สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทมาเส็ก นอมินี เอ็นวีดีอาร์ กับช่องโหว่ที่ไม่เคยอุด (1)

เทมาเส็ก นอมินี เอ็นวีดีอาร์ กับช่องโหว่ที่ไม่เคยอุด (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ต้นเดือนมกราคม 2556 ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในแวดวงการลงทุน คือข่าวกองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ขายหุ้นชินคอร์ป

(ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น อินทัช ไปนานแล้ว แต่ดูจะไม่ค่อยมีใคร “อิน” กับชื่อใหม่เท่าไรนัก) ออกไปอีก 10.3 เปอร์เซ็นต์ ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท หลังจากที่ทยอยขายไปแล้วบางส่วนก่อนหน้านี้

การขายหุ้นบนกระดานล็อตใหญ่ (Big Lot) ในตลาดหุ้นครั้งนี้มีจำนวนถึง 330 ล้านหุ้น ขายผ่านบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ (“ซีดาร์”) ซึ่งเป็น “บริษัทไทยหัวใจสิงคโปร์” ที่เทมาเส็กก่อตั้งมาซื้อหุ้นชินคอร์ปจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กับภริยา เมื่อเจ็ดปีก่อนหน้า

ครั้งนี้ซีดาร์ขายหุ้นชินคอร์ปไปในราคา 63.25 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าราคาปิดวันก่อน 5.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 2.09 หมื่นล้านบาท

วันที่ 10 มกราคม 2556 ชินคอร์ปชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ซีดาร์ขายหุ้นให้กับนักลงทุนไทยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ ขายให้กับบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด

หลังการขายหุ้นนี้เทมาเส็กยังคงมีอำนาจควบคุมบริษัท ผ่านการถือหุ้นชินคอร์ปของซีดาร์ 13.3 เปอร์เซ็นต์ กับบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ (“แอสเพน”) ซึ่งเป็น “บริษัทกล่องสัญชาติต่างด้าว” ของเทมาเส็ก อีก 41.6 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็น 54.9 เปอร์เซ็นต์

การขายหุ้นของเทมาเส็กในครั้งนี้สอดคล้องกับทิศทางและถ้อยแถลงของเทมาเส็กก่อนหน้านี้ ซึ่งประกาศว่าเทมาเส็กอยากลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจด้านโทรคมนาคมทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากไม่สดใส และไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่จะขายหุ้นชินคอร์ป เทมาเส็กก็เพิ่งขายหุ้น สิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชันส์ (“ซิงเทล”) บริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์

ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจที่เทมาเส็กขายหุ้น แต่การได้เห็นชื่อซีดาร์กับแอสเพน สองบริษัทกล่องในโครงสร้างนอมินีอันลือลั่นเมื่อเจ็ดปีก่อนโผล่ขึ้นในข่าวอีกครั้ง ประกอบกับเห็นชื่อ “บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด” โผล่มาเป็นผู้ซื้อหุ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการขายในครั้งนี้ (หรือ 80% x 10.3% = 8.2 เปอร์เซ็นต์ ของหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด) ก็ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึง “ช่องโหว่” สำคัญสามช่องของระบบกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในไทย ซึ่งดีลขายชินคอร์ปชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่เจ็ดปีผ่านไปก็ยังไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะอุด ไม่ว่ารัฐบาลจะสลับขั้วกลับไปกลับมาเพียงใดก็ตาม

ช่องโหว่แรก คือการปล่อยให้เทมาเส็กใช้คนไทยเป็น “นอมินี” ถือหุ้นแทนตัวเอง ผู้อ่านบางท่านอาจยังจำบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด “บริษัทไทยหัวใจสิงคโปร์” ที่ตั้งมาถือหุ้น 41.1 เปอร์เซ็นต์ ในซีดาร์ เพื่อให้ซีดาร์มี “สัญชาติไทย” ได้ - กุหลาบแก้วนั้นแรกเริ่มเดิมทีมีทุนจดทะเบียนเพียงหนึ่งแสนบาท (!) มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยถือครองเสียงข้างมาก (51%) สองราย คือ พงส์ สารสิน กับ ศุภเดช พูนพิพัฒน์ แต่สองคนนี้มีสิทธิในการออกเสียงหุ้นที่ตนถือเพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เนื่องจากถือหุ้นบุริมสิทธิที่มีสิทธิออกเสียงน้อยกว่าหุ้นสามัญสิบเท่า

ตอนนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีชื่อโผล่เป็นผู้ถือหุ้น 9.9 เปอร์เซ็นต์ ของซีดาร์ (ซึ่งกุหลาบแก้วถือ 41.1 เปอร์เซ็นต์) ด้วย แต่ไม่ชัดเจนว่าธนาคารจงใจเป็นนอมินีหรือเปล่า เพราะอาจจะอยากเข้าไป “ลงทุน” ทางอ้อมในชินคอร์ปจริงๆ ก็ได้ ขณะที่กุหลาบแก้วและผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยของกุหลาบแก้วนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นนอมินี เมื่อดูจากเส้นทางเงินและสิทธิการออกเสียง

