สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหาค่าเงินบาทโยนบาป ธปท.รับกรรม

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ความผันผวนและแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 3% ถือว่าแข็งมากเมื่อเทียบกับสกุลในภูมิภาค จนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และตลาดการเงินไทย กลายเป็นแรงกระแทกให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกำลังกลายบานปลายเป็นปมใหญ่ให้รัฐบาลจัดการ

ถึงขนาดที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งการให้ตั้งทีมเฉพาะกิจ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์การเงินให้ปรึกษาหารือกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการรับมือ ค่าเงินบาทขึ้นมาโดยเฉพาะ

ขณะที่ วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. ก็ออกโรงมากระตุ้น ธปท.ให้ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.75% ในปัจจุบันลงมา เพื่อลดแรงจูงใจเงินทุนไหลเข้าที่มาหาผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ปัจจุบันห่างกัน อยู่ 2.5% ในขณะที่เงินทุนต่างชาติมีต้นทุนทางการเงินแค่ 0.751%

เพียงแค่ขนเงินมาพักไว้ในบ้านเราเฉยๆ ก็ฟันกำไรส่วนต่างได้แล้ว 1.5%

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของเงินร้อนที่ทะลักเข้าไทย ดังนั้น ธปท.ควรหาทางแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น เพราะขณะนี้เงินท่วมโลกจากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของสหรัฐ อียู และญี่ปุ่น

สถานการณ์ขณะนี้จึงไม่แปลกที่ประเทศในเอเชียหลายแห่งต้องงัดมาตรการทาง การคลังและการเงินออกมาสกัด ด้วยการเก็บภาษีเงินไหลเข้าและมีมาตรการควบคุมเงินทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ยืนยันชัดเจนว่า รัฐบาลจะไม่ใช้วิธีควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนจากต่างประเทศ (แคปปิตอล คอนโทรล) เพื่อแก้ปัญหาการไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นนโยบายการคลัง

แต่จะใช้กลไกบริหารนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการจัดการ และจะไม่ใช้แนวทางหรือมาตรการทางภาษีที่อาจจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุน ด้วย

การขยับของรัฐบาลในทิศทางดังกล่าว น่าจะเป็นการส่งสัญญาณออกมาสู่ตลาดและคนในสังคมว่า รัฐบาลได้พยายามดูแลการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเต็มที่แล้ว

แต่ ธปท.ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาทโดยตรง ยังไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเองในการดูแลระบบเศรษฐกิจ

ประเด็นที่น่าสนใจในภาวะนี้ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาในระยะนี้กระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกแล้วจริงหรือไม่

ว่ากันตรงไปตรงมาผลกระทบยังไม่ชัดเจนนัก แม้ว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะระบุว่า หากเงินบาทแข็งค่าไปกว่า 30 บาท/เหรียญสหรัฐ ภาคอุตสาหกรรมเดือดร้อน แต่อย่าลืมว่าเงินบาทเพิ่งแข็งค่าไม่นานนัก และยังยืนระยะอยู่ในระดับ 29.78 บาท/เหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมีความผันผวนสูง

แต่ทุกคนก็ยอมรับ มีโอกาสที่จะแข็งค่าไปยืนในระดับ 2829 บาท/เหรียญสหรัฐ ได้อย่างสบายภายในเวลาไม่นานนัก

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ยังชะลอต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาล

ช่วงปี 25512555 ที่ผ่านมา สหรัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้ว 13.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 402 ล้านล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันที่ประมาณ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ

และมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 00.25% ต่อไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ทำมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (คิวอี) 3 อัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างไม่จำกัด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ส่วนปัญหาเศรษฐกิจในยูโรโซน แม้จะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้าง เพราะกรีซคงไม่ต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน แต่ยูโรโซนจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ต่อไป

ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาลต้องการดูแลการแข็งค่าของเงินเยน และนำพาเศรษฐกิจออกจากภาวะเงินฝืด โดยตั้งเป้าทำให้เงินเฟ้อโตให้ได้ 2%

ขนาดนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศว่า ถ้าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ทำไม่ได้จะปลดผู้ว่าการบีโอเจเลยทีเดียว โดยปี 2554-2555 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้ว 101 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 33.03 ล้านล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ระดับ 100 เยน/ 32.7 บาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ เงินนอกจึงทะลักเข้าไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

เงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินค่อนข้างชัดเจน โดยเข้ามาที่ตลาดพันธบัตรระยะสั้นและตลาดหุ้น เพราะได้กำไรจากดอกเบี้ย 2.75% กำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้กำไรจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอีก

ปัจจัยหนุนแนวโน้มเงินบาทแข็งค่ามีหลายด้าน อาทิ 1.ภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะโตที่ 5% ขณะที่สหรัฐและยุโรปโตแค่ 12% และยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง 2.ตลาดการเงินไทยเล็ก และเงินทุนเคลื่อนย้ายได้เสรี 3.ดอกเบี้ยไทยสูงกว่าปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% ต่างจากสหรัฐที่ต่ำเพียง 0.25% และ 4.ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล แสดงว่าประเทศมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ดี

ภาวะข้างต้นตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่มีวี่แววจะฟื้นตัว ล่าสุดไตรมาส 4 ปี 2555 ยังโตติดลบ 0.1% มีแนวโน้มชะลอต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำสุดในรอบ 1 ปี การว่างงานยังสูง 78% ไม่มีทีท่าจะลดลง

สิ่งที่น่าเป็นกังวลตามสถานการณ์ข้างต้น คือ เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและแข็งค่าจาปัจจุบันที่ระดับ 29.7029.85 บาท/เหรียญสหรัฐไปได้อีก ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดราคาขายสินค้าและบริการที่ยากลำบากขึ้น และอาจเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่ค่าเงินแข็งค่าและผันผวนน้อยกว่าของภาค ธุรกิจส่งออก

