สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

FATF

FATF

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่าน ในเดือนที่แล้วผม “โปรย” ไว้ว่ามีระเบิดเวลาอีก 2 ลูก ที่อาจจะระเบิดได้ในระยะสั้น

และยังคงรอ “ฮีโร่” มาทำการปลดชนวน แต่คิดไปคิดมาแล้วผมตกลงใจว่าจะขอเปิดตัวระเบิดเวลาเพียงหนึ่งลูกก่อน อีกหนึ่งลูกขอดูท่าทีผู้ที่เกี่ยวข้องสักระยะหนึ่ง หากมีพัฒนาการในทางที่ดี ก็คงไม่ต้องมาบอกกล่าวให้ตกอกตกใจเล่นก็ได้และเช่นเคยที่นำเสนอทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวโปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้ ขอเริ่มเลยนะครับ

หลายท่านคงจะรู้จัก FATFอยู่บ้างหลายท่านอาจจะหลงลืมไปแล้ว ที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะทำงาน (ด้วยการระเบิด) ในระยะเวลาสั้น ก็เนื่องจากว่าเราคงจะรู้กันว่ามันจะระเบิดหรือไม่ก็ตามในเดือนกุมภาพันธ์นี่แหละครับ

ประเทศไทยของเราในปีที่แล้วได้รับการประเมินจาก FATF (Financial Action Task Force) ไว้ว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการที่ขาดการควบคุม, มีกฎหมายไม่แข็งแกร่งเพียงพอในการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินต่อการก่อการร้าย หลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า FATF คือใครและทำไมถึงได้มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของไทย ผมก็ขอกล่าวอย่างย่อๆ ดังนี้นะครับ FATF เป็นการร่วมมือกันของรัฐบาลต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 34 รัฐ (jurisdictions) และ 2 องค์กรระหว่างประเทศ

หากรวมทั้งโลกแล้วมีประเทศกว่า 180 ประเทศที่สัญญาว่าจะทำตามข้อแนะนำของ FATF ในการที่จะสนับสนุนส่งเสริม, กำหนดมาตรฐาน สำหรับการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินต่อการก่อการร้าย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1989 (2532) FATFเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกำหนดนโยบายและดำเนินนโยบายดังกล่าวเพื่อที่จะให้ชาติสมาชิกมีการกำหนดกฎหมายข้อบังคับให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว FATF ไม่ใช่องค์กรระหว่างประเทศที่มีการใช้อำนาจทางกฎหมาย ดังนั้นบทบาท (Role Play) ของFATF จะมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อชาติสมาชิกมีการกำหนด/เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายของตนเองให้สอดคล้องกับนโยบายของFATF

หากชาติสมาชิกใดไม่สามารถจะดำรงตนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ FATF มีนโยบาย ผลกระทบก็จะเกิดกับชาตินั้นๆ ในลักษณะที่จะถูก sanction จากประเทศต่างๆ ที่สามารถบรรลุและ/หรือ มีมาตรฐานตามนโยบายของFATFได้

กรณีของไทย ไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มที่เรียกว่า APG (Asia/Pacific Group on Money Laundering) ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดเครือข่ายภูมิภาค (FSRBs; FATF Style Regional Bodies) ของ FATF ซึ่งหมายถึงพันธะกรณีที่ต้องทำตามข้อแนะนำของ FATF ดังได้กล่าวมาแล้วว่าในปีที่แล้ว (2011) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่สรุปง่ายๆ แบบชาวบ้านว่า “อ่อนด้อย” ในการจัดการกับการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย เรามีพวกเดียวกันอยู่ในกลุ่มนี้รวม 17 ประเทศ (รวมไทย) อาทิเช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย, พม่า, เอธิโอเปีย, คิวบา เป็นต้น

หากหลุดจากกลุ่มนี้จากการประเมินของ FATF เราจะไปตกอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอิหร่านและเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ FATF “เรียกร้อง” ให้ประเทศสมาชิกและประเทศที่ปฏิบัติตามFATF มีมาตรการตอบโต้เพื่อที่จะป้องกันระบบการเงินระหว่างประเทศจากการฟอกเงินการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในประเทศกลุ่มนี้

ถึงตอนนี้คงไม่ต้องบอกว่า เราคงไม่มีความประสงค์แต่ประการใดในการที่จะเข้าไปร่วมอยู่กับประเทศในกลุ่มนี้ เพราะว่าการเรียกร้องของ FATFในการมีมาตรการตอบโต้จากชาติสมาชิกคงจะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอนต่อการค้าการลงทุนของไทย


ผมลองเข้าไปดูใน Website ของ FATF ในความเห็นของ FATFที่มีต่อประเทศไทย (และประเทศอื่นๆ) ตาม FATF Public Statement เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 ไทยเราคงต้องทำดังนี้


