สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินบาทจะแข็งค่าไปถึงไหน และธปท.กำลังทำอะไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม



นับตั้งแต่ตลาดเงินเปิดทำการเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2556 จนถึงวันนี้ (22 มกราคม 2556) ค่าเงินบาทใช้เวลาเพียง 22 วันปรับตัวแข็งค่าแล้ว 3.17%

ล่าสุด วันที่ 21 มกราคม 2556 เงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 29.63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากที่ปิดตลาดปลายปี 2555 ที่ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อีกเพียงไม่กี่สตางค์จะหักปากกาเซียนแล้ว เพราะก่อนหน้านี้บรรดานักค้าเงินมีการคาดการณ์กันไว้ว่าค่าเงินบาทในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางปีและ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี

ภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ทำเอานักค้าเงินบางรายถึงกับอึ้งกับปฏิกิริยาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าบทบาทของธนาคารกลางในประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed float system) อย่างไทยที่เคยเข้ามาชะลอการแข็งค่าของเงินบาทด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐและขายเงินบาทที่ตลาดเรียกว่าเข้ามาแทรกแซงค่าเงินในช่วง 21 วันที่ผ่านมาแทบไม่มีให้เห็น หรือไม่มีเลยก็ว่าได้ จนบางสำนักมองไกลว่าเงินบาทอาจไปหลุดระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือเห็นเลข 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเสียด้วยซ้ำ!!!

แม้ว่าการโจมตีค่าเงินจะไม่ใช่ประเด็นที่นักค้าเงินกังวลในขณะนี้ เพราะด้วยระบบลอยตัวแบบมีการจัดการแตกต่างจากในอดีตที่ประเทศไทยผูกค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐเอาไว้ แต่เงินทุนที่ยังคงหลั่งไหลจากนโยบายผ่อนคลายปริมาณเงินของหลายประเทศทำให้เม็ดหลั่งไหลไปหาแหล่งที่มีผลตอบแทนสูงยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายธปท.อยู่ดี เมื่อการเก็งกำไรของนักลงทุนที่เห็นโอกาสสร้างผลตอบแทนจากประเทศไทย เงินลงทุนจำนวนมากจึงยังคงไหลเข้ามา ดังนั้นการจัดการของธปท.ต้องทำต่อเนื่อง

แต่หากฟังน้ำเสียงของผู้บริหารธปท.แล้วจะเข้าใจถึงสาเหตุดังกล่าว เพราะผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในบัญชีของธปท.ทั้งที่เป็นการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและขาดทุนจากต้นทุนในการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทและออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องตลอดหลายปีที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นที่ฉุดรั้งการตัดสินใจเข้าแทรกแซงในเวลานี้ ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงจูงใจของนักลงทุนก็ทำไม่ได้ด้วยอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เครื่องไม้เครื่องมือที่ธปท.จะใช้ดูแลค่าเงินบาทในเวลานี้ธปท.ยืนยันว่ามีหลากหลายให้เลือกใช้ รูปแบบหนึ่งที่มีการคาดการณ์ว่าเป็นไปได้มากที่สุดคือการเปิดให้นักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ในตลาดโลกเอื้อให้เกิดการลงทุนมากขึ้นจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐและสหภาพยุโรป

ธปท.เชื่อว่าการไหลออกของเงินทุนน่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาได้ โดยจะเห็นได้ว่าในปี 2555 ที่ผ่านมามีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าประเทศ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินทุนไหลออกมีปริมาณใกล้เคียงกันที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยในปีที่ผ่านมาแข็งค่าเพียง 3% เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วถือว่าแข็งค่าน้อย โดยค่าเงินวอนเกาหลีแข็งค่า 7.6% ค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 6.5% ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่า 5.8% ค่าเงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 4.1% ส่วนค่าเงินริงกิตมาเลเซียแข็งค่าในระดับ 3.5% ใกล้เคียงกับประเทศไทย

การปล่อยให้เงินไหลออกอาจจะแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้ในระยะสั้น แต่มองระยะยาวแล้วเป็นเรื่องที่ต้องระวังเพราะเงินทุนของไทยที่จะออกไปลงทุนเพื่อซื้อกิจการจะเป็นเงินทุนระยะยาวแต่เงินที่ไหลเข้ามาในประเทศขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดพันธบัตรระยะสั้นที่พร้อมจะไหลออกได้หากมีปัจจัยสนับสนุนเข้ามา ดังนั้นในอนาคตเมื่อเงินไหลออกและนักลงทุนไทยยังออกไปลงทุนต่อเนื่องอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ในช่วงที่เหลือของปียังมีปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของเงินบาทอีกมาก

ดังนั้นการคาดการณ์เงินบาทในขณะนี้จึงเป็นเรื่องยากและซับซ้อนมากขึ้น ในเมื่อมืออาชีพยังมองพลาด ในฐานะผู้ประกอบการเองคงต้องคิดให้หนัก ว่าควรหรือไม่ที่จะเล่นพนันกับกำไรของตัวเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินบาท แข็งค่า ไปถึงไหน ธปท. กำลังทำอะไร

view