หลังจากที่กุหลาบแก้วตกเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความ “น่าเกลียด” อย่างชัดเจนของการตั้งบริษัททุนจดทะเบียนแสนบาทมาถือหุ้นมูลค่าเป็นหมื่นๆ ล้าน) ก็มีการเพิ่มทุนสองครั้งภายในปี 2549 เท่าที่ปรากฏเป็นข้อมูลสาธารณะ โดยมีชื่อ นายสุรินทร์ อุปพัทธกุล หรือ “ดาโต๊ะสุรินทร์” โผล่มาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ 68 เปอร์เซ็นต์ ในบริษัทกุหลาบแก้ว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยเรียกดาโต๊ะสุรินทร์มาสอบสวนในข้อหาเป็นนอมินีถือหุ้นแทน แต่หาตัวไม่ได้ จนถึงบัดนี้คดีจึงยังค้างเติ่ง แต่ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่าตำรวจ “เอาจริง” ขนาดไหน

มาตรา 36 ในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (“พ.ร.บ. ต่างด้าว”) ระบุโทษของการเป็นนอมินีไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ...หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ...ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

บัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ต่างด้าว แบ่งธุรกิจออกเป็นสามประเภท ธุรกิจ “วิทยุโทรทัศน์” จัดอยู่ในบัญชีหนึ่ง คือไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการเลย ส่วน “การบินในประเทศ” อยู่ในบัญชีสอง คือบุคคลต่างด้าวที่อยากประกอบกิจการจะต้องขออนุญาตจากคณะรัฐมนตรีก่อน

ต้นปี 2549 เมื่อเทมาเส็กซื้อหุ้นชินคอร์ป ซึ่งเป็น “บริษัทโฮลดิ้ง” ของเครือชิน แทนที่จะซื้อแต่หุ้นเอไอเอส ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคม เทมาเส็กจึงได้ “ไอทีวี” (กิจการวิทยุโทรทัศน์) และ “แอร์เอเชีย” (กิจการการบิน) ติดพ่วงมาด้วยในฐานะธุรกิจในเครือชินคอร์ป

ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงทำให้โครงสร้างของเทมาเส็กในไทย “มีปัญหา” กว่าโครงสร้างของเทเลนอร์ที่ถือครองดีแทค บริษัทคู่แข่งของเอไอเอส เพราะธุรกิจโทรคมนาคมไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ต่างด้าว แต่ธุรกิจสายการบินกับวิทยุโทรทัศน์อยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีบทบัญญัติห้าม “นอมินีสัญชาติไทย” อย่างชัดเจน คือมาตรา 36 ที่กล่าวถึงข้างต้น

ว่ากันตามจริง การใช้นอมินีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวดำเนินไปอย่างแพร่หลายและยาวนานในหลากหลายธุรกิจ ผู้เขียนไม่เคยเห็นใครถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 36 เลย และจะว่าไป หลายธุรกิจที่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ต่างด้าว ก็ดูจะไม่ค่อยมีเหตุผลแล้วว่า จะปิดกั้นไม่ให้ชาวต่างด้าวทำทำไม เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของความมั่นคง หรือมีความอ่อนไหวต่อประเด็นอธิปไตยของชาติ (อย่างเช่นธุรกิจที่ต้องอาศัยการใช้ประโยชน์จากที่ดินในปริมาณมาก)

นี่จึงเป็นเหตุผลที่นักวิชาการ นักธุรกิจ และนักอื่นๆ พยายามเรียกร้องรณรงค์ให้รัฐปรับปรุง พ.ร.บ.ต่างด้าว ให้ทันสมัยและโปร่งใสชัดเจนเสียที นักธุรกิจต่างด้าวที่อยากเข้ามาลงทุนในไทยจะได้ไม่ต้องทำตัวหลบๆ ซ่อนๆ ใช้โครงสร้างนอมินีแบบสลับซับซ้อน พลางพยายามตีสนิทกับผู้มีอำนาจทุกสีทุกขั้ว ใจก็เต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ภาวนาว่ารัฐไทยจะทำตัว “ปากว่าตาขยิบ” ตลอดไป ไม่บังคับใช้กฎหมายที่ล้าหลังอย่างเคร่งครัด เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจไทย!

แต่สังคม “ปากว่าตาขยิบ” แบบไทยๆ มักจะเป็นเสียอย่างนี้ คือเรื่องที่ถูกต้องแต่แก้ยากและส่งผลกระทบในวงกว้างไม่อยากแตะ ใช้วิธีแก้แบบ “ยาแก้ปวด” หรือปากว่าตาขยิบง่ายกว่ากันเยอะ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ถูกต้องและโดยมากต้องหลับหูหลับตาใช้หลักการแบบ “หลักกู” ก็ตามที

ช่องโหว่อีกสองช่องของกฏระเบียบที่การขายหุ้นของเทมาเส็กชี้ให้เห็นอีกครั้งว่ายังไม่มีใครพยายามจะอุด ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าเจ็ดปี คือ ข้อบกพร่องของกฏการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะการถือครองหุ้นผ่านเอ็นวีดีอาร์ และจุดอ่อนของการปล่อยให้ใช้กระดาน Big Lot เป็นแหล่งเลี่ยงภาษีแบบกล้วยๆ คือตกลงซื้อขายหุ้นล็อตใหญ่กันนอกตลาด แต่มาเคาะราคาซื้อขายกันในตลาดเพื่อจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ โดยไม่มีขีดจำกัดหรือข้อแม้ที่พึงจะมี

โปรดติดตามตอนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เทมาเส็ก นอมินี เอ็นวีดีอาร์ ช่องโหว่ ไม่เคยอุด

view