สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธนาคารกลางกับการรักษาเสถียรภาพการเงิน

ธนาคารกลางกับการรักษาเสถียรภาพการเงิน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วันก่อนผมอ่านหนังสือพิมพ์มีข่าว ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศออสเตรเลีย นายเกลน สตีเวน ได้มากล่าวปาฐากถาพิเศษในงานครบรอบ 70 ปี ธปท.

ผมเองไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงาน แต่ก็สนใจในประเด็นที่ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียจะพูด เพราะในความเห็นของผม เท่าที่ได้รู้จักผู้ว่าการคนนี้ ได้มีโอกาสสนทนาและร่วมประชุมด้วยหลายครั้ง ในสมัยที่ผมยังทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องยอมรับว่าผู้ว่าคนนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย มากรุงเทพคราวนี้ ผู้ว่าออสเตรเลียได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ความท้าทายของธนาคารกลาง ซึ่งได้พูดถึงความท้าทายในสามประเด็น คือ บทบาทของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพการเงิน หรือ Financial Stability ข้อจำกัดของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบาย จากผลกระทบที่มีต่อบัญชีกำไร ขาดทุน ของธนาคารกลาง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน จากปัจจัยความผันผวนจากภายนอก เนื้อหาของสิ่งที่ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียได้พูด ทำให้วันนี้ผมอยากเขียนเรื่อง บทบาทธนาคารกลางกับการรักษาเสถียรภาพการเงิน เพราะเป็นหัวข้อหนึ่งที่ผมได้บรรยายที่มหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ (Hitotsubashi University) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา


ความผิดพลาดของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970’s ที่ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นรุนแรงในช่วงเหตุการณ์ตะวันกลาง หรือ Oil shocks มีผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับสูงขึ้นเป็นเวลานาน จนกระทั่งธนาคารกลางทั่วโลกนำโดยธนาคารกลางสหรัฐ ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาก เพื่อแก้ไขปัญหา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสร้างต้นทุนที่แพงในแง่ของการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และบทเรียนดังกล่าวทำให้พันธกิจของธนาคารกลางได้มาเน้นการให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของราคา พันธกิจดังกล่าวได้กลายมาเป็นภาระหน้าที่หลักของธนาคารกลางที่ยอมรับกันทั่วโลก


ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของเป้าหมายของธนาคารกลางทั่วโลก ในการทำหน้าที่ ที่ต้องรักษาอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีเสถียรภาพ เพราะต้นทุนต่อเศรษฐกิจของอัตราเงินเฟ้อที่สูงและควบคุมไม่ได้ ชัดเจนว่ารุนแรงมากทั้งต่อประชาชนที่อำนาจซื้อในการใช้จ่ายจากรายได้หรือเงินที่มีอยู่ลดลง เพราะของแพง ต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะเงินเฟ้อที่สูง ก็คือ ต้นทุนการผลิตของประเทศที่แพงแข่งขันไม่ได้ และต่อภาคธุรกิจเพราะไม่สามารถคำนวนได้ว่า ผลตอบแทนระยะยาวของการลงทุนจะเป็นอย่างไร เพราะอัตราเงินเฟ้อในประเทศซึ่งก็คือ ต้นทุนในการทำธุรกิจมีความไม่แน่นอน ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่พันธกิจของธนาคารกลางที่ต้องรักษาเสถียรภาพของราคา คือให้ประเทศมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ และมีเสถียรภาพ เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ


พันธกิจดังกล่าวทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980's ซึ่งถือเป็นยุคความสำเร็จของธนาคารกลางในการทำหน้าที่ แต่สิ่งที่ปรากฏตามมาจากความมีเสถียรภาพดังกล่าวก็คือ ระบบเศรษฐกิจสะสมความเสี่ยงในระบบการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นชนวนไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่เมื่อปี 2007 ถึง 2009 ซึ่งเกิดขึ้นในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจโลกต่ำและมีเสถียรภาพ อันนี้จึงนำมาสู่ข้อสรุปว่า การมีเสถียรภาพของราคาไม่ได้หมายความว่า เราจะมีเสถียรภาพทางการเงิน คือไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสำเร็จของธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพของราคาตามพันธกิจของธนาคารกลางไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพด้านการเงิน ตรงกันข้าม บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2007 – 2009 ชี้ชัดเจนว่า ความไม่มีเสถียรภาพด้านการเงิน หรือวิกฤติเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ธนาคารกลางจะประสบความสำเร็จในการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำ และมีเสถียรภาพ


