สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจตนาเล็งเห็นผล

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้ตั้งข้อหา คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ว่า “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” อันเป็นถ้อยคำทางกฎหมาย ซึ่งบางท่านที่ไม่ได้เรียนกฎหมายอาจไม่เข้าใจว่าคืออะไร

การก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นถ้อยคำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีการอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด” ซึ่งต้องรับโทษเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดเอง

การก่อให้กระทำความผิด เป็นที่รู้จักกันดีในคดีที่มีการจ้างมือปืนไปยิงคน ที่เรียกว่าผู้ใช้บรรดาอาเสี่ย นายห้าง ที่ชอบจ้างมือปืนไปแก้ปัญหาจะเจอกับข้อหานี้

อีกคำหนึ่งที่ระบุในข้อหาคือ เจตนาเล็งเห็นผล ที่นักกฎหมายคุ้นเคยกันดี

ในทางอาญา บุคคลจะมีความผิด โดยหลักแล้ว จะต้องกระทำโดยเจตนา เว้นแต่กฎหมายจะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า แม้ไม่เจตนา ก็เป็นความผิด เช่น ประมาท

หลักของเจตนามีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 “บุคคลจะ ต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำ โดยไม่มีเจตนา

การกระทำโดยเจตนาได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น”

การกระทำโดยเจตนา ผู้กระทำจะต้องรู้สำนึกว่า ได้กระทำอะไร ถ้ากระทำโดยไม่รู้สำนึก ก็ไม่ผิดเพราะขาดเจตนา เช่น เด็กเล็กที่ยังไม่รู้เดียงสา หรือคนที่มีจิตบกพร่อง ที่เรามักพูดกันเสมอๆ ว่า คนบ้าฆ่าคนไม่เป็นความผิด คนละเมอเอามีดไปแทงคนตาย คนละเมออย่างนี้ไม่มีเจตนา เพราะไม่รู้สำนึกในขณะที่กระทำ

แต่ถ้าแกล้งละเมอละก็ รับโทษเต็มๆ

การกระทำโดยเจตนา กฎหมายแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เจตนาประสงค์ต่อผล และเจตนาย่อมเล็งเห็นผล

เจตนาประสงค์ต่อผล เป็นเจตนาทั่วๆ ไป ไม่ชอบหน้าใครอยากจะตบสั่งสอน เมื่อลงมือกระทำคือไปตบเขา ก็เป็นเจตนาประสงค์ต่อผล คือประสงค์จะให้คนถูกตบได้รับบาดเจ็บ

ส่วนเจตนาย่อมเล็งเห็นผลนั้น ไม่ได้มีเจตนาตรงๆ เหมือนประสงค์ต่อผล แต่ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า เมื่อได้กระทำไปแล้วย่อมจะเกิดผลอย่างนั้น เช่น จำเลยใช้ก้อนหินโตเท่ากำปั้นขว้างกระจกหน้ารถบรรทุกและรถโดยสาร คันละ 2 ก้อน การกระทำอย่างนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ถ้ารถคว่ำ คนที่อยู่ในรถอาจถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าคน (คำพิพากษาฎีกาที่ 1178/2539) ถ้ามีคนตายจำเลยคนนี้จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ถ้าไม่มีคนตาย ก็จะมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตาย

เจตนาเป็นเรื่องภายใน เป็นความรู้สึกภายในใจของบุคคล ซึ่งไม่มีทางจะพิสูจน์กันได้เลย ไม่มีเครื่องมือใดที่จะวัดความรู้สึกนึกคิดของบุคคลได้ แม้หมอผ่าตัดหัวใจเก่ง ผ่าวันละหลายครั้ง ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าคนไข้คิดอะไรอยู่

ฉะนั้น ศาลจึงไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่า จริงๆ แล้วผู้กระทำได้กระทำไปโดยเล็งเห็นผลหรือไม่ อย่างไร

หลักในการพิจารณาคดีเรื่องเจตนานี้ ศาลฎีกาท่านใช้หลัก “กรรมเป็นเครื่องแสดงเจตนา” คือดูจากกิริยาอาการ ดูจากพฤติการณ์แวดล้อมในขณะเกิดเหตุ แล้ววินิจฉัยว่า เป็นการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลหรือไม่

การพิจารณาว่า การกระทำใดเป็นเจตนาเล็งเห็นผลหรือไม่ จะใช้มาตรฐานใดเป็นตัวชี้วัด เพราะการพิจารณาต้องการเจตนาจริงๆ ของผู้กระทำ ซึ่งไม่สามารถตรวจวัดได้ ถ้าเช่นนั้น จะใช้มาตรฐานของคุณวิญญูชนได้หรือไม่

คุณวิญญูชน เป็นคนที่มีมาตรฐานในระดับปกติ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในความเป็นจริง ไม่รู้ว่าจะไปหาคุณวิญญูชนนี้ได้ที่ไหน การพิจารณาถึงเจตนาเล็งเห็นผล ไม่น่าจะเป็นความเห็นหรือเจตนาของคุณวิญญูชน แต่น่าจะต้องพิจารณาจากสภาพของบุคคลในสภาวะเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด เช่น เป็นเด็ก หรือร่างกายพิการหรือจิตใจไม่ปกติ ก็ต้องพิจารณาบุคคลตามสภาพเช่นนั้น จะใช้มาตรฐานของคุณวิญญูชนที่เป็นมาตรฐานทั่วไปมาพิจารณาไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าผู้กระทำมีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ ก็ต้องใช้มาตรฐานความสามารถที่เหนือกว่าคุณวิญญูชนมาใช้ในการพิจารณาเจตนา ของผู้กระทำ

กรณีของคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ DSI คงไม่มีหลักฐานว่ามีเจตนาที่จะสั่งฆ่าผู้ชุมนุมจริงๆ ไม่มีข้อเท็จจริงว่าทั้งสองคนประสงค์ที่จะให้เกิดผลทำให้ผู้ชุมนุมตาย เพราะคำสั่งต่างๆ ของ ศอฉ. คงไม่มีคำสั่งให้ไปยิงคน DSI จึงได้ตั้งข้อหาเป็นเจตนาย่อมเล็งเห็นผล

ปัญหาที่ DSI จะต้องพิสูจน์คือ คุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพมีเจตนาเล็งเห็นผลอะไรที่จะเกิดขึ้น

เล็งเห็นว่า จะมีการใช้กระสุนจริงยิงคน

เล็งเห็นว่า ถ้าใช้อาวุธแล้ว จะทำให้มีคนตาย

เล็งเห็นว่า ผู้ปฏิบัติจะยิงผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ

หรือจะให้เล็งเห็นอะไรอีก

แต่ถ้าเล็งเห็นว่า ผู้ปฏิบัติจะยิงชายชุดดำที่มีอาวุธเข้ามาสร้างความรุนแรง เจตนาเช่นนี้จะถือเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

เจตนาของคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพจะเป็นอย่างไร คงต้องรอให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมของไทยที่มี มาตรฐานเชื่อถือได้

ส่วน DSI จะมีเจตนาย่อมเล็งเห็นผลอะไร คุณวิญญูชนน่าจะพิจารณาได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจตนาเล็งเห็นผล

view