สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แผ่นดินนี้เป็นของใคร ?

แผ่นดินนี้เป็นของใคร ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


ในการตอบคำถามข้างต้น จะพบว่า คำตอบขึ้นอยู่กับแต่ละรูปแบบของรัฐและการปกครอง เช่น ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy)









คำตอบตามหลักการและเหตุผลของระบอบมีความชัดเจนอย่างยิ่ง นั่นคือ แผ่นดินนี้เป็นของพระราชา และแผ่นดินของพระราชาก็คือ “ราชอาณาจักร” (kingdom) นั่นเอง ส่วนระบอบสาธารณรัฐ (republic) แผ่นดินหรือประเทศเป็นของพลเมืองทุกคนอย่างเท่าๆ กัน “สาธารณรัฐ” (republic) นี้มีรากจากภาษาละตินในสมัยโรมันว่า “res publica” อันหมายความถึง “เป็นของทุกๆ คนร่วมกันทั้งหมด” (belonging to all) ของทุกๆ อย่างไม่ว่าจะอยู่บน-หรือ-ในผืนแผ่นดินหรือล้อมรอบผืนแผ่นดินเป็นสมบัติของคนทุกคนที่มีสถานะของความเป็นพลเมืองในรัฐนั้น

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย พ.ศ. 2475 นั้น มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า ตกลงแล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง “แผ่นดินนี้เป็นของใคร ?” เราจะพบว่า เมื่อพิจารณาถึงความต้องการของคณะราษฎรและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รูปแบบการปกครองที่เป็นจุดมุ่งหมายของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ทั้งของฝ่ายเจ้าและของฝ่ายคณะราษฎร “ดูจะ” ต้องตรงกัน นั่นคือ ต้องการระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)

ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ของไทย แน่นอนว่า “แผ่นดินไทย” ย่อมไม่ใช่ขององค์พระมหากษัตริย์ลำพังแต่ผู้เดียวอีกต่อไปเหมือนในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ครั้นจะเป็นของพลเมืองทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกันเหมือนในระบอบสาธารณรัฐ ก็ไม่ใช่อีก ! เพราะระบอบการปกครองที่ตกลงกันได้ในการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ก็หาใช่ระบอบสาธารณรัฐไม่ ขณะเดียวกัน องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็หาได้มีสถานะทางการเมืองเหมือนพลเมืองไทยทั่วไปไม่ “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรป โดยมีอังกฤษและเดนมาร์กเป็นประเทศแรกๆ และมีประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่สืบทอดใช้ระบอบนี้ต่อมาจนปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้ยังเรียกแผ่นดินหรือประเทศของพวกเขาว่า “ราชอาณาจักร” (kingdom) อยู่ ! แต่อย่างที่กล่าวไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นสิทธิ์ขาดของพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียวอีกต่อไป

ในการพยายามตอบคำถามข้างต้น เราคงต้องพิจารณา ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เพื่อที่จะดูว่า จะมีส่วนไหนในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ช่วยให้เราตอบคำถามได้ว่า ในความคิดของคณะราษฎร ระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ นอกจากแผ่นดินนี้ย่อมต้องเป็นของราษฎรแล้ว พระมหากษัตริย์ยังมีส่วนเป็นเจ้าของ “ราชอาณาจักร” อยู่หรือไม่ ? และอย่างไร ? และเราก็ควรทำการศึกษาว่า บางประเทศในยุโรปที่ใช้รูปแบบการปกครอง ในฐานะที่เป็นต้นแบบและผ่านปัญหาต่างๆ ทางการเมืองมาเป็นเวลายาวนานกว่าของเรา พวกเขามีหลักการและเหตุผลในการตอบคำถามดังกล่าวนี้อย่างไร ? หรือว่า คำถามนี้เป็นปัญหาที่ “ต้องดำรงอยู่อย่างคลุมเครือ” ในรูปแบบการปกครองแบบนี้ ตลอดไป ซึ่งความคลุมเครือนี้ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

เนื้อหาในตอนท้ายของ ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 มีใจความตอนหนึ่งว่า “...ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ....รวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา”

