สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลักที่คนไม่ทำตาม

หลักที่คนไม่ทำตาม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยพูดหลักการของเขาไว้ว่า "มีคนเอาไปกล่าวอ้างมากมาย แต่น้อยคนที่จะทำตาม" คงเป็นเรื่องดูดี ดูเท่

สำหรับคนที่อ้างคำพูดของบัฟเฟตต์ แต่ลึกๆ แล้ว เขาคงไม่เชื่อหลักการของบัฟเฟตต์ จะทำกำไรได้ดีเท่ากับแนวคิดและวิธีการของเขาเอง เขาอาจเชื่อสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำ ว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบัฟเฟตต์ หรือเป็นสิ่งที่ดีในตลาดหุ้นอย่างตลาดหุ้นนิวยอร์ค หรืออาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนักลงทุนบางคน ที่มีเงินมากมหาศาลอย่างบัฟเฟตต์ แต่ไม่ใช่สำหรับเขาที่มีพอร์ตเล็กนิดเดียว หรือในตลาดหุ้นไทยที่บริษัทส่วนมากเป็นบริษัทขนาดเล็ก และถ้าเป็นบริษัทใหญ่คุณภาพไม่โดดเด่นเหมือนอย่างในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่ทำตามสิ่งที่บัฟเฟตต์สอนในหลายเรื่อง

ว่าที่จริงในหลายหลักการที่บัฟเฟตต์พูดถึง เขากลับทำตรงกันข้าม ข้ออ้างของเขา คือ วิธีการลงทุนที่ดีที่สุด คือวิธีที่ถูกกับ "จริต" หรือสไตล์ หรือความชำนาญของตัวเอง "อย่าไปตีกอล์ฟตามวงของไทเกอร์วู้ด แต่ตีตามวงสวิงเหมาะกับร่างกายหรือความสามารถของตนเอง" เขาอาจพูดแบบนี้ ผมคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่นเป็นความคิดถูกหรือไม่ แต่อยากจะลองลิสต์ดูรายการที่ VI ไทยจำนวนไม่น้อยคิดและทำที่ดูเหมือนจะไม่ใช่แนวคิดของบัฟเฟตต์เลย

เรื่องแรกคือบัฟเฟตต์บอกว่า การซื้อหุ้นของบริษัทดีเยี่ยมในราคายุติธรรม ดีกว่าการซื้อหุ้นของบริษัทธรรมดาราคาถูกมาก แต่ VI น้อยคนที่จะซื้อหุ้นของบริษัทดีมาก เพราะเขามักคิดว่า "แพง" เสมอ เมื่อเทียบกับอีกบริษัทหนึ่ง ที่กำลังมองอยู่ที่มีราคา "ถูกมาก" หลายคนอาจคิดหรือบอกว่า เขาคิดว่าการซื้อบริษัทที่ดีมาก บางทีอาจให้ผลตอบแทนที่ใช้ได้อยู่ แต่เมื่อเทียบกับบริษัทที่ "ถูกมาก" แล้ว ก็ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า ขณะที่ความเสี่ยงที่ราคาจะตกลงมามากกว่าเพราะราคา"สูง" สำหรับเขาแล้ว การซื้อบริษัทระดับรองลงมา ที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามากจึงคุ้มค่ากว่า

