สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค่าเงินขย่มแบงก์ชาติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

เป็นไปตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักเศรษฐศาสตร์ทุกค่าย ที่ทำนายว่า ในปีนี้จะเกิดเงินทุนไหลเข้าล้นทะลักในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะใช้นโยบายค่าเงินอ่อนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

หลังปีใหม่เพียงไม่กี่วัน ค่าเงินบาทก็แข็งค่าทำลายสถิติ หลุดกรอบ 30 บาทลงมา วิ่งขึ้นลงอยู่ระหว่าง 29.70-29.95 บาท/เหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นการแข็งค่าที่เร็วเกินคาด ทุบสถิติค่าเงินแข็งค่าในรอบ 17 เดือน อันเป็นผลจากเงินร้อนต่างชาติที่แห่เข้ามาซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นของไทย รวมทั้งซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่โดนเงินทุนต่างชาติถล่ม แต่หลายประเทศในเอเชียโดนกันทั่วหน้า อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ จนต้องออกมาตรการสกัดเงินร้อนเหล่านี้

แน่นอนว่า ไทยจะเดือดร้อนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยการส่งออกไม่ต่ำกว่า 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ฉะนั้น

ในภาคผู้ประกอบการเอกชนเองก็กดดันที่จะให้ ธปท.ตรึงดอกเบี้ยระดับต่ำ และเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าเพื่อพยุงผู้ประกอบการส่งออก

ธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาเรียกร้องให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% ลงอีกเล็กน้อย เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออก จากเงินบาทที่แข็งค่ามาก ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.30-29.50 บาท/เหรียญสหรัฐ

ทางเอกชนมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องต่อไปอีก 23 เดือน โดยอาจจะไปแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 28 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่จะโดนกดดันให้ลดราคาสินค้าจากผู้ส่งออก เพื่อชดเชยรายได้ส่งออกที่สูญเสียไป

"ค่าเงินบาทไทยยังเป็นแนวโน้มที่ปรับตัวตามภูมิภาค แต่ของเราจะค่อนข้างแข็งค่ากว่าเพื่อน จึงอยากให้ ธปท.เข้ามาดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ควรจะปรับขึ้น หรือปรับลงอีกเล็กน้อย อย่าเพิ่งไปกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เงินทุนต่างชาติที่มีผลตอบแทนต่ำไหลเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงนี้" นายธนิตกล่าว

ผู้ประกอบการได้เรียกร้องให้รัฐบาลเห็นใจที่ได้รับผลกระทบ 3 เด้ง คือ 1.ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 2.ตลาดประเทศคู่ค้ายังมีแนวโน้มชะลอตัว เช่น ตลาดยุโรป จีน โดยคาดว่าการขยายตัวการส่งออกในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 9-12% เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่อยู่ที่ 4% ซึ่งความต้องการซื้อที่ลดลงแต่ปริมาณการผลิตยังเท่าเดิมจะทำให้เกิดการแข่ง ขันกันอย่างดุเดือด และแข่งกันลดราคาสินค้า และ 3.ผลจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ขณะที่กำไรอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้มีผลประกอบการขาดทุน

ในขณะที่ ธปท.เองก็ต้องทำหน้าที่ประคับประคองทั้งเศรษฐกิจ ที่เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยส่งผ่านนโยบายการเงิน ทั้งการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย ค่าเงิน และอัตราเงินเฟ้อให้สมดุลและเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากที่สุด

การจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะสกัดเงินไหลเข้า และรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูง หรือทางเลือกที่จะลดดอกเบี้ย ก็ต้องรับมือกับภาวะเงินไหลเข้า และความเสี่ยงเงินเฟ้อที่จะขยับตัวสูงขึ้น

แต่การที่จะสกัดเงินไหลเข้าไม่ให้เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ก็เป็นโจทย์ท้าทายของ ธปท. ครั้นที่จะประกาศแทรกแซงค่าเงินบาท ก็อยู่ในภาวะที่เสี่ยงเกินไปที่จะพลาดท่าให้กับนักเก็งค่าเงินระดับโลกที่ จ้องตาเป็นมัน เพราะรู้ฐานะของกระเป๋าเงิน ธปท.เป็นอย่างดี ที่กำลังเผชิญปัญหาการขาดทุนสะสม 3.3 แสนล้านบาท ที่ยังแกะปมแก้ปัญหาตัวแดงไม่ได้

หาก ธปท.ประกาศจะเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างทุ่มหมดหน้าตัก ก็มีโอกาสที่เกิดปัญหากระเป๋าฉีก ก็จะยิ่งเข้าทางของนักเก็งกำไรมืออาชีพระดับโลก การที่จะสู้ศึกสงครามค่าเงินครั้งนี้ยากเกิน และต้องรอบคอบต้องอาศัยบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 การต่อสู้ค่าเงินบาทยิ่งมีโอกาสที่ทำให้ ธปท.ขาดทุนมากขึ้น

เมื่อดูงบดุลของ ธปท.ล่าสุดในเดือน ธ.ค. 2555 ก็ตอกย้ำว่า บัญชีฝ่ายกิจการธนาคาร ยังมีโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนเพิ่มขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาท และรายจ่ายดอกเบี้ยของ ธปท.ที่ยังคงสูงกว่ารายรับดอกเบี้ยจากการนำทุนสำรองไปลงทุนเนื่องจาก สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยโลกยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

แต่ทว่า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ที่ออกมาย้ำว่า ธปท.ยังไม่มีแผนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่เกี่ยวข้องกับ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นพิเศษ เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ธปท.พยายามส่งสัญญาณปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมาตลอด ซึ่งผู้ประกอบการก็ควรมีการดูแลความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านเครื่องมือ บริหารความเสี่ยงที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน

นับจากนี้ไป ธปท.ก็กำลังเผชิญโจทย์ที่ท้าทายนโยบายการเงิน ทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดทุน 3 แสนล้านบาท การรักษาเสถียรภาพค่าเงินที่จะการสร้างความสมดุลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับ การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินในภูมิภาค และการสกัดนักเก็งกำไรค่าเงิน รวมถึงการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท ให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยที่ประเทศชาติไม่เสียหาย หรือสูญเสียความสามารถการแข่งขัน และที่สำคัญต้องผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามความต้องการของรัฐบาล

นี่คือ ความยากในการวัดฝีมือการบริหารนโยบายการเงินของ ธปท. หากทำไม่ได้เรื่องนี้จะกลายเป็นเผือกร้อนที่รัฐบาลโยนให้ ธปท.ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ค่าเงิน ขย่มแบงก์ชาติ

view