สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่าวางใจ เงินเฟ้อ

จาก โพสต์ทูเดย์

หลังจากที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดศึกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2555

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

หลังจากที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดศึกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2555 ที่ ธปท.เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ถูก กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในขณะนั้นตีกลับ เนื่องจากไม่ได้เห็นรายละเอียดมาก่อน

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาอีก การจัดทำเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2556 ธปท.กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมหารือกันอย่างใกล้ชิด จนเห็นชอบร่วมกันว่าจะเสนอเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่กรอบ 0.5-3% ซึ่งเป็นกรอบเงินเฟ้อที่ไม่แตกต่างจากปี 2555

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนี้ ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระดับนี้ อาจจะทำให้หลายคนกังวลใจว่า จัดทำต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมและราคาสินค้า เงินเฟ้อน่าจะสูงกว่านี้

เหตุที่น่าสงสัยว่า รัฐบาลอาจจะจัดทำเป้าหมายเงินเฟ้อต่ำเกินไป ก็เพราะวันที่ 1 ม.ค. 2556 ประเทศไทยจะต้องใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่า มาตรการนี้จะกระชากค่าครองชีพให้แพงทั้งแผ่นดินขึ้นอีก เหมือนในช่วงที่ประกาศขึ้นค่าจ้างใน 7 จังหวัดนำร่องเมื่อต้นปีหรือไม่

นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เริ่มส่งสัญญาณขึ้นมาให้น่ากังวลใจก็เริ่มขึ้น จากปริมาณน้ำที่จะทำการเพาะปลูกพืชในบางพื้นที่แห้งเหือด ส่งผลให้ราคาอาหารประเภทผักและผลไม้มีราคาแพงขึ้นตั้งแต่เดี๋ยวนี้ รวมทั้งนโยบายพลังงานของรัฐบาล ที่อาจจะมีผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นจากปัจจุบันที่กำหนดไว้ไม่เกินลิตร ละ 30 บาท การลอยตัวก๊าซแอลพีจี ซึ่งถ้านโยบายใหม่ทำให้ราคาปรับขึ้นสูงขึ้นอาจจะกระทบต่อเนื่องไปส่วนอื่นๆ เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

แค่เพียง 3 ปัจจัยนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะดึงเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างน่าเป็นห่วงแล้ว

แต่การที่ ธปท.ยอมตั้งกรอบเงินเฟ้อไว้ในระดับเดิม ก็เพราะเห็นว่าปัจจัยที่จะดึงให้เงินเฟ้อต่ำลงมีอิทธิพลมากกว่า

นั่นคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวหลุดออกจากวังวนหนี้เสียได้ง่ายๆ ทั้งอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะ ชะลอตัวอีกครั้ง

ธปท.มองว่า สิ่งที่ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศได้พยายามพยุงเศรษฐกิจ โดยออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินต่างๆ ทั้งสหภาพยุโรปที่ออกมาตรการรับซื้อพันธบัตรไม่จำกัดปริมาณ (Outright MonetaryTransaction : OMT) สหรัฐที่ทำมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ Quantitative Easing (QE) เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 รวมทั้งญี่ปุ่นที่ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (Asset Purchase Program : APP)

“มาตรการกระตุ้นเหล่านี้ดูเหมือนจะช่วยเยียวยาเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก เพราะไม่ได้เป็นมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่โครงสร้าง เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปจึงมีแนวโน้มซบเซายืดเยื้อ และอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีใครช่วยใครได้ ความหวังสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจึงต้องจับตาว่า จุดแข็งด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีในช่วงที่ผ่านมา และแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจในประเทศจะช่วยเป็นเกราะป้องกันหรือบรรเทาผล กระทบของเศรษฐกิจโลกได้มากน้อยเพียงใด” ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

นอกจากนี้ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในของรัฐบาลด้วยการลงทุน ก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ กว่าจะเปิดประมูล กว่าจะลงมือก็คงเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า

การส่งออกที่หวังจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็หวังไม่ได้ หากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไม่ฟื้น การหวังเพิ่มส่งออกในตลาดอาเซียนด้วยกัน เนื่องจากเศรษฐกิจยังดีอยู่ น่าจะเป็นตลาดที่พึ่งได้ ก็อาจจะเป็นความหวังที่หวังได้ยาก เนื่องจากเศรษฐกิจของทุกประเทศในอาเซียนจะชะลอตัวลงตามประเทศคู่ค้าเช่นกัน

สำหรับการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โครงการรถคันแรกของรัฐบาล ก็ได้สร้างกำลังซื้อไปในปีนี้หมดแล้ว ยอดซื้อรถยนต์ในปีหน้าจะเริ่มขยายตัวต่ำลง อีกทั้งคนชั้นกลางที่เป็นผู้บริโภคมากไม่แพ้กลุ่มรากหญ้า ก็เป็นหนี้รถยนต์ไปแล้ว ต้องเจียดรายได้ไปผ่อนชำระค่างวดรถ เงินที่จะใช้จับจ่ายบริโภคก็จะน้อยลง

