สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินบาทผันผวน

เงินบาทผันผวน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เรื่องเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์การเงินนั้นบางคนบ่นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเป็นทุนอยู่แล้ว

ดังนั้น เมื่อเราพูดว่าเราเป็นห่วงเรื่องเงินบาท “ผันผวน” แต่ที่จริงแล้วเราหมายความว่าเราเป็นห่วงเงินบาทกำลังแข็งค่าขึ้น ก็จะยิ่งทำให้เรื่องที่ไม่ง่ายอยู่แล้วเข้าใจยากขึ้นไปอีก ทั้งนี้เวลาที่มีการเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปแทรกแซงตลาดให้เงินบาทมีเสถียรภาพนั้น เรามักจะหมายความว่าให้ ธปท. เข้าไปกดไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปมากกว่าเป็นห่วงว่าเงินบาทปรับตัวขึ้นและลงมากเกินไป ทั้งนี้เพราะหากค่าเงินปรับตัวขึ้น-ลงมากแต่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่เดิมผู้ส่งออกก็จะไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและผู้กู้เงินดอลลาร์จะไม่มีภาระเพิ่มขึ้น ในทำนองเดียวกันตอนที่ประเทศไทยประสบวิกฤติค่าเงินบาท คนทั่วไปก็จะไม่สามารถเข้าใจถึงภัยอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นเพราะเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 นั้นทางการประกาศว่าได้ปล่อยให้ค่าเงินบาท “ลอยตัว” ทำให้เข้าใจว่าเงินบาทจะปรับขึ้นลง ไม่ใช่อ่อนค่าลงอย่างฉับพลันจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ไปเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในระยะเวลาเพียง 3-4 เดือน

มาวันนี้ประเทศไทยก็มีแววว่าจะมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับ “ความผันผวน” ของค่าเงินบาทอีกแล้ว ผมจึงขอเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผมต้องขอสรุปว่าเป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่าจะท้าทายนโยบายการเงินของไทยอย่างยิ่ง กล่าวคือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะพยายามหามาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอาจเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาถึงโครงสร้างและความเหมาะสมของนโยบายการเงินของไทยในภาพรวม

นโยบายการเงินของไทยสมัยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997 นั้นเป็นนโยบายที่ผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์เป็นหลัก กล่าวคือเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์มีความคงที่ก็จะสรุปได้ว่าเงินเฟ้อของไทยก็จะเท่ากับเงินเฟ้อของสหรัฐไปด้วย เช่น หากเงินเฟ้อสหรัฐประมาณ 2% ต่อปี เงินเฟ้อไทยก็จะ 2% ต่อปีไปด้วย แต่หากว่าเงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์เฉลี่ยปีละ 3% เงินเฟ้อของไทยก็จะเฉลี่ยปีละ 5% เป็นต้น ตรงนี้เป็นการอธิบายแบบพื้นฐานทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงนั้นเงินเฟ้อไทยจะสูงกว่าสหรัฐและค่าเงินก็จะปรับตัวเป็นครั้งคราว แต่ครั้งละมากๆ เช่น จาก 23 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์ในปี 1984 เป็นต้น

หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ธปท. เปลี่ยนนโยบายการเงินจากการผูกค่าเงินบาทกับเงินสกุลหลักมาเป็นการตั้งเป้าเงินเฟ้อ (inflation targeting) ข้อดีคือเมื่อไม่ต้องผูกค่าเงิน ที่สำคัญคือ ธปท. มีความสามารถและความน่าเชื่อถือเพียงพอที่จะกำหนดเป้าเงินเฟ้อของตัวเองโดยตรงไม่ต้องหยิบยืมความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางสหรัฐมาใช้เช่นแต่ก่อน และในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมากรอบนโยบายการเงินที่ตั้งเป้าเงินเฟ้อก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทางการเงินในภาพรวมได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีผลข้างเคียงตามมาคือการที่ ธปท. ได้เข้าไปแทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท กล่าวคือ ธปท. ต้องซื้อเงินดอลลาร์เป็นจำนวนมาก โดยการพิมพ์เงินบาทออกมา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูดซับเงินบาทส่วนเกินดังกล่าวออกจากระบบโดยการออกพันธบัตร ธปท. ทำให้ ธปท. ต้องสะสมเงินตราต่างประเทศเป็นสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก ในขณะที่หนี้สินที่เป็นพันธบัตรก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปัญหาและสิ่งที่จะท้าทายประเทศไทยและการยึดเป้าเงินเฟ้อเป็นกรอบนโยบายการเงินคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐมุ่งมั่นที่จะกดดอกเบี้ยลงไปใกล้ศูนย์และพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากมาซื้อพันธบัตร ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวต่ำผิดปกติเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวในปี 2013 นี้ เป็นต้นไป ธนาคารกลางสหรัฐยืนยันว่าจะพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรเพิ่มขึ้นเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์หรือปีละ 1.02 ล้านล้านดอลลาร์จนกว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐจะลดต่ำกว่า 6.5% (ปัจจุบันอยู่ที่ 7.9%) ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ามาตรการพิมพ์เงินดังกล่าวจะทำต่อเนื่องไปอีก 2 ปี กล่าวคือสหรัฐจะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เมื่อก่อนวิกฤติสหรัฐเมื่อปี 2009 มีเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในระบบการเงินทั่วโลกเพียง 8 แสนล้านดอลลาร์และหลังวิกฤติก็ได้พิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยมา โดยในช่วง 2009-2012 งบดุลธนาคารกลางสหรัฐขยายตัวมาเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ (กล่าวคือพิมพ์เงินออกมาเพิ่มประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา)

ในขณะเดียวกันธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรปได้พิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยเมอร์ริล ลินซ์ ประเมินว่างบดุลของธนาคารกลางดังกล่าวบวกกับทุนสำรองของธนาคารกลางอื่นๆ ของโลก (ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าสภาพคล่องในโลกมีอยู่มากน้อยเพียงใดนั้นได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 13-14 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2008-2009 เป็น 21 ล้านดอลลาร์ในขณะนี้) กล่าวคือสภาพคล่องของโลกเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นคือนายชินโซ อาเบะ ก็ได้กดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยอมปรับเป้าเงินเฟ้อจากเดิมประมาณ 1% ต่อปีมาเป็น 2% ต่อปี ทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะพิมพ์เงินเยนออกมาเป็นจำนวนมากส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงกว่า 10% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (เงินเยนเริ่มอ่อนค่าตั้งแต่นายอะเบเริ่มหาเสียงในเดือนพฤศจิกายน) การที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดียวกันเมื่อเทียบกับเงินยูโร (จากประมาณ 1.2 ดอลลาร์ ต่อ 1 ยูโร มาเป็น 1.33 ดอลลาร์ ต่อ 1 ยูโร) ทำให้ยุโรปเริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจที่เงินของตนแข็งค่ามากเกินไปและเร็วเกินไป ในขณะที่ยุโรปยังอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เชื่อได้ว่ายุโรปก็อาจมีมาตรการทำให้เงินของตนอ่อนค่าลงจากระดับปัจจุบัน

หากตลาดเชื่อว่าเงินดอลลาร์จะค่อยๆ อ่อนค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินหลายสกุลในเอเชีย (เช่นที่กำลังที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้) และหากเชื่ออีกว่าธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าวข้างต้นจะพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องอีก 1-2 ปี ก็มีความเสี่ยงว่าจะมีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยและประเทศเอเชียอื่นๆ เพื่อซื้อพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าและยังสามารถคาดหวังว่าเงินจะแข็งค่าอีกด้วย เช่น พันธบัตร 2 ปีของรัฐบาลไทยหรือ ธปท.ให้ผลตอบแทนประมาณ 3% ในขณะที่พันธบัตร 2 ปีของรัฐบาลสหรัฐให้ผลตอบแทน 0.25%

หากสภาพคล่องที่ล้นโลกกระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้ามา (ส่วนใหญ่เพื่อซื้อพันธบัตรไทย) จริงก็ดูเสมือนว่าจะมีทางเลือกในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ 4 ทางคือ

1. ไม่ต้องทำอะไรเพราะเงินบาทแข็งค่าไปพร้อมกับค่าเงินในภูมิภาค และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะค่อยๆ ลดลง เป็นการปรับตัวตามกลไกตลาด

2. ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าอย่างมากโดยไม่แทรกแซง จนกระทั่งเศรษฐกิจและเงินเฟ้อชะลอตัวลง ทำให้มีเหตุผลที่จะลดดอกเบี้ยได้ตามกรอบของนโยบายการเงินที่ตั้งเป้าเงินเฟ้อ

3. เข้าไปแทรกแซงเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แต่ก็จะมีผลข้างเคียงคืองบดุลของ ธปท. ต้องอ่อนแอลงไปอีกและมีโอกาสสูงที่จะขาดทุนเพิ่มขึ้น

4. สกัดการไหลเข้าของเงินทุนโดยการออกมาตรการควบคุมเงินทุน (capital control) ซึ่งอาจทำเฉพาะจุดและจะเลี่ยงที่จะทำให้ตลาดตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม อาจเสี่ยงต่อการส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนและลดโอกาสที่ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจะได้รับการปรับขึ้นโดยสถาบันจัดอันดับความเสี่ยง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินบาทผันผวน

view