1)ลงโทษทางอาญาอย่างเพียงพอต่อการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย


2)จัดให้มีและนำมาใช้ซึ่งขบวนการที่ดีเพียงพอในการระบุและยึดทรัพย์ของผู้ก่อการร้าย


3)ทำขบวนการกำกับดูแลการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายให้ดีขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรากฎหมายต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย


จะเห็นว่ามาตรการที่ FATF อยากเห็นจากไทยจะมุ่งเน้นเรื่องการต่อต้านการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย (Counter Financing Terrorism: CFT) เป็นหลัก ข้อเท็จจริงของเราเองทางปปง. ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตามลำดับจนกระทั่งมีการพิจารณา พรบ. ฟอกเงินแก้ไขเพิ่มเติม และพ.ร.บ.การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายในรัฐสภาซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วุฒิสภา นอกจากนี้ก็มีการออกกฎกระทรวงที่ได้address เรื่องการปรับปรุงขบวนการการกำกับดูแลในเรื่องนี้ ผลการพิจารณาของ FATF จะเป็นอย่างไรก็คงจะไม่นานเกินรอ คือเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
หลายท่านอาจจะมีคำถามที่อยากได้คำตอบว่าหากเราไม่สามารถ “สอบผ่าน” อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา ต่อไปนี้เป็นการวิเคราะห์ของผมเองนะครับ


1)การชำระเงิน/โอนเงินระหว่างประเทศจะมีปัญหาตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยไปจนถึงไม่สามารถกระทำได้ อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น FATF มีขอบเขตในการบังคับตามกฎหมายน้อยมาก (เรียกว่าไม่มีก็ได้) แต่มีอำนาจขอบเขตในการ “ขอความร่วมมือ” สูงมาก 180 กว่าประเทศที่สัญญาจะทำตาม “ข้อแนะนำ” (Recommendation) ของ FATF พร้อมที่จะทำตามที่ FATFบอก ดังนี้หากเราไม่สามารถผ่านการทดสอบของ FATF ได้ แต่ละประเทศก็จะมีมาตรการที่ “พอเหมาะพอสม” กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการฟอกเงิน/สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายของไทยแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมากหรือน้อยในด้านความ “แรง” ของมาตรการ สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือการสะดุดไม่สะดวก หรือติดขัดทำไม่ได้ต่อการชำระเงิน/โอนเงินระหว่างประเทศก็คงจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


2)เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างที่บอกข้างต้น ราคาสินค้า/บริการก็น่าจะสูงทั้งเนื่องมาจากปริมาณสินค้า/บริการที่มีน้อยลง (เนื่องมาจากชำระได้น้อยหรือไม่ได้) มูลค่าการส่งออกก็น่าจะน้อยลงเพราะมีผู้ที่ประสงค์จะซื้อของจากเราน้อยลง เนื่องจากไม่อยากจะผิดจากการที่สัญญาไว้กับ FATF หรือไม่ก็โดนกดราคา


3)เมื่อเกิด 1)และ2) กลไกการกระจาย (distribution) สินค้า/บริการที่มีอยู่อย่างจำกัด (Scarcity) ก็จะถูกบิดเบือนด้วยกลไกที่ไม่ใช่ราคา เช่น อภิสิทธิ์พิเศษ, ใต้โต๊ะ หรือเป็นพวกของใคร/ลูกของใคร ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้


ท่านผู้อ่านอาจจะช่วยผม “จินตนาการ” ก็ได้ ว่าเราจะเป็นอย่างไรหากไปอยู่กลุ่มเดียวกับอิหร่านและเกาหลีเหนือ โดยที่ไม่มีอะไรที่ “nasty” (อาทิเช่นอาวุธนิวเคลียร์) จะไปต่อรองกับชุมชนโลกเช่นเดียวกับเขา หรือหากจะไม่เป็นเหมือน 2 ประเทศนี้ ก็คงต้องติดตามว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตุรกี ซึ่งอยู่ในสถานะที่ถูก “แขวน” สมาชิกภาพ FATF และตัว FATF ได้ขอความร่วมมือสมาชิกในการดำเนินการตอบโต้ที่พอเหมาะพอสมกับ “ความเสี่ยง” ทางด้านการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้ายทางด้านการเงินของตุรกี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่ง เดือนนี้เนื้อหาอาจจะหนักไปหน่อยนะครับ แต่ผมเชื่อว่าเตือนไว้ก่อนดีกว่า หากที่ผมบอกมามันไม่เกิดขึ้นก็จะเป็นการดีกับทุกคนครับ สวัสดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : FATF

view