สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับเกณฑ์คุมแบงก์รัฐระวังหนี้ท่วมประเทศ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การเดินหน้าปรับบทบาทและเพิ่มประสิทธิภาพสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงการคลัง เพื่อให้การทำงานของแบงก์รัฐมีความชัดเจน มีความเข้มแข็ง และให้บริการอย่างทั่วถึง

กระทรวงการคลังวางพิมพ์เขียวยกระดับแบงก์รัฐไว้ 3 ด้าน ที่สำคัญ

ด้านแรก การวางบทบาทของแต่ละธนาคารให้มีความชัดเจน ว่าจะให้บริการลูกค้ากลุ่มไหน ไม่ให้ไปซ้ำซ้อนกัน และไม่ต้องไปแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์

ด้านที่สอง ให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการให้บริการให้มากที่สุด

ด้านสุดท้าย จะมีการปรับการกำกับดูแลแบงก์รัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

จากแนวทางการปรับปรุงทั้งสามด้าน ในภาพรวมถือว่าเป็นความพยายามยกเครื่องแบงก์รัฐได้ครบทุกด้าน โดยใน 2 ด้านแรกที่ว่าเป็นด้านที่ไม่หินเกินไป โดยเฉพาะด้านแรกเรื่องการวางบทบาทของแบงก์รัฐแต่ละแห่ง เพราะกฎหมายของการจัดตั้งแต่ละแห่งมีบทบาทหน้าที่ชัดเจนอยู่แล้ว จะมีสิ่งที่ต้องเสริมเข้าไปก็คือการเน้นให้ปล่อยลูกค้าฐานรากให้มากขึ้น เป็นการให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น และยังเป็นการเลี่ยงปล่อยกู้รายใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาว่าแบงก์รัฐไปปล่อยกู้แข่งกับธนาคารพาณิชย์

ในด้านที่สองเรื่องการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ที่ผ่านมาก็ถือว่ามีความร่วมมือกันเบื้องต้นบ้างแล้ว เช่น การใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนของการให้บริการ ไม่ให้มีการลงทุนซ้ำซ้อน

โดยจะมีธนาคารออมสิน ที่เป็นแบงก์รัฐที่มีความเข้มแข็งมากเป็นตัวหลักของการลงทุนตู้เอทีเอ็ม และให้ลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่มีตู้เอทีเอ็มน้อย ให้มาใช้ผ่านตู้ธนาคารออมสินโดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ในการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่สำคัญและยังเดินไปไม่ถึง คือ การใช้เงินทุนร่วมกัน โดยที่กระทรวงการคลังวาดฝัน ให้ธนาคารออมสินที่เป็นธนาคารแห่งการออมและมีผู้ฝากเงินเข้ามาจำนวนมากในต้น ทุนที่ต่ำ ปล่อยกู้ให้กับ ธอส. ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ในต้นทุนต่ำเพื่อให้แบงก์ดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าในอัตราดอกเบี้ยไม่ สูง

การให้ธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินต้นทุนต่ำกับแบงก์รัฐอื่นๆ ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่จะสามารถทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ กระทรวงการคลังยังต้องออกแรงอีกมาก

เพราะธรรมชาติของการทำงานแบงก์รัฐก็อยากทำกำไรมากที่สุด นั่นก็ถือการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ซึ่งจะเป็นผลงานวัดผลการทำงานว่าสำเร็จมากน้อยขนาดไหน เป็นผลต่อเนื่องมาถึงโบนัสและพนักงาน

การที่ธนาคารออมสินไปปล่อยกู้ให้แบงก์รัฐอื่นในอัตราต่ำ ย่อมทำให้รายได้หายกำไรหด และโบนัสย่อมลดหายไปด้วย ทำให้เป็นอุปสรรคการใช้ทรัพยากรด้านเงินทุนด้วยกันยังเดินไปไม่ได้ที่ควร

ดังนั้น การสร้างตัววัดประสิทธิภาพของสถาบันการเงินรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

แต่งานที่หินที่สุดของการเพิ่มประสิทธิภาพแบงก์รัฐคือ ด้านสุดท้าย คือการปรับการกำกับดูแลแบงก์รัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะหากทำไม่ดี จะเป็นการเดินหลงทาง และเป็นดาบสองคม ไม่ได้ทำให้แบงก์รัฐเข้มแข็งขึ้นแล้ว จะยังทำให้มีปัญหาสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นมากไปอีก

ที่ผ่านมาการตรวจสอบของแบงก์รัฐ ทางกระทรวงการคลัง จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นคนตรวจสอบให้ โดยมีการใช้มาตรฐานเดียวกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล

แต่ของใหม่ กระทรวงการคลังจะขอให้ ธปท. เข้าไปตรวจสอบโดยเกณฑ์ที่อ่อนกว่าตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ โดยกระทรวงการคลังจะกำหนดเกณฑ์ขึ้นใหม่ เช่น เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 8.5 เท่าได้ การสำรองหนี้สูญอาจจะไม่ต้องสำรองทั้งหมด ให้สำรองเป็นบางส่วน เพื่อให้การทำงานของแบงก์รัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น

