สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศาลชี้หลักฐานไม่ชัดเจน บุญมี ตายจากกระสุนปืนฝ่ายใด

ศาลชี้หลักฐานไม่ชัดเจน “บุญมี” ตายจากกระสุนปืนฝ่ายใด

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ศาลอาญากรุงเทพใต้ ระบุหลักฐานไม่ชัดเจน “บุญมี เริ่มสุข” เหยื่อเสื้อแดงชุมนุม ตายจากการถูกกระสุนปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร หรือฝ่าย นปช. ขณะยิงปะทะกันที่ย่านบ่อนไก่ ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเผาเมืองปี 53
       
       วันนี้ (16 ม.ค. ) ที่ห้องพิจารณาคดี 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำสั่งชันสูตรพลิกศพคดีหมายเลขดำที่ ช.7/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรศพนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตย่านบ่อนไก่ ถ.พระราม 4 ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการคำสั่งศูนย์อำนวย การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 เพื่อมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด สาเหตุและพฤติกรรมการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
       
       ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวัน ที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค. 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำร้อง กลุ่ม นปช.จึงมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่ชุมนุมไปยังสี่แยกราช ประสงค์ ถ.เพลินจิต ถ.พระราม 1 และ ถ.พระราม 4 ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบ เรียบร้อยภายในประเทศ จึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและอีกหลาย พื้นที่ และนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งพิเศษที่ 1/2553 จัดตั้ง ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ มีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นผู้ช่วย และคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่โดย เป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและได้มีการออกข้อกำหนดโดย ประกาศของ ศอฉ. ห้ามกระทำการต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้
       
       ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 ศอฉ.มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมีอาวุธประจำกาย ได้แก่ ปืนกลเล็ก M16, M653 และปืนลูกซอง เข้าทำการผลักดันกลุ่ม นปช.เพื่อขอคืนพื้นที่ตามแนวถนนพระราม 4 กระทั่งเวลา 14.00-15.00 น.ของวันดังกล่าว ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติหน้าที่เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสะพาน ไทย-เบลเยียม ถ.พระราม 4 จากกลุ่ม นปช.ได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจึงเกิดการปะทะกับกลุ่ม ผู้ชุมนุมซึ่งพยายามยึดพื้นที่บริเวณใต้สะพานไทย-เบลเยียม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธปืน ประทัดยักษ์ หนังสติ๊ก และตะไล ยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหาร
       
       ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมสิ้นสุดลงมีการตรวจสอบไปยังโรงพยาบาล ต่างๆ เกี่ยวกับผู้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย เนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช. พบว่าในวันที่ 14 พ.ค. 2553 ผู้ตายซึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุมถูกยิงบริเวณหน้าท้องได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งไปรักษาที่ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ จากนั้นได้ย้ายมารักษาที่ รพ.ตำรวจแล้วเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2553 โดยแพทย์มีความเห็นว่าสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ภายหลังถูกยิงเข้าที่ช่องท้อง
       