คำถามที่ตามมาก็คือ หนึ่ง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และสอง ธนาคารกลางควรมีบทบาทอย่างไรในการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา


วันนี้ขอตอบคำถามแรก คือ ต้องตระหนักว่าในภาวะที่เศรษฐกิจมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและมีเสถียรภาพ นโยบายการเงินมักจะถูกผ่อนคลายลงเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่มีแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ การผ่อนคลายนโยบายการเงินมีผลให้ภาคธุรกิจเอกชนกล้าที่จะเสี่ยงในแง่การกู้ยืมเพื่อลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ นำไปสู่การเติบโตของสินเชื่อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่มาพร้อมกับการสะสมความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ ภาวะดังกล่าวเมื่อผสมกับทิศทางของเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่เป็นขาขึ้น ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจและกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น นำไปสู่โมเมนตั้มขาขึ้นของการลงทุน การขยายสินเชื่อ และการเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ แต่ถึงจุดหนึ่งเมื่อการเก็งกำไรมีมาก ความเชื่อมั่นและความกล้าเสี่ยงของภาคเอกชนที่มีอยู่เดิมก็จะเปลี่ยนไปเป็นความไม่อยากเสี่ยง การลงทุนจะชะลอและการเก็งกำไรจะลดลง ซึ่งจะมีผลในทิศทางตรงข้ามต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจ นั้นคือนำมาสู่การชะลอตัวของสินเชื่อ และโมเมนตั้มของภาวะตลาดการเงินและเศรษฐกิจที่เป็นขาลงแทน


ที่สำคัญจุดที่มักจะเปลี่ยนความเชื่อมั่นของตลาดจากบวกเป็นลบ เปลี่ยนความกล้าเสี่ยงของนักลงทุนจากบวกเป็นลบ จนทำให้โมเมนตั้มทางเศรษฐกิจเปลี่ยนจากขาขึ้นเป็นขาลงก็คือ การเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงิน หรือมีเหตุการณ์ในภาคธุรกิจที่ทำให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความต่อเนื่องของเศรษฐกิจขาขึ้นถูกกระทบ เช่นอาจเริ่มมีปัญหาหนี้เสียในระบบการเงิน สิ่งเหล่านี้มักจะทำให้ความเชื่อมั่นและความกล้าเสี่ยงของนักลงทุนชะงัก และเปลี่ยนโมเมนตั้มเศรษฐกิจจากขาขึ้นเป็นขาลง และถ้าเศรษฐกิจขาลงรุนแรง ความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติ หรือปัญหาเสถียรภาพการเงินก็จะมีมาก


ดังนั้น ในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ประเด็นที่ต้องตระหนักก็คือ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไป เพราะความประมาทว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ และไม่เป็นปัญหา อาจสร้างเงื่อนไขให้เกิดการสะสมความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจจนเกินพอดี และเป็นชนวนให้วิกฤติเศรษฐกิจการเงินเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น ธนาคารกลางไม่ควรนอนใจเรื่องนี้ แต่ควรตระหนักว่าพันธกิจของธนาคารกลางที่มุ่งให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระดับราคาอย่างเดียวอาจบ่มเพาะความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศได้ ดังนั้นธนาคารกลางจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองด้านในการทำหน้าที่ คือ ทั้งเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพการเงิน


ดังนั้น สิ่งนี้ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียพูด แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นการให้ความเห็นที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเจอกับความเสี่ยงนี้ จากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ต่ำและเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า ที่จะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน ผ่านการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินทรัพย์ การใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัวมาก และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งตรงกับความห่วงใยที่ผมมีขณะนี้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจเจอกับปัญหานี้ในปีสองปีข้างหน้า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธนาคารกลาง การรักษาเสถียรภาพการเงิน

view