สำหรับประเทศไทยหากปล่อยให้เงินทุนไหลเข้าออกง่ายดายเช่นนี้ โดยที่ยังหามาตรการมาดูแลการแข็งค่าของเงินบาทที่เหมาะสมไม่ได้ ภาคธุรกิจส่งออกคงล้มหายตายจากอีกมาก และอาจกระทบชิ่งมาถึงประชาชนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะหากเงินบาทแข็งไปเรื่อย รายได้จากการส่งออกจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อย เม็ดเงินที่นำมาหมุนเวียนในธุรกิจ เพื่อการซื้อวัตถุดิบ จ้างงาน และขยายการลงทุน จะน้อยลง มีผลต่อกำลังซื้อและการลงทุนในประเทศลดลง และอาจจะบั่นทอนการเติบโตปีนี้ให้ลดลงด้วย

ดังนั้น การแข็งค่าของเงินบาทจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาล และ ธปท.ต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แต่ทำไมการแก้ปัญหาของไทย จึงไม่มีมาตรการอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่ปัญหานี้สัญญาณบอกมาล่วงหน้าระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดฉับพลันใน 12 เดือนนี้

สถานการณ์แบบนี้รัฐบาลต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพิ่งตื่นตระหนกแล้วมาตั้งทีมเฉพาะกิจ

เพราะสัญญาณเงินทุนไหลทะลักเข้าภูมิภาคและไทยในช่วงที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะพออ่านสัญญาณออก เนื่องจากสหรัฐทำคิวอีต่อเนื่องยังไม่มีสัญญาณจะหยุด แถมญี่ปุ่นก็ปล่อยสภาพคล่องมาสมทบอีก ไทยจึงหลีกเลี่ยงภาวะเงินทุนไหลท่วมได้ยาก เพราะธรรมชาติเงินทุนย่อมวิ่งหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

สิ่งที่สำคัญที่อาจทำให้ปัญหาบานปลายรุนแรงไปใหญ่ คือ ถ้าผู้กำหนดนโยบายประเทศอ่านทิศทางนี้ออก ทำไมถึงไม่มีการเตรียมการรับมือใดๆ ทำไมจึงทำได้แค่เตือนให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินซื้อป้องกัน ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedge) เท่านั้น แล้วพอปัญหาทำท่าจะบานปลายจนอาจควบคุมไม่ได้ก็ทำได้แค่ตั้งทีมเฉพาะกิจมาแก้ เก้อ เพื่อตั้งรับกับปัญหาที่มาเคาะประตูบ้าน

แถมยังโยนบาปให้ผู้ปฏิบัติงานอย่าง ธปท.ดูแลรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่กระทรวงการคลังทำได้แค่โยนปัญหาออกจากอกเท่านั้น

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่านั้น ลำพังมาตรการสนับสนุนให้เงินทุนในประเทศไหลออกไปลงทุนต่างประเทศนั้น ไม่เพียงพอในการสกัดเงินทุนไหลเข้า

เพราะในความจริงนั้น นักลงทุนที่มีศักยภาพนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มีเพียงไม่กี่รายเท่า นั้น และนับนิ้วได้ ไม่ว่ากลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัทครอบครัว ปตท. บริษัทในกลุ่มทีซีซี ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มบริษัท บ้านปู ฯลฯ

ไม่มีทางใกล้เคียงกับปริมาณเงินที่จะไหลเข้ามาแน่นอน

เช่นเดียวกับมาตรการที่ ธปท.ให้ภาคธุรกิจถือครองเงินเหรียญสหรัฐได้นานขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้จากเหรียญสหรัฐรีบนำเงินกลับเข้าประเทศมา ซ้ำเติมการแข็งค่าเงินบาทก็คงไม่ได้ช่วยอะไรนัก เปรียบไปก็เหมือนยาหม้อ ยาดม ยาหม่อง ที่ไม่ตรงกับโรคอย่างที่ วีรพงษ์ วิจารณ์

ครั้นจะทำมาตรการหักสำรองเงินทุนระยะสั้นไหลเข้า 30% อย่างที่เคยทำในอดีตจนหุ้นล่วงกว่า 100 จุด ธปท.ก็แหยงไม่คิดจะทำอีก พอมีสัญญาณกระทุ้งให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.75% เพื่อช่วยลดแรงจูงใจเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นยาที่ตรงกับโรค ธปท.ก็ว่าไม่ควรทำ เพราะกลัวว่าจะไปเร่งให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และเพิ่มหนี้ภาคครัวเรือนจนกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งๆ ที่ถ้า ธปท.ห่วงอสังหาริมทรัพย์หรือหนี้ครัวเรือนสูง ธปท.ก็ตามเข้าไปเกณฑ์สินเชื่อได้ เพราะกำกับดูแลสถาบันการเงินอยู่แล้ว แต่ ธปท.ก็ไม่ทำ แต่ยังเลือกห่วงปัญหาระยะยาวที่ยังไม่เกิด

สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ผู้บริหารประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันแก้ปัญหาคนละไม้ละมือ ไม่ใช่พยายามผลักปัญหาออกจากตัว เลือกทำแต่วิธีที่ตัวเองเจ็บตัวน้อยเท่านั้น

เลิกเล่นเกม เลิกใช้อัตตา แล้วหันมาใช้สติปัญญา ร่วมกันขบคิดวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันดีกว่าโยนบาปให้แก่กัน..


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหาค่าเงินบาท โยนบาป ธปท. รับกรรม

view