สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองต่างมุม สกัดเงินร้อน ลดดอกเบี้ย-เพิ่มมาตรการคุมเข้ม

จากประชาชาติธุรกิจ

จากกระแสเงินร้อนที่ไหลบ่าทะลักเข้ามาในภูมิภาคเอเชียและไทย จนส่งผลให้ในช่วงต้นปีนี้ค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นทำสถิติในรอบ 17 เดือน ทำให้เกิดความกังวลของหลายฝ่ายถึงสัญญาณของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นต่างประกาศใช้นโยบายปั๊มเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ต่อเรื่องนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวบรวมมุมมองของกูรูนักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ มานำเสนอด้วยแนวคิดและความเห็นที่แตกต่าง


ดร.โกร่งบีบ ลดดอกเบี้ยŽ สกัดเงินร้อน

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉายภาพเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า มีความวิตกหลายจุด เนื่องจากมีปัจจัยใหม่ ๆ เกิดขึ้นในโลกที่สร้างความผันผวนและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งจากนโยบายการเงินสหรัฐที่ทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นจนท่วมโลก ขณะที่เงินยูโรและเงินเยนก็เพิ่มขึ้น ทำให้สวรรค์ของเงินดอลลาร์จึงเข้ามาที่เอเชีย ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย จีน ไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

"ที่น่าวิตกคือเงินนี้ไม่ได้อยู่ใน รูปการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่ทั้งหมดเป็นเงินร้อนเข้ามาในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ร้อนแรงมากขึ้น เพราะผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ เมื่อ 3-6 เดือนก่อน กับวันนี้แทบไม่ต่างกัน แต่ราคาหุ้นกลับเพิ่มขึ้น 100% การลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้น 100% พร้อมค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น"

ทั้ง การที่เงินไหลเข้าไทยมาก เป็นเพราะไทยมีดอกเบี้ยนโยบาย 2.75% แต่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ 0.25% การรักษาความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยดอลลาร์กับดอกเบี้ยเงินบาท

ไว้ สูงระดับนี้ ย่อมไม่อาจหยุดยั้งการไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้ได้ แล้วยิ่งกระตุ้นให้เกิดฟองสบู่ในตลาดทุนให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นในสถานการณ์นี้ การหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น นอกจากการส่งเสริมการลงทุน FDI ในระยะยาว ก็มีหนทางเดียวที่มีสาระสำคัญ คือต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อลดมูลเหตุจูงใจการไหลเข้าของเงิน และต้องหามาตรการอื่น ๆ ที่จะสกัดกั้นการไหลบ่าเข้ามาของเงินทุน

ผู้ว่าการ ธปท.ห่วงดอกเบี้ยต่ำเกิดฟองสบู่

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.แสดงความเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงิน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นคณะบุคคลจะพิจารณาความเหมาะสมว่าจะให้น้ำหนักกับปัจจัยใดมากเป็น พิเศษ สำหรับความเห็นของประธานบอร์ด ธปท.ก็นับเป็นข้อมูลหนึ่งที่ กนง.จะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

"เราอยากเห็นเสถียรภาพด้าน ราคา แต่ระหว่างทางถ้าเห็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจในจุดไหน ก็เป็นหน้าที่ประคับประคองเพื่อลดจุดอ่อนนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปด้วยดี ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เศรษฐกิจไทยเวลานี้ก็ต่างกับสหรัฐและญี่ปุ่นค่อนข้างมาก การเจริญเติบโตก็ดีกว่า การอุปโภคบริโภค การขยายตัวสินเชื่อก็ค่อนข้างสูง กนง.คงนำมาประกอบการพิจารณา การลดดอกเบี้ยก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลต่าง ๆ"

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการ ธปท.แสดงความเป็นห่วงว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเปรียบเทียบว่า ปี 2552 สินเชื่อประเภทหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 58% ของจีดีพี แต่สิ้นไตรมาส 3/2555 กระโดดขึ้นมาเป็นมากกว่า 75% ของจีดีพี ซึ่งการก่อหนี้มากถึงระดับหนึ่ง อาจกระทบความสามารถการชำระได้ และปัญหาเหล่านี้อาจกลายเป็นจุดเปราะบางต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนได้

นอก จากนี้ยังมองว่า หากดำเนินนโยบายให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ได้ เพราะการตีราคาสินทรัพย์ เช่น ราคาหุ้น หรือราคาอสังหาริมทรัพย์ อาจสูงเกินไป ไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง เสี่ยงต่อฟองสบู่แตก เมื่อถึงคราวที่อัตราดอกเบี้ยต้องปรับตัวสอดคล้องกับความเป็นจริง ดังปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐ

