สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิด

ริบรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดอาญาได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้

โดยอาจริบตามที่กฎหมายการเฉพาะได้บัญญัติไว้ เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 เป็นตัน ในกรณีที่กระทำความผิดตามกฎหมายกฎหมายเฉพาะ แต่กฎหมายนั้นไม่ได้บัญญัติเรื่องริบทรัพย์สินไว้ หรือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลก็มีอำนาจริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดได้ ตามมาตรา 33 ของประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด

รถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่ง รถบรรทุก หากนำไปใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ แต่มีปัญหาต้องพิจารณาว่า อย่างไรจึงถือว่าได้ใช้รถยนต์ในการกระทำความผิด และหากเป็นรถยนต์ของผู้อื่น ก็ต้องพิจารณาว่าเจ้าของรถยนต์รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาที่อาจถือเป็นแนวบรรทัดฐานได้ โดยสรุป ดังนี้

1. ถ้าได้ใช้รถยนต์เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด ถือว่าได้ใช้รถยนต์นั้นในการกระทำความผิด เช่น คดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกำหนด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ต้องถือว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2533) อีกคดีหนึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกของกลาง ซึ่งมีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่ทางราชการกำหนด มาเดินบนทางหลวง นอกจากจะทำความเสียหายแก่ทางสัญจรไปมาของประชาชน ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณซ่อมแซม เป็นการทำลายเศรษฐกิจของชาติโดยส่วนรวม แล้วก็ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ อีกด้วย ให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางที่จำเลยใช้กระทำความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 1327/2533) หรืออีกคดีหนึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสองใช้รถแบ็กโฮขุดตักดินขึ้นบรรทุกใส่ในรถยนต์บรรทุกลำเลียงไปส่งให้ลูกค้าเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยทั้งสอง รถแบ็กโฮและรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการประกอบกิจการโรงงานขุดตักดินของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิดฐานตั้งโรงงานขุดตักดินโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามศาลฎีกามีอำนาจที่จะริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (2) (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 391/2554)

จากแนวคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวอาจนำไปเทียบกับกรณีการนำรถยนต์ไปแข่งในถนนสาธารณะ ที่เรียกว่าแข่งรถซิ่ง ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยถือได้ว่ารถยนต์เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ ดังนั้น เจ้าของรถยนต์จึงต้องระวังไม่ให้มีการนำรถยนต์ของตนไปแข่งซิ่งในถนนหลวง ไม่เช่นนั้นอาจถูกริบรถได้

2. การใช้รถยนต์เป็นยานพาหานะเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอย่างอื่น ไม่ถือว่าเป็นการใช้ในการกระทำความผิด เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2553 ที่วินิจฉัยว่าทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำผิดนั้น จะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย การที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดก็มิได้หมายความว่าใช้รถยนต์ของกลางเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์และตามปกติรถยนต์ของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อใช้เดินทางจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป รถยนต์ของกลางย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง จึงเป็นทรัพย์สินที่ศาลไม่มีอำนาจสั่งริบได้

3. รถยนต์ของผู้อื่นซึ่งรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิด ศาลริบและไม่คืนให้ เช่น ในคดีหนึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องปล่อยปละละเลยจนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างนำเรือบรรทุกของกลางไปดูด กรวดในอาณาบริเวณน่านน้ำของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำมาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตักใส่รถยนต์บรรทุกของกลางเพื่อนำไปส่งให้แก่บุคคลอื่นย่อมถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม ไม่คืนรถยนต์

4. รถยนต์ที่อยู่ระหว่างการเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ศาลจะริบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผู้ให้เช่าซื้อรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่ มีแนวบรรทัดฐานคือ

แนวที่ถือว่ามิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิด เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2554 ผู้ร้องให้จำเลยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไปโดยไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลย จึงต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิทางแพ่งกับจำเลยและร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืน เป็นเพียงการไม่ถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ก็ได้และเมื่อจำเลยผิดสัญญา ผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ กรณียังไม่พอฟังว่าเป็นการช่วยเหลือจำเลยมิให้ต้องรับโทษเต็มตามคำพิพากษา อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดเพราะกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต หรือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1136/2554 ที่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด การให้เช่าซื้อรถยนต์ของกลาง เป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของผู้ร้อง หลังจากผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ของกลางไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองใช้สอยรถยนต์ของกลาง ผู้ร้องไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำผิดอย่างไรและเมื่อใด เมื่อผู้ร้องทราบว่าจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดแล้วถูกเจ้าพนักงานยึดไว้ ผู้ร้องจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันเมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1

แนวที่ถือว่ารู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิด เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7186/2543 ที่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อทราบว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางถูกนำไปใช้ในการกระทำความต่อกฎหมายจนถูกจับกุม และถูกพนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลาง แต่ยังคงทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้เช่าซื้อดำเนินการขอรับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางคืนจากพนักงานสอบสวน โดยมิได้บอกเลิกสัญญาแก่ผู้เช่าซื้อรวมทั้งยังคงรับชำระค่าเช่าซื้อภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางแล้ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ร้องย่อมเห็นได้ว่าการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางน่าจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แก่ผู้เช่าซื้อที่จะผ่อนชำระค่าเช่าซื้อต่อไปและได้รับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลางไปจากผู้ร้องในภายหลัง ซึ่งมีลักษณะเป็นการร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยลูกจ้างผู้เช่าซื้อ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกสิบล้อของกลาง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ริบรถยนต์ ใช้ในการกระทำความผิด

view