สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักเศรษฐศาสตร์ชี้หมดยุคบาทอ่อน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักเศรษฐศาสตร์ชี้หมดยุค "บาทอ่อน" เงินทะลักอย่างน้อย2ปี-แนะรัฐบาลเร่งลงทุนเมกะโปรเจค

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)(BBL) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดี สภาพคล่องล้น โดยนักลงทุนต้องแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูง ซึ่งไทยยังน่าสนใจ และการที่เงินบาทแข็งค่าในรอบนี้จะมีความแตกต่างจากอดีต โดยปกติค่าเงินไทยจะแข็งค่าตามประเทศภูมิภาคเอเชีย แต่รอบนี้ ไทยกลับแข็งค่าขึ้นมาก่อนประเทศอื่นๆ ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งสถานการณ์ก็จะคลี่คลาย จึงไม่ควรกังวล

"เงินบาทขณะนี้มีความผันผวนในระยะสั้น อย่าตื่นตกใจการที่แข็งค่าไปจนถึงระดับ 29.67 บาทต่อดอลลาร์ เกิดจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และเมื่อเงินบาทแข็งค่าผู้ส่งออกไทย ก็ต้องปิดความเสี่ยงโดยเฉพาะช่วงที่ทะลุ 30 บาท พอทุกคนแห่ไปปิดความเสี่ยงพร้อมๆ กัน ก็ทำให้ค่าขึ้นแข็งค่าขึ้นไปอีก ดังนั้นแนวโน้มค่าเงินบาท ก็ยังแข็งค่าต่อไป เพราะสภาพคล่องล้น นักลงทุนนำเงินเข้ามาเก็งกำไรกัน จึงเชื่อว่าค่าเงินบาทที่ระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ คงไม่ได้เห็นกันแล้ว"

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเงินบาทแข็งค่า ธปท.คงต้องติดตามดูแลใกล้ชิด และการใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ย คงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ เพราะสาเหตุของเงินบาทแข็งค่า เกิดจากมีเงินไหลเข้ามาลงทุนจำนวนมาก
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันให้เติบโตได้ดี เป็นเรื่องของการลงทุนในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกเริ่มมีทิศทางที่ดีเช่นกันทั้งยุโรปและสหรัฐ มีความเสี่ยงลดลงหากเทียบกับปีก่อน

@"ศุภวุฒิ"คาดเงินไหลเข้าอย่างน้อย2ปี

ด้าน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า ดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นตัวดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศก็จริง แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดด้วย เช่น เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงบรรยากาศการลงทุนในขณะนี้ที่ถูกผลักดันให้นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงขึ้น (Risk on) ตลอดจนการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีอยู่พอประมาณ

ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นตัวกดดันให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเรื่องนี้ทาง บล.เมอร์ริล ลินช์ ที่เป็นพันธมิตรของ บล.ภัทร ประเมินว่า ค่าเงินบาทไทยมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์ได้ในปลายปีนี้ และอาจเห็นเงินบาทแตะระดับ 27 บาทต่อดอลลาร์ได้ในปีหน้า

"เวลานี้ที่ธนาคารกลางทั่วโลกทำ คือ กดดอกเบี้ยต่ำ แล้วพิมพ์เงินออกมาเยอะๆ คำถาม คือ เราจะตั้งดอกเบี้ยให้สูงกว่าเขาได้หรือไม่ และทำไปแล้วจะมีความเสี่ยงว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาหรือไม่ เพราะเราเป็นประเทศเศรษฐกิจเล็กและเปิด มันมีความเสี่ยงตลอดเวลา ถ้าเขามองเศรษฐกิจเราดี ดอกเบี้ยน่าสนใจ เงินก็จะยิ่งไหลเข้ามามาก"นายศุภวุฒิ กล่าว

@สวค.เผยบาทแข็งไม่เกิน3%ไม่น่าห่วง

ด้าน นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่าการที่เงินบาทแข็งค่า น่าจะทำให้บริษัทส่งออกได้รับผลกระทบระยะสั้น แต่ระยะยาวคงต้องพิจารณาอีกครั้ง และเชื่อว่า ธปท.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดูแลได้ โดยมองหากค่าเงินบาทแข็งค่าไม่เกินระดับ 3% ก็มองว่าไม่น่าเป็นห่วง

