สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินฝืด-เยนแข็ง-ศก.จ่อถดถอย บีบ บีโอเจ ออกนโยบายเชิงรุก

จาก โพสต์ทูเดย์

นอกเหนือจากที่ทั่วโลกจะต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ยุโรป และจีนแล้ว

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

อีกหนึ่งที่ไม่สามารถละสายตาได้เลยก็คือ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์หน้าที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำเป็นคนที่ 7 ในรอบ 6 ปี รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินต่างๆ ที่จะเปลี่ยนผันไปด้วย

ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาวะเศรษฐกิจดินแดนอาทิตย์อุทัยต้องจมอยู่กับปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะที่สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ปัญหาเงินฝืด ค่าเงินเยนที่แข็งค่ามากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจและภาคการส่งออกของประเทศอย่าง หนัก และปัญหาล่าสุดก็คือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีก ครั้งในปีนี้ หลังจากที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 หดตัวลงเกือบ 1% ขณะที่การขาดดุลการค้าในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ก็พุ่งสูงสุดในรอบ 33 ปี ที่ 5.49 แสนล้านเยน

ภาวะปัญหาต่างๆ ที่ดาหน้ากันเข้ามารุมเร้าญี่ปุ่นอย่างหนักนี้เอง จึงกลายเป็นแรงบีบคั้นและกดดันให้ญี่ปุ่นต้องเร่งงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นและช่วยกอบกู้วิกฤตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จำนวนมาก ส่วนทางฝั่งธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็เพิ่งจะประกาศขยายมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มอีก 11 ล้านล้านเยน (ราว 4.1 ล้านล้านบาท) ในช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ยอดการเข้าซื้อสินทรัพย์รวมทั้งหมดพุ่งไปอยู่ที่ 91 ล้านล้านเยน (ราว 33.21 ล้านล้านบาท) ถือเป็นการใช้มาตรการกระตุ้นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน ที่ บีโอเจ ทำเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี

พร้อมกันนี้ บีโอเจได้ออกมาตรการปล่อยสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ไม่ จำกัดจำนวน โดยวางเงินทุนปล่อยกู้เบื้องต้นไว้ก่อนที่ 15 ล้านล้านเยน พร้อมกับออกแถลงการณ์ร่วมกับกระทรวงการคลังในการช่วยกันผลักดันให้เศรษฐกิจ ประเทศก้าวพ้นจากภาวะเงินฝืดให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก

ล่าสุด กิโยฮิโกะ นิชิมูระ รองผู้ว่าการบีโอเจ ได้ออกมากล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า จะขยายระยะเวลาการใช้โครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปี 2013 ออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด แต่มีข้อแม้ว่าเงินเฟ้อจะต้องไม่เกินเพดานที่ 1% ่พร้อมกันนี้ยังออกมาแย้มว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเติม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเดินมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง แล้ว ทำให้เกิดการตีความกันไปว่าในการประชุมบีโอเจในวันที่ 19–20 ธ.ค.นี้ น่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติมอีก

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงระยะหลังทางธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มหันมาดำเนินนโยบายการแก้ปัญหา เศรษฐกิจในเชิงรุกมากขึ้น แต่เมื่อลองพินิจพิจารณาดูจากภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เป็นอยู่ท่ามกลาง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้นดูเบาเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาที่เป็นอยู่ จนสร้างความผิดหวังให้กับเหล่านักลงทุนจำนวนมาก

กล่าวให้เห็นภาพชัดก็คือ เปรียบบีโอเจเป็นหมอกำลังตรวจอาการคนไข้ที่ทรุดหนัก แต่กลับวินิจฉัยอาการของโรคผิด แถมการจัดชุดให้ยารักษาก็ดูจะเบาเกินกว่าอาการที่เป็นอยู่จริง ดังเห็นได้จากการที่ บีโอเจออกมาตรการปล่อยสินเชื่อไม่จำกัดจำนวนดังกล่าว ทว่าปัญหาที่แท้จริงของญี่ปุ่นกลับไม่ได้อยู่ที่เรื่องของการปล่อยกู้และ สภาพคล่องของภาคธนาคาร เพราะปัญหาจริงๆ อยู่ที่เงินฝืด จนเป็นเหตุทำให้ความต้องการสินเชื่อและการบริโภคที่ลดลงต่างหาก

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ภาคแบงก์ไม่สามารถปล่อยให้กู้ได้ แต่อยู่ที่การขาดความต้องการในการขอกู้มากกว่า ซึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาเงินฝืดและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเยนที่สูงมาก” มาซายูกิ กิชิกาวะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นของธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อนำมาตรการที่บีโอเจออกมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา ไปเปรียบเทียบกับการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจของบรรดาธนาคารกลางจากที่ อื่นๆ ที่ใช้แนวทางในเชิงรุกมากกว่า จะพบทันทีว่าสิ่งที่บีโอเจทำอยู่ไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่งที่ประเทศอื่นๆ ทำออกมาเพื่อแก้ปัญหาเลย