จากข้างต้นมีข้อความที่น่าสนใจคือ “ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งตีความได้ว่า กษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่จะยังสามารถครอบครอง “ราชสมบัติ” ของพระองค์ต่อไปได้ แต่ไม่มีพระราชอำนาจและอาญาสิทธิ์ในทางการเมืองการปกครองใดๆ อีกต่อไป แต่ยังคงดำรงสถานะของการเป็นประมุขของรัฐ แต่จะทรงริเริ่มทำอะไรโดยพระองค์เองไม่ได้เลย แต่จะต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

การที่กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐไม่สามารถทำอะไรเองในทางการเมืองการปกครองได้ แต่จะทรงทำตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรบ่งชี้ให้เห็นว่า ในระบอบการปกครองใหม่นี้ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุดเหนือกษัตริย์ และสภามีอำนาจเหนือกษัตริย์ได้ก็เพราะสภาคือองค์ประชุมที่รวมเอาบุคคลต่างๆ ที่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือ ได้รับมอบอำนาจทางการเมืองจากประชาชนชาวไทยทั้งหมดที่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือสิทธิ์ทางการเมือง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ในระบอบการปกครองใหม่นี้ ปวงชนชาวไทยคือผู้มีอำนาจสูงสุด และมีอำนาจเหนือกษัตริย์ กิจการทางการเมืองต่างๆ เป็นเรื่องของปวงชนชาวไทยผ่านผู้แทนราษฎร ในแง่นี้ ตีความได้ว่า ในระบอบการปกครองใหม่นี้ เรื่องราวสาธารณะในแผ่นดินเป็นของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ของกษัตริย์อีกต่อไป

ในแง่นี้ กษัตริย์ในระบอบการปกครองใหม่ย่อมเป็นเพียง “ตัวเชิด” หรือถ้าจะใช้ภาษาปากที่เพิ่งเกิดขึ้นจากวิกฤตการเมืองในรอบหกปีที่ผ่านมาก็คือ กษัตริย์เป็นเพียง “นอมินี” ของสภาผู้แทนราษฎร หรือกษัตริย์เป็นเพียง “นอมินี” ของปวงชนชาวไทยเท่านั้น ซึ่งการตีความว่าองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่เป็นเพียง “ตัวเชิด” นี้ น่าสนใจว่า จะอยู่ในความหมายเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชดำรัสตอบคณะราษฎรหรือไม่ ?

ดังเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงยอมรับข้อเรียกร้องของคณะราษฎร โดยทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบหนังสือกราบบังคมทูลว่า “ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไมไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก...” !? การเป็น “ตัวเชิด” ก็คือ ยอมให้อ้างพระเจ้าแผ่นดินโดยผ่าน “พระปรมาภิไธย” นั่นเอง

แล้วการไม่เป็นเพียงตัวเชิด “เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก...” ในระบอบการปกครองใหม่ (กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ) กษัตริย์ควรจะมีสถานะบทบาทอย่างไร ? การกล่าวถึงการเป็นตัวเชิดของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯนั้น พระองค์ทรงมีนัยอะไร ? และมันได้สะท้อนถึงความเข้าใจที่แตกต่างกันต่อสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ของพระองค์กับของคณะราษฎรอย่างไร ?

หรือในระบอบการปกครองแบบนี้ กษัตริย์จะต้องเป็นเพียง “ตัวเชิด” หรือ “นอมินี” ของสภาผู้แทนราษฎร-ปวงประชามหาชนเท่านั้นเสมอไป ?! ถ้าเช่นนั้น คำตอบต่อคำถามที่ว่า ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ “แผ่นดินนี้เป็นของใคร ?” ก็คือ “แผ่นดินนี้เป็นของประชาชนชาวไทยทุกคนยกเว้นคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น นั่นคือ คนไทยที่เป็นกษัตริย์” ในขณะที่ระบอบสาธารณรัฐ “แผ่นดินนี้เป็นของประชาชนชาวไทยทุกคนไม่มียกเว้น และระบอบนี้ก็ไม่มีกษัตริย์อีกต่อไป”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แผ่นดินนี้เป็นของใคร ?

view