เรื่องที่สองคือ ระยะเวลาลงทุนในหุ้นแต่ละตัว เรื่องนี้บัฟเฟตต์พูดไว้มากในหลายๆ โอกาส เริ่มตั้งแต่การโค้ดคำพูดของ ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ ที่ว่า ถ้าคุณซื้อหุ้นดีเยี่ยมในราคายุติธรรมได้แล้ว เวลาจะขายหุ้นคือ "ไม่มีวันขาย" หรือถือตลอดไป หรืออีกครั้งหนึ่งบัฟเฟตต์ได้พูดถึงพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของคนในตลาดหลักทรัพย์ว่า “นานมาแล้ว เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน ได้ค้นพบทฤษฎีของการเคลื่อนไหวของวัตถุสามข้อซึ่งเป็นงานของอัจฉริยะ แต่ความเป็นอัจฉริยะของเขานั้นไม่ได้ส่งมาถึงเรื่องการลงทุน เขาขาดทุนอย่างหนักจากเหตุการณ์ฟองสบู่เซ้าธ์ซี ซึ่งทำให้เขาออกมาพูดว่า ‘ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวแต่ไม่สามารถวัดความบ้าคลั่งของมนุษย์’ ถ้าเซอร์ไอแซ็คนิวตันไม่ชอกช้ำจากการสูญเสียครั้งนั้นเกินไป เขาคงสามารถค้นพบกฎข้อที่สี่ของการเคลื่อนไหวนั่นคือ ‘สำหรับนักลงทุนโดยรวมแล้ว ผลตอบแทนจะลดลงเมื่อการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น’ ”

VI ไทยส่วนใหญ่ที่ผมเห็นนั้น ลงทุนในหุ้นแต่ละตัวค่อนข้างสั้นมาก น่าจะไม่เกิน 3-4 เดือน คนที่ลงทุนยาวหน่อยก็อาจจะถึงปี แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เกินปีหรือสองปี จริงอยู่ นี่ก็อาจจะยาวแล้วเมื่อเทียบกับนักเล่นหุ้นทั่วไปที่อาจจะเล่นกันเป็นรายวัน แต่ถ้าจะบอกว่ามันเป็นการลงทุนที่เน้นในเรื่องของพื้นฐานหรือผลประกอบระยะยาวของธุรกิจตามหลักการแบบ VI แล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่ มันอาจจะเป็นเพียงการ “เล่นเก็งกำไรจากผลประกอบการระยะสั้น” มากกว่า

เรื่องที่สามคือ เรื่องของหุ้น Turnaround หรือหุ้นที่กำลัง “ฟื้นตัว” ซึ่งก็เป็นกลุ่มหุ้นที่กำลังร้อนแรงมากในช่วงนี้ เนื่องจากมันเป็นกลุ่มหุ้นที่มีราคากระโดดขึ้นไปมหาศาลเป็นหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้น บางตัวขึ้นไปถึง 10 เท่าภายในเวลาปีเดียวก็มี บัฟเฟตต์พูดสั้น ๆ ว่า “Turnarounds seldom turnaround” แปลว่าหุ้น “ฟื้นตัว” นั้น น้อยครั้งที่จะ “ฟื้น” ถ้าจะขยายความก็คือ หุ้นกลุ่มนี้มักจะ “ตาย” มากกว่ารอด

แต่สำหรับ VI ไทย โดยเฉพาะในช่วงนี้ หุ้น “ฟื้นตัว” มีเพียบ แทบจะพูดกันว่าตัวไหนจะ “ฟื้นตัว” รายต่อไป ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาอย่างโดดเด่นตัวแล้วตัวเล่าพร้อม ๆ กับกำไรของบริษัทที่กำลังกลับมา ไม่ว่าจะมาจาก “กิจการใหม่” หรือการ “ปรับโครงสร้างการเงินใหม่” เป็นตัวยืนยันว่ามันกำลัง “ฟื้น” เพราะฉะนั้น ราคาจะต้องวิ่งแรง ดังนั้น การเข้าไปซื้อลงทุนก่อนก็จะทำเงินได้มหาศาล “หลายๆ เด้ง” ดังนั้น หุ้นก็วิ่งขึ้นไปไม่ว่าความจริงของธุรกิจจะเป็นอย่างไร ถ้าจะพูดแบบคมๆ แบบ “วัดรอยบัฟเฟตต์” เราก็อาจจะพูดว่าในตลาดหุ้นไทยนั้น “Turnarounds always turnaround” แปลว่า “หุ้นฟื้นตัวนั้น ยังไงก็ต้องฟื้น” ถ้ามีคนเชื่อและทำให้มันฟื้น