       ประเด็นมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติกรรมการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่าผู้ร้องมีพยานซึ่งเป็นช่างภาพสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งกำลังปฏิบัติ หน้าที่ถ่ายภาพการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุม นปช. ยืนยันว่าเห็นการยิงตอบโต้กันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.กับเจ้าหน้าที่ทหารเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต บริเวณหน้าสถานีบริการปั๊มน้ำมัน ปตท. และผู้ชุมนุม นปช.มีการใช้พลุและอาวุธปืนยิงตอบโต้เข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหาร เห็นว่าพยานเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นกับพยานผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำรายงานการตรวจ สถานที่เกิดเหตุระบุว่า มีรอยกระสุนปืนมีทิศทางการยิงมาจาก ถ.พระราม 4 ฝั่งแยกวิทยุมุ่งหน้าใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่านบ่อนไก่) ซึ่งเป็นฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหารและมีรอยกระสุนที่ถูกยิงมาจากฝั่งใต้ทางด่วน ด่านบ่อนไก่มุ่งหน้าแยกวิทยุซึ่งเป็นฝั่งของกลุ่ม นปช. จึงรับฟังได้ว่ามีคนในกลุ่ม นปช.และฝ่ายเจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กัน ส่วนที่พยานของฝ่ายผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.และพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ผู้ตายถูกยิงขณะยืนอยู่ที่หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. ถ.พระราม 4 แต่กลับปรากฏจากรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุว่าหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.เป็นจุดที่บุคคลอื่นถูกยิงไม่ใช้จุดที่ผู้ตายถูกยิง และเมื่อตรวจสอบภาพเคลื่อนไหวจากแผ่นบันทึกภาพ ซึ่งได้บันทึกการสัมภาษณ์ผู้ตายก่อนเสียชีวิตก็ไม่ได้ระบุว่าตนเองถูกยิงที่ หน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. และยังได้ความจากพยานผู้ตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนว่า หากจะระบุวิถีกระสุนที่ยิงถูกผู้ตายตามหลักวิชาการจะต้องดูตำแหน่งที่ผู้ตาย ยืน ลักษณะท่าทาง และการเคลื่อนไหวของผู้ตายขณะถูกยิง ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่มีผู้ใดเห็นว่าผู้ตายยืนอยู่ในลักษณะใด แม้ในเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์ผู้ตายจะอ้างว่าผู้ตายได้พูดว่า “ถูกยิงจากฝั่งทหาร” แต่เมื่อพิจารณาตรวจสอบจากภาพเคลื่อนไหว แผ่นบันทึกภาพ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเสียงพูดของผู้ตายด้วยถ้อยคำดังกล่าว โดยมีเพียงลักษณะของการขยับปากพูดเท่านั้น ซึ่งไม่แน่ชัดว่าลักษณะการขยับปากดังกล่าวเป็นไปตามเอกสารการถอดคำให้ สัมภาษณ์หรือไม่ แม้พนักงานสอบสวนเบิกความว่าหัวกระสุนที่ได้จากตัวผู้ตายเป็นขนาด .223 (5.56 มม.) ที่ใช้กับปืนเล็กกล M16 ซึ่งใช้ในราชการทหาร แต่ก็ได้ความจากเจ้าหน้าที่ทหารว่าถูกยิงด้วยหัวกระสุนจริง ซึ่งใช้กับอาวุธปืนอาก้า หรืออาวุธปืนเล็กกล M16 เช่นเดียวกัน ซึ่งพยานผู้ตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนก็เบิกความว่า ลูกกระสุนปืนของกลางในตัวผู้ตายมีลักษณะคล้ายลูกกระสุนปืนที่ยิงถูกเจ้า หน้าที่ทหาร จึงเชื่อว่านอกจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารจะใช้อาวุธปืนขนาด .223 (5.56 มม.) แล้ว ยังมีบุคคลซึ่งมีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. และใช้กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ทหารเช่นกัน
       
       ส่วนผลการตรวจพิสูจน์ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า กระสุนปืน .223 (5.56 มม.) ของกลาง ไม่ได้ยิงออกมาจากอาวุธปืนเล็กกล M16 จำนวน 40 กระบอกของเจ้าหน้าที่ทหาร แม้พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่าอาวุธปืนของกลางสามารถเปลี่ยนลำกล้องได้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่า ก่อนเจ้าหน้าที่ทหารจะส่งอาวุธปืนของกลางมาตรวจพิสูจน์ได้มีการเปลี่ยนลำ กล้องปืนใหม่แต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ได้วินิจฉัยมานั้น จึงฟังได้ว่าผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด . 223 (5.56 มม.) โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ตายถูกยิงจากฝ่ายใดและใครเป็นผู้กระทำ
       
       จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายบุญมี เริ่มสุข ถึงแก่ความตายที่ รพ.ตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2553 เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับประวัติถูกยิงที่ช่องท้องด้วย กระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) ขณะอยู่ที่บริเวณ ถ.พระราม 4 (บ่อนไก่) เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำสั่งวันนี้มีนางนันทพร เริ่มสุข อายุ 68 ปี ภรรยาของนายบุญมี, นางณัฐภัสสร เติมวิจิตร อายุ 46 ปี, นางวรรณศิริ สารการ อายุ 42 ปี และน.ส.พรพิมล เริ่มสุข อายุ 39 ปี บุตรสาวมาร่วมฟังการพิจารณาด้วย
       
