกฎหมายที่ เป็นปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่ที่ “การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นธรรม” ก่อนกลายเป็นที่มาของข้อกำหนดหลายประการ ดังตัวอย่างพอสังเขปต่อไปนี้

การกำหนดวาระนายกรัฐมนตรีให้อยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี

การให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาวินิจฉัยการออกพระราชกำหนดทางการเงิน ของรัฐบาลได้เพื่อไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีวินัยการคลัง

การยุบพรรคการเมืองในกรณีที่มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การห้ามไม่ให้ สส. และ สว. เข้าไปแทรกแซงส่วนราชการเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

การห้ามไม่ให้รัฐบาลไปลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศที่อาจมีผลผูกพันกับประเทศไทยโดยพลการโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยได้บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มาเป็นเวลาประมาณ 5 ปี ปรากฏว่าความขัดแย้งก็ไม่ได้ลดลงเมื่อฝ่ายการเมืองมีความพยายามต้องการจะ แก้ไขเพราะเห็นว่า“ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นมรดกของการรัฐประหาร”

ความพยายามของฝ่ายการเมืองในเรื่องนี้เองได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตการเมือง เห็นได้ชัดในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการแก้ไขพุ่งเป้าที่มาตรา 309 เพื่อไม่ให้มีการนิรโทษกรรมการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

ทว่ากลับถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เห็นว่ามีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องถูกดำเนินคดีการทุจริต ความขัดแย้งถูกยกระดับบานปลายจนกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลอย่างยาวนานจนในที่ สุดเกิดการเปลี่ยนขั้วการเมือง

กระนั้น ใช่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้น โดยในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถดำเนินการได้สำเร็จใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่1.การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากระบบสัดส่วนตามกลุ่มจังหวัด และระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์มาเป็นระบบบัญชีรายชื่อและเขตเดียวเบอร์เดียว และ 2.มาตรา 190 กำหนดประเภทหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา

มาในขณะนี้ กลุ่มอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงความพยายามอีกครั้งในการล้มรัฐธรรมนูญ 2550 โดยจะเริ่มเดินเครื่องจริงจังนับจากวันนี้เป็นต้นไป โดยก่อนหน้านี้ถูกเบรกมาแล้วด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า “การแก้ไขทั้งฉบับต้องผ่านการประชามติ”

เป็นผลให้พรรคเพื่อไทยเบนเข็มมาใช้แนวทางการแก้ไขเป็นรายมาตรา และมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มจากมาตราที่เป็นขวากหนามก่อน เช่น มาตรา 68 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยเกือบทำให้รัฐบาลต้องม้วนเสื่อมาแล้ว

มาตรา 237 เพื่อตัดตอนไม่ให้ยุบพรรคการเมืองได้ง่าย ก่อนที่จะค่อยๆ ดำเนินการเซาะในมาตราอื่นๆ ด้วยพลังของเสียงข้างมากในรัฐสภากว่า300 เสียง

แผนทั้งหมดนี้จะเริ่มขึ้นทันทีที่รัฐสภาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ในวันที่ 21 ธ.ค. พร้อมๆ กับการเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ไปในตัว เนื่องจากยังมีความแคลงใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นส่วนหนึ่งที่ปลด พันธนาการให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ ซึ่งคงหนีไม่พ้นความขัดแย้งระลอกใหม่ที่จะตามมา

ที่สุดแล้วเห็นได้ว่าบทเรียนที่ผ่านมาไม่ได้ช่วยอะไรเลย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 80ปีรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้ง ไม่สิ้นสุด

view