สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนี้บุคคลจ่อปากเหว

จาก โพสต์ทูเดย์

ในการพบปะประจำปีระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

ในการพบปะประจำปีระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยซึ่งเป็นไปตามคาด คือ การขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในเรื่องโฆษณา ไม่ควรกระตุ้นให้คนอยากกู้โดยไม่มีเหตุจำเป็น

สิ่งที่ผู้ว่าการ ธปท.เป็นห่วงและยกตัวอย่างให้เห็นชัดคือ การโฆษณาของสถาบันการเงินที่แข่งขันกันรุนแรงมาก สร้างความรู้สึกให้คนก่อหนี้ง่าย เมื่อต้องการใช้ก็มีคนเอามาให้ หรือไม่ต้องใช้คืน ทยอยใช้นาน หรือบางแห่งถึงขั้นให้ก่อหนี้ยังมีชิงโชค แจกทองคำ ละเลยหลักพื้นฐานการบริหารเงิน ว่าการใช้เงินต้องมีการวางแผนการออม แต่โฆษณายังมีทำนองการสร้างครอบครัวไม่ต้องวางแผนมากก็มีคนเอาเงินมาให้

นี่คือจุดที่ผู้ว่าการธปท. จี้ลงไปว่าเปิดโทรทัศน์ใครก็ต้องเห็น

แม้ สาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. จะยอมรับว่าจำนวนมูลหนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ไปเพิ่มขึ้นในส่วนของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นันแบงก์) ก็เป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องเฝ้าระวังก่อนเกิดปัญหา

เพราะหนี้เสียในกลุ่มนันแบงก์ปูดขึ้นให้เห็นแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่ขาที่ ธปท.กำกับดูแลโดยตรง ฉะนั้นธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในการกำกับดูแลโดย ธปท. จึงถูกเรียกเตือนเพื่อป้องกันไว้ก่อน

น่าสังเกตว่า การตั้งการ์ดของ ธปท.ครั้งนี้มาจากตัวเลขที่สำแดงให้เห็นใน 2 ส่วน คือ มูลหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล และสินเชื่อรวมของธนาคารทั้งระบบ เพิ่มขึ้นทั้งสองด้าน

ส่วนแรก มูลหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 มียอดคงค้างรวม 2.64 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,800 ล้านบาท จากไตรมาส 2 แต่จำนวนฐานสินเชื่อที่ขยายตัวสูงทำให้ตัวหารเพิ่ม เอ็นพีแอลที่ปรากฏเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมจึงลดลงเหลือ 2.4%

ส่วนที่สอง ตัวเลขผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และคิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.2% จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวตามการบริโภคภายในประเทศ โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 18.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการเร่งตัวของสินเชื่อในหมวดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล

ลำพังเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในไตรมาส 2 เติบโตจาก 24% เป็น 30.1% ในไตรมาส 3 และปีหน้าทิศทางสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีรถจำนวนมากที่รอส่งมอบปีหน้าพร้อมกับเข้าไฟแนนซ์ ปีหน้าจึงเป็นปีทองของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีกปี

ขณะที่ตัวเลขสินเชื่อบัตรเครดิตไตรมาส 3 เติบโตลดเหลือ 10.1% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 10.2% และสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตลดเหลือ 28.5% จาก 31.3% ซึ่ง ธปท.ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะความต้องการใช้จ่ายหลังน้ำท่วมลดลง เท่ากับว่าก่อนหน้านี้คนได้ใช้เงินเพื่อซื้อของซ่อมแซมบ้านไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลกลับมาเติบโตในระดับที่ไม่หวือหวามากนักเมื่อเทียบจากช่วงไตรมาส 2

ประเด็นเหล่านี้ทำให้ ธปท.จึงต้องเร่งกำจัดจุดอ่อน เพราะหากคว้านลึกๆ จะพบว่า แม้ ธปท.ยังไม่ถึงก่ายหน้าผาก แต่ไส้ในเอ็นพีแอลก็ไม่ได้สวยหรู

ตัวเลขปรากฏชัดว่าขณะนี้เริ่มมีลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มต้องเฝ้ามองก่อนเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น มูลหนี้ที่อยู่ในกลุ่มสินเชื่อที่จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือที่เรียกกันว่าสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน เริ่มเป็นตัวแดงเพิ่มจาก 1.9% ในไตรมาส 2 เป็น 2.2% โดยในส่วนที่ต้องเฝ้าระวังคือสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มจาก 2.6% เป็น 2.7%

