สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นิรโทษกรรมก็ไม่พ้นผิด

นิรโทษกรรมก็ไม่พ้นผิด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดนั้น เป็นที่นิยมกันมากในประเทศไทย เช่น การรัฐประหารทุกครั้งเมื่อได้อำนาจแล้ว ผู้กุมอำนาจก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรม

ให้แก่ผู้ที่ทำรัฐประหารซึ่งก็คือตัวเองและพรรคพวก นอกจากนี้ก็มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดต่างๆ ในขณะนี้ก็มีกระแสจะให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รายละเอียดก็คงทราบกันดีอยู่แล้ว

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผู้กระทำผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินต่างๆ เช่น การหลีกเลี่ยงภาษี การกินเงินต่างจากโครงการต่างๆ มักจะไม่ได้รับโทษจากการตัดสินของศาล เนื่องจากมีความฉลาดรอบคอบเอาตัวรอด มีวิธีการหักล้างข้อกล่าวหาจนไม่ต้องถูกศาลตัดสินลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คิดว่าตัวเองไม่มีความผิด หรือบางกรณีที่ทำผิดแล้วเมื่อจะถูกจับได้ไล่ทันก็นำเงินทองสิ่งของที่ได้จากการทำผิดนั้นไปคืน แล้วบอกแก่สังคมว่า เงินที่ได้มานั้นตนเองได้คืนไปแล้ว เรื่องก็ควรจะจบไป ทั้งสองกรณีนี้ความผิดได้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว ย่อมเป็นความอยู่อย่างแน่นอน

การนิรโทษกรรมก็ดี การรอดพ้นจากการเอาผิดเพราะฉลาดในการเอาตัวรอดก็ดี การนำเงินทองสิ่งของไปคืนก็ดี ล้วนแต่ไม่อาจจะพ้นผิดไปได้ เพราะความผิดเกิดขึ้นแล้ว ตราบใดที่ยังไม่ได้รับโทษความผิดนั้นก็ยังคงอยู่ ไม่หายไปไหน

การนิรโทษกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยกฎหมายทางโลก แต่ในทางธรรมนั้นไม่มี ความผิดก็คือความผิด กฎของกรรมคือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ความดีความชั่วติดตัวไป กฎทางธรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือศีลของพระภิกษุ ผิดก็คือผิด ศีลปาราชิกทำผิดแล้วก็ขาดจากการเป็นพระภิกษุในทันที อันเป็นโทษหนักที่สุด ไม่มีอุทธรณ์ ศีลที่มีความผิดรองลงมาได้แก่สังฆาทิเสส หากละเมิดแล้วถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุชั่วคราว ต้องได้รับโทษก่อนจึงจะพ้นผิด นั่นคือ ต้องสำนึกว่าตัวเองทำผิดแล้วไปเข้าปริวาสกรรม จนครบกำหนด จากนั้นคณะสงฆ์ก็จะทำพิธีสวดคืนความเป็นพระให้ตามพระวินัย ส่วนศีลข้อที่มีความผิดเบาลงกว่านั้น ก็ต้องปลงอาบัติก่อนจึงจะพ้นผิดได้ การปลงอาบัติคือการสำนึกผิดโดยแสดงต่อภิกษุอื่นว่าตนสำนึกผิดและจะกลับตัวกลับใจไม่ทำผิดอีก ถือว่าเป็นการรับโทษที่ตนเองได้ทำผิดไปการแสดงความผิดของตนต่อภิกษุอื่นก็เพื่อให้เป็นพยาน เมื่อปลงอาบัติตามขั้นตอนดังกล่าวเสร็จแล้วจึงจะพ้นผิดได้

การพ้นผิดของภิกษุในพุทธศาสนาในกรณีที่ละเมิดศีลจึงประกอบไปด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือ (1) รู้ตัวว่าผิดแล้วยอมรับความผิดหรือสำนึกผิด (2) ได้รับการลงโทษตามที่กำหนดไว้แล้วจึงจะพ้นผิดได้ หากไม่ครบเงื่อนไขสองข้อนี้ก็เป็นอันว่าความผิดยังคงอยู่

หันมามองกรณีนิรโทษกรรมบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วแตกต่างกันอย่างยิ่งกับกรณีการเข้าปริวาสกรรมและการปลงอาบัติของภิกษุ นั่นคือ การนิรโทษกรรมไม่มีเงื่อนไขให้ผู้กระทำผิดได้แสดงตนว่ายอมรับความผิดและได้สำนึกผิด รวมทั้งยอมรับการลงโทษตามกฎหมาย แต่เป็นการใช้อำนาจออกกฎหมายยกเลิกความผิด ผู้ทำผิดจะสำนึกหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

การกระทำเช่นนี้จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะนำไปสู่การใช้อำนาจไม่เป็นธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่กระทำผิดหรือคิดจะกระทำผิดก็ไม่มีความกลัวเกรง เพราะหากสามารถมีอำนาจก็หาทางออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ตนเองหรือให้พรรคพวกของตนเองที่มีอำนาจออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ได้ จึงทำให้มีการแสวงหาอำนาจทางการเมืองในทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ที่สามารถกระทำตามความต้องการของตนเองได้ โดยอาศัยเสียงข้างมากที่มาจากประชาชน

แม้จะอ้างเหตุผลใดก็ตามในการนิรโทษกรรมยกเลิกความผิดแก่ใครก็หรือกลุ่มใด โดยที่คนคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นไม่มีความสำนึกในความผิดของตนและไม่ได้รับการลงโทษ การนิรโทษกรรมนั้นก็ไม่ทำให้คนพ้นผิดไปได้ ความผิดก็ยังคงอยู่ เปรียบเหมือนคนมีแผลเป็นที่ใบหน้าแล้วใช้เครื่องสำอางตกแต่งให้แผลเป็นนั้นหายไป ทำให้ผู้คนมองไม่เห็น แต่แผลเป็นนั้นไม่ได้หายไปไหน เมื่อกลับถึงบ้านล้างเครื่องสำอางออก แผลเป็นนั้นก็ปรากฏแก่ตาของตน การนิรโทษกรรมก็เหมือนเครื่องสำอางที่ใช้ปกปิดแผลเป็นนั้นเอง

จึงฝากไว้แก่ท่านทั้งหลายให้พิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมให้ถึงแก่นแท้ การนิรโทษกรรมนั้นทำได้หากผู้ทำผิดมีความสำนึกอย่างแท้จริงและยอมรับการลงโทษอย่างเต็มใจ การนิรโทษกรรมจึงจะเกิดประโยชน์ในการให้โอกาสคนที่สำนึกผิดและยอมรับโทษได้กลับตัวกลับใจทำความดีและสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากนิรโทษกรรมเพื่อให้พ้นผิดด้วยเหตุผลเพื่อความสามัคคี ความปรองดอง ความสงบ ฯลฯ โดยที่ผู้ทำผิดไม่ได้มีสำนึกใดๆ แล้วก็จะเป็นการสูญเปล่าและมีโอกาสเกิดโทษขึ้นได้เช่นกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นิรโทษกรรม ไม่พ้นผิด

view