       ภายหลังนางณัฐภัสสรกล่าวว่า ศาลมีคำสั่งโดยไม่ระบุว่าบิดาถูกฝ่ายใดยิงเสียชีวิต ซึ่งรับไม่ได้จึงจะต้องขอคิดดูก่อนว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่จะต้องสานต่อคดีอย่างแน่นอน ที่คำสั่งระบุว่าไม่ใช่เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าทหาร อ้างว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ แต่ผู้ชุมนุมอยู่ไกลถึงบ่อนไก่คงไม่สามารถยิงได้ ยอมรับว่ารู้สึกเซ็ง รับไม่ได้ แต่ก็จะสู้
       
       ด้านณัฐพล ปัญญาสุข ทนายความญาติผู้ตายกล่าวว่า พยานที่นำเข้าไต่สวนในคดีนี้ก็เป็นพยานชุดเดียวกับนายชาติชาย ชาเหลา ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งระบุว่าถูกยิงเสียชีวิตโดยกระสุนมาจากฝั่งของ เจ้าหน้าที่ ทั้งพยานฝ่ายตรวจพิสูจน์และตรวจที่เกิดเหตุก็ชุดเดียวกัน อย่างไรก็ตามเป็นดุลยพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งคดีอย่างไร หลังจากนี้พนักงานอัยการจะส่งคำสั่งดังกล่าวไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดี เอสไอเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก่อนจะสรุปสำนวนต่อไป


'ถาวร'ชี้คดี'ลุงบุญมี'ดีเอสไอทำตามใบสั่ง

"ถาวร"ชี้คำสั่งศาลคดี"ลุงบุญมี"สะท้อน ดีเอสไอทำตามใบสั่งการเมือง หวังผลเอาผิด"อภิสิทธิ์-สุเทพ"

“ถาวร”ชี้คำสั่งศาลคดี”ลุงบุญมี”สะท้อน ดีเอสไอทำตามใบสั่งการเมือง หวังผลเอาผิด”มาร์-สุเทพ”

สำนักข่าวเนชั่น โดย ประภาศรี โอสถานนท์

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลาในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ชี้ว่า นายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ที่เสียชีวิตบริเวณสี่แยกบ่อนไก่ ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดย ถูกยิงที่บริเวณช่องท้องด้วยกระสุนปืนขนาด.223(5.56มม.)และแพทย์ลงความเห็นติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่ได้เสียชีวิตจากกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่า กระสุนปืนที่โดนผู้ตายมีขนาด .223 ที่เป็นกระสุนที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่แต่ผู้ชุมนุมก็มีกลุ่มติดอาวุธที่ใช้กระสุนชนิดเดียวกันยิงใส่ทหารด้วย

จึงไม่สามารถระบุยืนยันได้ว่าการตายดังกล่าว เป็นกระสุนที่มาจากฝ่ายใด ดังนั้นการที่นายธาริตยัดเยียดข้อกล่าวให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ จะยืนยันได้อย่างไรว่านายพัน คำกร ตายเพราะกระสุนจากเจ้าหน้าที่รัฐจนกระทั่งมาเอาผิดกับคนทั้งสอง จะชี้ให้เห็นว่ากลุ่มนปช.มีผู้ติดอาวุธแฝงอยู่ ขณะเดียวกันในคำสั่งศาลคดีนายพันเองศาลก็ระบุชัดว่า เป็นผู้เดินออกมาดูเหตุการณ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรมที่จะชี้ให้เห็นว่าดีเอสไอ พยายามยัดเยียดว่าทหารเป็นผู้ยิงนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งพรรคเห็นว่า เมื่อความจริงปรากฏต่อสาธารชน จะทำให้ความยุติธรรมกลับคืนมา ดีใจที่ทหารได้รับความเป็นธรรมจากคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา ดีเอสไอสรุปตามใบสั่งทางการเมืองเพื่อเบรกเกมเอาผิดกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพให้ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ศาลชี้ หลักฐานไม่ชัดเจน บุญมี ตาย จากกระสุนปืน

view