สะท้อนว่ากำลังการจ่ายหนี้ของลูกค้าอ่อนแรงลง ซึ่งก็ตั้งข้อสังเกตได้หลายทาง เช่น คนเริ่มเป็นหนี้มาก หมุนเงินไม่ทัน แต่คงไม่ถึงขั้นตั้งใจลืมจ่ายหนี้ เพราะคงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ให้เสียดอกเบี้ยรายวัน

ขาที่ ธปท.ทำได้จึงต้องเบรกธนาคารพาณิชย์อย่าโหมโฆษณาเงินกู้กระหน่ำให้มากนัก เพราะไม่เช่นนั้นเร็ววันอาจเจ็บยกแผง

ชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่า การก่อหนี้สินเชื่อบุคคลภาพรวมปีนี้เติบโตกว่าปีก่อน ทั้งระบบเติบโต 12.5% ซึ่งบางส่วนก็เพิ่ม บางส่วนก็ลด เพราะหากแยกสินเชื่อบุคคลในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เติบโต 27% สินเชื่อส่วนบุคคลนันแบงก์เติบโต 6% แต่สินเชื่อบุคคลของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศติดลบ 10%

สาเหตุที่สินเชื่อส่วนบุคคลธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศติดลบ เพราะธนาคารเอชเอสบีซีได้ขายพอร์ตสินเชื่อบุคคลให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อสินเชื่อฝั่งธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศลด ก็ไปโปะให้สินเชื่อฝั่งธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวมากกว่าปีก่อนๆ แต่แน่นอนว่าสินเชื่อในแต่ละปีต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

ขณะที่นายแบงก์บางส่วนก็มองว่า สินเชื่อส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นหากมองในมุมที่น่ากังวล ธปท.ก็ต้องมองในมุมบวกด้วยว่าอาจเป็นไปได้ที่มีกลุ่มคนที่เคยอยู่นอกระบบได้เข้าถึงหนี้ในระบบมากขึ้น เพราะเงินเดือน ค่าแรง ต่างมีการปรับขึ้น ทำให้คนที่ไม่เคยได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ใช้บริการธนาคารก็ยุคนี้ และดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ก็ถูกกว่าการเป็นหนี้นอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ยรายวัน

นี่คือสิ่งที่ผู้ให้บริการสะกิดผู้กำกับดูแลว่า บางทีอาจต้องมองภาพรวมให้รอบด้าน

หรืออีกนัยหนึ่ง การลุกขึ้นของ ธปท. กระตุกต่อมจริยธรรมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง ให้ความรู้คนควรออมก่อนเป็นหนี้ และการเป็นหนี้ไม่เหมาะสมที่จะลุ้นชิงโชค ถือเป็นการลงแส้ธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นความตั้งใจให้หางแส้ไปโดนนันแบงก์ให้รู้สึกเจ็บบ้าง

เพราะทุกวันนี้บทบาทหน้าที่ของ ธปท. ดูแลนันแบงก์ได้เพียงการควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมให้อยู่ในกรอบของ ธปท. โดยใช้กฎหมาย ปว. 58 ตั้งแต่ยุคของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการธปท. แต่ไม่สามารถควบคุมการบริหารงานส่วนอื่นในนันแบงก์ได้ เพราะนันแบงก์ไม่ใช่สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน

เมื่อ ธปท.ทำอะไรกับนันแบงก์มากไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกกลวิธีเขียนเสือให้วัวกลัวก่อนที่ทุกอย่างจะสาย เนื่องจากเห็นสัญญาณหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นลูกค้าของนันแบงก์

ในขณะที่นันแบงก์ก็ยังเอาใจรายย่อยปล่อยกู้ให้กลุ่มคนที่มีรายได้ขั้นต่ำ 8,000 บาท แม้หลายบริษัททยอยปรับเงินเดือนเป็น 1.5 หมื่นบาท และปรับค่าแรง 300 บาท ตามนโยบายรัฐบาลไปแล้ว

การเดินสายพูดทุกเวทีของผู้ว่าการ ธปท. เรื่องหนี้ครัวเรือน จึงเป็นการถือธงนำประกาศให้รู้ว่า ไม่ว่าธนาคารพาณิชย์ หรือนันแบงก์ ควรสดับฟัง เพราะหากปล่อยให้หนี้สินคนในประเทศล้นพ้นตัวเมื่อไร จากแค่ปัญหาการเงินจะกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจประเทศได้ แก้ไขตอนนั้นก็สายเสียแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนี้บุคคล จ่อปากเหว

view