ปัจจัยที่มีผลต่อเงินเฟ้อทางอ้อมที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศ ที่ยังคุกรุ่นพร้อมที่จะระเบิดเป็นความรุนแรงได้ทุกเมื่อ มีผลทางด้านจิตวิทยาความเชื่อมั่นและอารมณ์ในการบริโภคของประชาชน

ดังนั้น เมื่อปัจจัยที่จะดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมีน้อยกว่าปัจจัยที่จะดึงเงินเฟ้อให้ ลดลงมา ทาง ธปท.และกระทรวงการคลังจึงกำหนดอัตราเงินเฟ้อไว้อย่างอนุรักษนิยม ไม่หวือหวามากจนเกินไป

และข้อดีของการจับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ในระดับนี้ ทำให้ ธปท.สามารถจะดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างยืดหยุ่น สามารถที่จะผ่อนปรนนโยบายการเงินได้ในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุน เศรษฐกิจ หากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า การทำกรอบเงินเฟ้อของ ธปท. เป็นของจริง เพราะได้ส่งทีมงานระดับผู้ช่วยผู้ว่าการเดินสายในหลายจังหวัดทั่วประเทศเป็น ระยะๆ เพื่อให้เข้าใจสภาพเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้น เพิ่มเติมจากการประเมินข้อมูลต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจมหภาค นอกจากการประเมินภาพเศรษฐกิจในกรณีฐาน (Most Likely Case) แล้ว

คณะกรรมการนโยบายการเงินและทีมเศรษฐกิจของ ธปท.ยังต้องมีสายตากว้างไกล สอดส่องสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติ และไม่ละเลยที่จะวาดภาพเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ รวมทั้งกรณีเลวร้ายที่สุด (Tail Events) เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินนโยบายหากเกิดกรณีเหล่านั้นขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ทีมงานด้านเศรษฐกิจของ ธปท.ยังต้องประชุมร่วมกันกับทีมงานด้านนโยบายสถาบันการเงินด้วย เพื่อให้การดำเนินนโยบายครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งการดำเนินนโยบายทำได้ถูกจังหวะจึงจะเกิดประสิทธิผลได้สูงสุด

อย่างไรก็ดี แม้กรอบเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มไม่สูงจนเกินไป สมดังความต้องการของฝ่ายการเมือง แต่ ธปท.กับกระทรวงการคลังคงจะดีกันได้ไม่นาน เพราะความเห็นต่างด้านนโยบายดอกเบี้ยยังคงอยู่

ยิ่งมองว่าเศรษฐกิจยังแย่ รัฐบาลก็ยิ่งอยากให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปอีก เพื่อกดให้ดอกเบี้ยในประเทศลดลงตาม

แต่ ธปท.โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมองเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่าการ เติบโต ดังนั้นไม่ได้หมายความว่า ปรากฏการณ์กำหนดกรอบเงินเฟ้อนี้จะทำให้ความขัดแย้งทางนโยบายการเงิน การคลัง จะลดลง

ปัจจัยผันแปรที่ทำให้ ธปท.ยังไม่วางใจว่า เงินเฟ้อจะไม่เพิ่มจนน่าเป็นห่วงก็คือ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ขยันคิดมุขประชานิยมใหม่ๆ ออกมา ขณะนี้ก็เริ่มแล้วที่จะให้ธนาคารของรัฐพักหนี้ให้ลูกค้ารายย่อยอีกรอบ หลังจากที่เคยพักไปแล้วครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้

นี่คือการปลดล็อกให้กลุ่มรายย่อย มีเงินใช้ต่อลมหายใจไปอีก แต่ก็จะเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินในระยะต่อไป

ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลต่อการปรับค่าจ้าง 300 บาท รอบสองที่มีผลให้ปรับขึ้นทั่วประเทศในต้นปีหน้านี้ ยังต้องติดตามว่าจะส่งผลให้ต้นทุนดันราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นหรือไม่

นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจโลกพลิกกลับมาฟื้นตัว อาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน เพราะสหรัฐและจีน ผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก จะกลับมาไล่ซื้อทำให้ราคาสูงขึ้น อีกทั้งการใช้จ่ายมาตรการกระตุ้นภาครัฐในประเทศที่สูงขึ้น ถ้ากระตุ้นดีเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ก็มีผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น

รัฐบาลเองก็เป็นกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ก็ได้มีการสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสรุปภาวะเงินเฟ้อให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกเดือน เพื่อจะติดตามแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

ดังนั้น การทำนายราคาสินค้าในปีหน้าว่าจะแพงขึ้นอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่การกำหนดเป้าเงินเฟ้อที่ระดับนี้ น่าจะช่วยให้ ธปท.ตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ยได้ง่ายกว่าเดิม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อย่าวางใจ เงินเฟ้อ

view