"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราเติบโต 5-5.5% และอัตราเงินเฟ้อก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 3% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกจะเติบโต 6-7% และการค้าแถบชายแดนเป็นกำลังซื้อแฝงที่จะช่วยผลักดันให้เติบโตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหากรัฐ มีการลงทุนขนาดใหญ่ 2 ล้านล้านบาทเกิดขึ้นอาจทำให้ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจำนวนมากแต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเพราะต่อไปเมื่อทุกอย่างเข้าที่ การลงทุนครั้งนี้จะสามารถผลักดันให้จีดีพีโตได้ถึง 6%" นายคณิศ กล่าว

@แนะรัฐเร่งลงทุน-หั่นประชานิยม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยคงหนีปัญหาเรื่องเงินทุนไหลเข้าไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเวลานี้ธนาคารกลางประเทศหลักทั่วโลกพิมพ์เงินออกมารวมๆ กันแล้วสูงกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งการจัดการปัญหาในขณะนี้ยังเป็นเพียงการตามแก้ปัญหาเท่านั้น ยังขาดการดำเนินการในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ

"จะเห็นว่าตอนนี้มีหลายเรื่องเข้ามากระทบผู้ประกอบการของไทยค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องค่าแรง 300 บาท ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น แต่การแก้ปัญหาของเราก็เป็นแบบการตามแก้ ยังไม่เห็นการจัดการแบบบูรณาการ" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สิ่งที่เป็นห่วงมากสุดในเวลานี้ คือ งบในการลงทุนของภาครัฐมีน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่หมดไปกับโครงการประชานิยม และถ้าดูตัวเลขการลงทุนของประเทศไทย ยังเป็นเพียงประเทศเดียวที่สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยในปี 2540 ประเทศไทยเคยมีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 70% ของจีดีพี

"สิ่งที่จะช่วยได้ คือ รัฐบาลควรต้องตัดงบรายจ่ายประจำออก โดยเฉพาะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับประชานิยม เพราะทำให้งบที่เหลือไปใช้เพื่อการลงทุนมีน้อยลง"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

@คาดบาทปีนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 30.7

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น จากปัจจัยฐานในปีที่แล้วขยายตัวในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาอุทกภัย ประกอบกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงมาก

ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่า ในไตรมาส 4 ดังกล่าว เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 15.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวติดลบ 8.9% และเมื่อรวมกับ 3 ไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 2.6% จะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยทั้งปีอยู่ที่เป้าหมายเดิม คือ 5.7%

การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2556 นั้น สศค.ยังประเมินที่ 5% ภายใต้สมมติฐานที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว 10% ขณะที่มองการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปีนี้ ยังไม่กระทบต่อมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะเงินบาทยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ สศค.ประเมินไว้ สศค.จะประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีอีกครั้งในเดือนมี.ค. นี้

"จีดีพีในปีนี้ สศค.ยังมองที่ 5% แม้ว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มากกว่าที่ประมาณการไว้ โดยปีนี้เรามองว่าบาทต่อดอลลาร์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 30.7 หรือ มีช่วงคาดการณ์ที่ 29.70- 31.70 ทำให้ยังไม่ได้ปรับประมาณการจีดีพี" นายเอกนิติ กล่าว

ทั้งนี้ เหตุที่ประเมินว่า การส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ดี เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ประเมินว่า ยังมีการเติบโตที่ 3.7%

สำหรับค่าเงินบาทในขณะนี้ค่อนข้างผันผวน แต่ยังเคลื่อนไหวตามภูมิภาค เพราะเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐและยุโรปยังมีปัญหา และทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย แต่เมื่อใดที่ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวมีมากขึ้น เงินทุนก็พร้อมที่จะไหลกลับ

ดังนั้น ทิศทางสถานการณ์เงินบาทก็ค่อนข้างจะผันผวน ดังนั้น จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะรองรับ โดยแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดแรงกดดัน คือ การเร่งลงทุน

ทั้งนี้ โมเดลที่ สศค.นำมาคำนวณผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ คือ กรณีเงินบาทแข็งค่า 1% จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.3% ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกลดลง 0.4% แต่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.2%


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักเศรษฐศาสตร์ หมดยุค บาทอ่อน

view