SCB หนุนลด ดบ.เชื่อไม่กระทบหนี้ครัวเรือน

ดร.พชร พจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เสนอว่า เพื่อรับมือกับเงินทุนไหลเข้าในเวลานี้ ธปท.น่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีแรก 50 สตางค์ คือลดไตรมาสแรก 1 ครั้ง ไตรมาส 2 อีก 1 ครั้ง เพราะเงินทุนไหลเข้า ต้องสกัดรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือสุดท้ายในการสกัดเงินทุนไหลเข้า และเรื่องนี้ไม่มีกฎที่แน่นอน มาตรการที่จะรับมือเงินไหลเข้าอย่างรุนแรง จึงมีทั้งเรื่องการสนับสนุนเอกชนไปลงทุนต่างประเทศที่แบงก์ชาติทำอยู่ การลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ย การแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อดูดซับสภาพคล่องไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วเกินไป และการควบคุมเงินทุนไหลเข้า สำหรับประเด็นความกังวลที่ว่า เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วจะผลักดันให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นนั้น จากการศึกษาข้อมูลล่าสุดของประเทศ เรียกว่ายังไม่น่าห่วง เพียงแต่กลุ่มมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนที่มีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่ารายรับ ซึ่งน่าเป็นห่วงอยู่แล้ว ถ้าลดดอกเบี้ยจะทำให้คนกลุ่มนี้มีหนี้เพิ่มหรือไม่ จากการศึกษายังระบุได้ไม่ชัดเจน

สกัดเงนร้อนมท"งออกม"กกว่าลดดอกเบ้ย

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ให้ความเห็นว่า เครื่องมือในการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้า ก็มีมากกว่าอัตราดอกเบี้ย ประเด็นจึงอยู่ที่การผสมผสานเครื่องมือที่มีอยู่ และดูว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวคืออะไร ขณะที่การลดดอกเบี้ยจะไปกระตุ้นการใช้จ่ายและกระตุ้นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย และเมื่อเงินทุนไหลเข้ามาก การขยายตัวของสินเชื่อมากขึ้น ก็ทำให้เศรษฐกิจภายในกำลังสะสมหนี้ ภาครัฐก็กำลังกู้เงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทเอกชนกู้เงินจากแบงก์ไปลงทุนต่างประเทศ เกิดการสะสมหนี้ทั้งระดับครัวเรือน รัฐ และบริษัทเอกชน ดังนั้นจึงต้องดูให้ดีว่าการก่อหนี้เหล่านี้นำไปสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจใน ระยะยาว

BBL ชี้เงินบาทยังไม่น่ากังวล

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) มองว่า ทิศทางการแข็งค่าของค่าเงินบาทขณะนี้ยังไม่น่ากังวล เพราะตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นไป 3% เป็นการแข็งค่านำสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่แข็งค่าที่ 1% จากปกติที่ค่าเงินบาทจะแข็งตามหลังเงินสกุลในภูมิภาค จากที่เงินบาทแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทลดลง เพราะเห็นว่าแข็งค่าสูงกว่าภูมิภาคแล้ว ประกอบกับ ธปท.ก็เข้ามาดูแล จึงเห็นสัญญาณว่าค่าเงินบาทเริ่มตีกลับมาที่ 29.8-29.9 บาท

ส่งผลให้ระยะสั้นจะเห็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ที่ผันผวน ซึ่งอยู่ในช่วงการปรับสมดุลของค่าเงินบาท คาดว่า ธปท.จะดูแลสถานการณ์ได้ และยังไม่มีความจำเป็นจะต้องออกมาตรการคุม

อย่าง ไรก็ดี ในระยะยาวมีความชัดเจนว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เพราะแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ประกอบกับสภาพคล่องของโลกจำนวนมาก จากนโยบายอัดฉีดสภาพเงินเข้าสู่ระบบ ที่ต้องการแสวงหาแหล่งลงทุน ซึ่งประเทศไทยเป็นเป้าหมายการลงทุน

หม่อมอุ๋ยŽ มั่นใจเงินบาทไม่ทะลุ 28 บาท

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และอดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้ควรจะให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า มากกว่าจะไปเถียงกันเรื่องลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.เหมาะสมอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้มองว่าค่าเงินบาทเริ่มนิ่งแล้ว เชื่อว่าจะไม่แข็งค่าไปจนถึง 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างแน่นอน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมองว่า ไม่ควรมีมาตรการไปสกัดการไหลเข้าของเงินทุนอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้เงินไหลออกอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักกว่า ควรจะปล่อยให้ ธปท.ดูแลแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการจะลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กนง.ที่จะมีการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองต่างมุม สกัดเงินร้อน ลดดอกเบี้ย เพิ่มมาตรการ คุมเข้ม

view