อาทิ การประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ไปแล้วถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมาตรการคิวอีครั้งที่ 3 ล่าสุดเป็นการประกาศเข้าซื้อสินทรัพย์ไม่จำกัดระยะเวลา ตั้งเป้าที่เดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) ขณะเดียวกันก็ประกาศให้คงอัตราดอกเบี้ยต่ำ 00.25% ยาวไปจนถึงปี 2015 พร้อมกับยืดระยะเวลาการใช้มาตรการขายคืนพันธบัตรระยะสั้น และรับซื้อพันธบัตรระยะยาว หรือโอเปอเรชัน ทวิสต์ ไปจนถึงสิ้นปี 2012 นี้ และมีแนวโน้มว่าจะได้รับการต่ออายุไปอีก 1 ปีด้วย

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ได้หันมาประกาศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการหั่นดอกเบี้ยลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% และล่าสุดก็คือการออกโครงการเข้าซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลในประเทศที่ประสบ ปัญหาหนี้ เพื่อดึงอัตราผลตอบแทนที่สูงให้ลดลงมา และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ได้ประกาศใช้มาตรการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว 3 ปีโดยไม่จำกัดจำนวน (แอลทีอาร์โอ) เป็นครั้งที่ 2 รวมกว่า 1.01 ล้านล้านยูโร (ราว 39 ล้านล้านบาท)

ด้วยมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายในเชิงรุกที่เป็นการแหวกข้อจำกัดการ ดำเนินนโยบายการเงินแบบเดิมๆ ในการคุมเงินเฟ้อและดูแลรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนของเฟดและอีซีบี ที่ระดมออกมาอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ ล้วนพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่ามีส่วนสำคัญในการฉุดรั้งสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่ย่ำแย่ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่มีความหวังอีกครั้ง

แต่ในทางกลับกัน บีโอเจไม่กล้าและลังเลที่จะดำเนินนโยบายที่จะแหวกจากกรอบเดิมๆ ไม่เพียงเท่านั้น บีโอเจปล่อยให้หน้าที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจตกไปอยู่ในมือของนโยบายการคลัง ที่ควบคุมโดยรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวจนสร้างหนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น จนปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในอันดับต้นๆ ของโลก โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะพุ่งขึ้นไปอยู่ 240% ต่อจีดีพี

ด้วยเหตุนี้ บีโอเจจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั่วทุกสารทิศ และไม่แปลกที่หลายฝ่ายจะพยายามเข้ามากดดันให้บีโอเจกล้าที่จะดำเนินนโยบายใน เชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ในขณะนี้มากขึ้น อาทิ ข้อเสนอจากพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่นำโดย ชินโสะ อาเบะ ตัวเต็งที่จะคว้าชัยในการเลือกตั้งวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ได้ประกาศแล้วว่า หากได้รับเลือก จะกดดันให้บีโอเจผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น และปรับเพดานเงินเฟ้อขึ้นไปที่ 2% จากเดิมที่ 1% เพื่อเปิดช่องให้กระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น

ขณะที่มุมมองเหล่านักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจกลายฝ่ายก็ยัง มองว่า สิ่งที่บีโอเจทำนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เบาเกินไป แต่ยังเป็นการขยับตัวเพื่อหันมาลุยแก้ปัญหาที่ล่าช้าเกินไปอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาเงินฝืด ที่บีโอเจควรจะเข้ามาแก้ไขด้วยการจัดตั้งกองทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ของรัฐบาล และหลักทรัพย์อื่นๆ ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มดำเนินการในปี 2010 ซึ่งต่างจากเฟด ที่เร่งดำเนินการทันทีที่รู้ว่าเศรษฐกิจมีปัญหาและมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ ไม่เลวร้ายลงไปมากกว่าเดิม

“การดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของบีโอเจช้าและก็ทำช้าเกินไป อีกทั้งการเข้าซื้อสินทรัพย์ก็ควรที่จะเริ่มดำเนินการตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามีขึ้นในปี 2010” ทาคาโตชิ อิโตะ คณบดีสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และเป็นหนึ่งในตัวเต็งของผู้ที่จะได้เข้ามาเป็นผู้ว่าการบีโอเจต่อไป หลังจากที่ มาซากิ ชิรากาวะ ผู้ว่าการคนปัจจุบันจะหมดวาระลงในเดือน เม.ย.นี้ กล่าว

ฉะนั้นแล้ว เมื่อลองดูจากกระแสกดดันทั้งจากปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เข้ามาบีบ คั้นอย่างหนัก ประกอบกับการที่ผู้ว่าการบีโอเจคนปัจจุบันจะลงจากตำแหน่งในอีกไม่กี่เดือน นี้ จึงเชื่อแน่ว่าแนวทางของแบงก์ชาติแดนปลาดิบจะต้องเปลี่ยนไปสู่แนวทางการ กระตุ้นเชิงรุกมากขึ้นแน่นอน

คำถามจึงอยู่ที่ว่า บีโอเจจะทำมากแค่ไหนเท่านั้น และจะเป็นวิธีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่และรัฐบาลญี่ปุ่นชุดใหม่ คงจะเป็นผู้ให้คำตอบเหล่านี้ได้ดีที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินฝืด เยนแข็ง ศก.จ่อถดถอย บีโอเจ นโยบายเชิงรุก

view