เรื่องที่สี่ที่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ในการลงทุนนั้น สิ่งหนึ่งที่บัฟเฟตต์พูดตลอดก็คือเรื่องความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร เขาบอกว่า “ครั้งหนึ่งมีคนบางคนพูดว่าในการจ้างคนมาทำงานนั้น คุณมองหาคุณสมบัติสามประการคือ ความซื่อสัตย์ ความฉลาดเฉลียว และความขยันหมั่นเพียร และถ้าเขาไม่มีคุณสมบัติข้อแรก คุณสมบัติอีกสองข้อจะฆ่าคุณ ลองคิดดู มันเป็นเรื่องจริง ถ้าคุณจ้างคนที่ไม่มีคุณสมบัติข้อแรก คุณก็อยากที่จะให้เขาโง่และขี้เกียจ” เขายังเคยบอกว่าเขาไม่ต้องการลงทุนกับคนที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่เคยประสบความสำเร็จในการลงทุนกับผู้บริหารที่ไว้ใจไม่ได้และมีประวัติที่น่าสงสัย

สำหรับ VI ไทยนั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะยึดกับหลักการนี้ อย่างน้อยเวลาพูด แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเวลาเจอกับหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะมี “ประวัติ” ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่ “โปร่งใส” แต่เวลานี้หุ้นดูเหมือนว่ามีราคาถูกมากหรือหุ้นอาจจะกำลัง “ฟื้นตัว” เขาจะยังสามารถยึดอยู่กับหลักการ “ไม่เกี่ยวข้อง” ได้หรือเปล่า VI หลายคนอาจจะเปลี่ยนใจหรือไม่ก็อาจจะอ้างว่าพฤติกรรมที่ถูกกล่าวขวัญอาจจะไม่ชัดเจน บางทีก็อาจจะดูว่าผู้บริหารอื่นก็ทำกัน มากบ้างน้อยบ้างเป็นเรื่อง “ปกติ”

ที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ต่อให้ไม่น่าไว้วางใจยังไงก็ตาม กำไรหรือผลประกอบการที่กำลังเกิดขึ้นนั้น มันก็อาจจะคุ้มค่าอยู่ดี กล่าวโดยสรุปก็คือ เขาพร้อมจะ “หรี่ตาข้างหนึ่ง” และเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นที่ผู้บริหารอาจจะออก “สีเทา” เพราะเขาคิดว่า โอกาสทำเงินนั้นสูงลิ่ว ว่าที่จริงการที่ผู้บริหารเป็นแบบนี้ ในใจเขากลับคิดว่าจะทำให้ราคาหุ้นมักจะวิ่งได้แรง และเร็วยิ่งกว่าที่ผู้บริหารยึดแต่ธรรมาภิบาลเป็นไหน ๆ เพราะผู้บริหารที่ขาดธรรมาภิบาลนั้น มักจะเข้ามาร่วม “เล่นหุ้น” ด้วย

ทั้งหมดเป็นบางส่วนของคำพูดหรือหลักการที่คนชอบพูด แต่ไม่ใคร่จะปฏิบัติโดยอ้างเหตุยกเว้นและความไม่เหมาะสมกับสภาพและสถานการณ์ของตลาด การที่คนปฏิบัติในทางตรงข้ามนั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีเหตุผล ตรงกันข้าม เขาอาจจะมีประสบการณ์ที่ดี จากการทำแบบนั้น พูดง่ายๆ สามารถทำกำไรได้มากกว่าจากการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่บัฟเฟตต์สอน อย่างไรก็ตาม ข้อเตือนใจของผมคือ ผลการลงทุนที่ดีในช่วงเวลาหนึ่งนั้น อาจจะไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าหลักการถูกต้อง มันต้องอาศัยเวลาที่ยาวนาน หลักการของบัฟเฟตต์หรือของ “เซียน” ระดับโลกนั้น ส่วนใหญ่ถูกทดสอบมายาวนานว่าได้ผลดีและผมเชื่อว่าไม่ใคร่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือตลาดแต่ละแห่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หลักที่คนไม่ทำตาม

view