การวางกรอบครอบคลุมใหม่ ถือเป็นดาบสองคมของแบงก์รัฐ

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะอ้างว่า แบงก์รัฐไม่ได้ดำเนินงานเพื่อหวังผลกำไรเหมือนธนาคารพาณิชย์ การลดความเข้มข้นการกำกับดูแล ทำให้การปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐทำได้มากขึ้นก็จริง แต่อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จะเป็นการทำให้แบงก์รัฐเกิดความเสียหายมากขึ้น จากการปล่อยสินเชื่อที่ละหลวม และมาตรฐานการกำกับที่หย่อนยาน

หากย้อนไปดูแบงก์รัฐในช่วงที่ผ่านมา ปล่อยกู้สนองนโยบายรัฐจำนวนมาก ซึ่งมีการปล่อยอย่างรวดเร็ว ผลสุดท้ายก็ทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีคนใกล้ชิดนักการเมืองเข้าไปหาผลประโยชน์ให้มีการปล่อยสินเชื่อพวกพ้อง ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก ขณะที่หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันด้อยค่าต่ำกว่ามูลหนี้ที่กู้ไปจำนวนมาก สุดท้ายก็เชิดหนี้ปล่อยให้หนี้เสียท่วมแบงก์รัฐมากขึ้น

การปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้บริษัทค้าขายใกล้ชิดนักการเมือง ทำให้แบงก์กรุงไทย และแบงก์พาณิชย์อีกแหล่งฟ้องเรียกทวงหนี้กันชุลมุน

การปล่อยกู้ของธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ ที่มีการสนองมาตลอดจนมีการปล่อยกู้ละหลวมเกิดหนี้เสียถึง 4 หมื่นล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 9.7 หมื่นล้านบาท ในจำนวนหนี้ที่เสียมีแค่ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่จะปรับโครงสร้างหนี้ดีได้ ส่วนที่เหลือ 3 หมื่นล้านบาท ต้องฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่า 8.5 เท่า หากเป็นแบงก์พาณิชย์ ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้อีกต่อไป ต้องทำการเพิ่มทุนให้ธนาคารแข็งแรง ถึงจะปล่อยกู้เพิ่ม แต่เพราะความเป็นแบงก์รัฐทำให้ยังสามารถปล่อยกู้ต่อไปได้ ทั้งที่ฐานะมีปัญหา

ขณะที่ ธ.ก.ส.ที่ปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐบาล ใช้เงินเพื่อโครงการรับจำนำไปกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้สภาพคล่องของธนาคารมีปัญหา ไม่สามารถนำไปปล่อยกู้ปกติได้ ไม่รวมกับความเสียหายที่เกิดจากการเข้าไปรับจำนำก่อนหน้าที่รัฐบาลต้องชดใช้ อีกประมาณ 1.7 แสนล้านบาท

จะเห็นว่าแค่ 2 ธนาคารก็สร้างปัญหาในการจัดการเป็นอย่างมาก

ขนาดกฎเหล็กที่คุมแบงก์รัฐใช้มาตรฐานเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ยังทำให้แบงก์รัฐหลายแห่งมีปัญหา ทั้งการปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพ ทำให้เกิดหนี้เสียจนรัฐต้องใช้เงินภาษีเข้าไปชดเชยจำนวนมาก

และยิ่งมาผ่อนกฎเกณฑ์ดูแลกำกับให้อ่อนแอลง เท่ากับปล่อยให้แบงก์รัฐปล่อยกู้สนองนโยบายมากขึ้น โดยที่รัฐบาลไม่หาทางเลี่ยงไม่ต้องใส่เงินเข้าไปดูแล เพราะที่ผ่านมาถังแตกจากทำโครงการประชานิยมหลายโครงการ

การผ่อนเกณฑ์คุมแบงก์รัฐ จะส่งผลดีในทางการเมืองให้รัฐบาลใช้เป็นแขนเป็นขาในการปล่อยกู้นโยบายรัฐ เท่านั้น แต่ผลเสียที่ตามมาจะมีหนี้เสียแบงก์รัฐเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ขณะนี้หลายฝ่ายกังวลเรื่องหนี้สาธารณะของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเกิดปัญหาวิกฤตในประเทศกรีซ เพราะรัฐบาลใช้เงินกู้จำนวนมหาศาลไปกับโครงการประชานิยมที่ไม่เกิดผลทาง เศรษฐกิจ

สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐกำลังถูกปล่อยผีให้ปล่อยกู้สนองรัฐบาลมาก ขึ้น ทั้งที่เห็นความเสี่ยงความเสียหายที่รออยู่ข้างหน้า ทำให้หนี้ของประเทศเห็นเงาเป็นกองโตทั้งหนี้สาธารณะและหนี้ของแบงก์รัฐที่ ถูกซุกไว้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปรับเกณฑ์ คุมแบงก์รัฐ ระวัง หนี้ท่วม ประเทศ

view