สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้รธน.อลหม่าน...แค่เริ่มก็เละ

จาก โพสต์ทูเดย์

แค่เริ่มต้นเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ก็อลหม่านทะเลาะกันเองว่าจะใช้แนวทางไหน นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

จนถึงวันนี้รัฐบาลได้ปักธงเริ่มกระบวนการนำร่องก่อนทำประชามติแล้ว แนวรบของฝ่ายเพื่อไทยยังเห็นต่างกันคนละทิศ

หนึ่ง การทำประชามติ เสนอโดย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” มีกุนซือจากกลุ่ม 111 ในพรรคเพื่อไทยให้คำแนะนำ ชัดเจนว่า รัฐบาลเลือกเดินแนวทางนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาถูกยื่นตีความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอีก เพราะเชื่อว่าการทำประชามติเป็นไปตามคำชี้แนะของศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เดินหน้าประชามติ โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษากรอบการทำประชามติ ใช้เวลา 1 เดือนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อกดปุ่มเดินหน้า

แนวทางนี้ฝ่ายกุนซือเห็นว่ามีข้อดี เพราะเป็นการถามประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยแท้ ถ้ามีเสียงสนับสนุนตามกติกาที่กำหนด ทุกอย่างจะได้จบๆ กลุ่มคัดค้านก็หมดเหตุผลที่จะมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีก ไม่ว่าจะแก้ประเด็นที่ล่อแหลม หรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตัวเองก็ตาม

ทักษิณเองก็เพิ่งโฟนอินสดๆ ร้อนๆ ที่เวทีเสื้อแดงโบนันซ่า เขาใหญ่ เรียกร้องให้คนเสื้อแดงสนับสนุนการทำประชามติ

“หลายคนกลัวจะมาไม่ถึง และออกมาไม่ถึงครึ่ง ผมไม่หนักใจ 24.3 ล้านคน ผมว่าหมูมาก ประชาชนจะออกมาเยอะ เขามองว่าเป็นการชี้ชะตาประเทศ จะปล่อยให้แช่แข็ง ก็ไม่ต้องแก้ไข หากอยากแก้อำนาจให้ถูกต้องไม่ต้องเอียงกระเท่เร่อย่างนี้”

สอง เดินหน้าลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 291 ที่จ่อคาวาระ 3 ในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากรัฐสภา โดยการผลักดันของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดรูปแบบเสร็จ สรรพเรียบร้อยแล้ว คือมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 99 คน

หากประธานรัฐสภานัดลงมติเมื่อไร ซึ่งคาดว่าจะมีเสียงเห็นชอบเพราะพรรคเพื่อไทยคุมสภาผู้แทนราษฎร และยังมีเสียงสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุน ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

แนวทางนี้ ฝ่ายแกนนำเสื้อแดง นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ดันสุดตัวไม่เกรงใจทักษิณ เพราะเห็นว่ามีความชอบธรรม ตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุด และไม่เสียเวลาเยิ่นเย้อ

อีกทั้งการทำประชามติเป็นเกมที่แพ้ตั้งแต่เริ่ม เพราะฐานคะแนนของพรรคเพื่อไทยไม่พอกับการผ่านประชามติ และการเล่นเกมประชามติ จะติดกับดักหลายเรื่อง ในทางลบถ้าประชามติไม่ผ่าน จะสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่สุดท้ายจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะจะมีการอ้างว่าเสียงประชาชนส่วนใหญ่ในการทำประชามติไม่เห็นด้วยกับการ แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

แต่ฝ่ายทักษิณเกรงว่าถ้ารัฐสภาลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลกระเทือนใหญ่หลวงต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ที่ต้องเสี่ยงกับความรับผิดชอบ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เชื่อแน่ว่า เมื่อยิ่งลักษณ์นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะถูกฝ่ายคัดค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่จบสิ้นอีก

สาม แนวทางสุดท้าย คือ แก้รายมาตราตามที่ต้องการ โดยให้รัฐสภาเป็นผู้แก้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นตัวตั้งตัวตีแนวคิดนี้ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เพราะเห็นว่าใช้เวลาไม่นาน และจำกัดประเด็นในการแก้ไข ไม่เหมือนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ตีเช็คเปล่า เสี่ยงต่อการถูกต่อต้านในการแก้แต่ละประเด็น

ทว่า ข้อเสนอนี้ถูกพวกกันเองในพรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่าจะเจอแรงต้านหนักเช่นกันจน ถูกกลุ่มคัดค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่า “รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง” เพราะประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ล้วนเกี่ยวข้องกับการจำกัดอำนาจตรวจสอบ ฝ่ายบริหาร หรือลดบทลงโทษที่ฝ่ายการเมืองกระทำผิดกฎหมายให้เบาลง

เช่นมาตรา 237 ยกเลิกบทลงโทษเรื่องการยุบพรรค หากกรรมการบริหารทำผิดกฎหมาย ก็ให้เป็นความผิดเฉพาะตัวของกรรมการ บริหารพรรคผู้นั้น หรือการแก้โครงสร้าง ที่มาขององค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ถึงแม้พรรคเพื่อไทยได้บทสรุปเลือกการทำประชามติ โดยหวังว่าเสียงประชาชนจะเป็นเกราะกำบังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ทักษิณและฝ่ายสนับสนุนต้องการ โดยเฉพาะมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อยกเลิกมาตรานี้ก็จะเปิดช่องให้คดีความต่างๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ถูกยื่นตีความว่าเป็นโมฆะทั้งหมด เปิดทางให้ทักษิณกลับไทยโดยไม่มีความผิดติดตัว

แต่ความไม่เป็นเอกภาพของฝ่าย “ทักษิณเพื่อไทยเสื้อแดง” นี่เองจะทำให้ “แรงส่ง” ที่นำไปสู่การประชามติ ไม่เข้มข้น เมื่อต่างฝ่ายในขบวนการเดียวกันต่างขัดขา และช่วงชิงอำนาจ สร้างราคาให้ตัวเอง

เพราะเครือข่ายทักษิณเสื้อแดง ที่ใหญ่โต ในวันที่มีอำนาจรัฐ กลุ่มก๊วนมากมายเหล่านี้ต่างยื้อแย่งอำนาจจนทะเลาะ ขัดแย้ง แทงข้างหลังกันเอง เป่าหูนายใหญ่ ฟ้องนายหญิง วิ่งหาเจ๊

ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องลับภายใน แต่วิจารณ์ออกสื่อกันเผ็ดร้อน แม้จะสั่งห้ามพูด ก็ยังคุมกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างถือว่า ที่พรรคเพื่อไทยชนะเป็นรัฐบาลเพราะฝีมือตัวเอง คือ กระแสทักษิณ เสื้อแดงก็อ้างว่าเป็นผลจากพลังเสื้อแดง

ที่สำคัญ ยิ่งทักษิณออกแรงรณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญมากเท่าไร ก็ยิ่งไม่เป็นผลดีเท่านั้น

อย่าลืมว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเสียงจากกลุ่มพลังเงียบ หรือกลุ่มไม่เลือกข้าง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้ได้ 24 ล้านเสียง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง เพราะลำพังฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 3 ก.ค. 2554 รวมแล้วมีแค่ 17 ล้านเสียง

7 ล้านเสียง ที่ต้องการ เพื่อให้ได้ยอดผู้ไปออกเสียงประชามติจำนวน 24 ล้านเสียง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาดเพื่อไทยเบ่งสุดเมื่อปีที่แล้วในช่วงขาขึ้น ยังทำได้เพียง 15.7 ล้านเสียงเท่านั้น

ยิ่งขัดแย้ง วุ่นวาย จากประเด็นรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งทำให้คนเบื่อหน่ายกับการเมืองและไม่สนใจกับประชามติ

คนกลุ่มกลางๆ นอกจากเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ขาดประชามติ อีกด้านอาจเป็น “แรงเฉื่อย” ที่ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเองเพียงเพื่อช่วงชิงอำนาจและผล ประโยชน์ ของคนบางกลุ่ม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้รธน. อลหม่าน แค่เริ่มก็เละ

view