สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหากาพย์ความขัดแย้งคลัง-แบงก์ชาติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

มหากาพย์ความขัดแย้ง"คลัง-แบงก์ชาติ" เป้าหมายปลด "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"

ตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา มหากาพย์ความขัดแย้งบนวิถีการทำงานของรัฐบาล ซึ่งมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุมงานด้านเศรษฐกิจ กับการทำงานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นั่งบัญชาการอยู่ ขณะที่มี นายวีรพงษ์ รามางกูร นั่งเป็นประธานกรรมการ ดูจะไม่ค่อยลงรอยกันในหลายประเด็น เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานในหลายเรื่อง ระหว่างรัฐบาลกับ ธปท.จะออกมาในลักษณะของความเห็นต่างโดยสิ้นเชิง

ล่าสุด รัฐมนตรีคลังส่งจดหมายถึงบอร์ดธปท. ด้วยสำนวนแข็งกร้าวและดุดัน รวมทั้งกดดันทางการเมืองให้ผู้ว่าแบงก์ชาติต้องรับผิดชอบกับผลขาดทุน และกระแสเงินทุนไหลทะลักเข้ามาจะสร้างเสียหายที่ร้ายแรงมากขึ้น

เริ่มต้นจากเผือกร้อนประเด็น "เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ" ที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยนาย "กิตติรัตน์" ประกาศไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยมีสภาพคล่องอยู่ล้นหลาม เรียกว่า "มีมากเกินความจำเป็น"

"กิตติรัตน์" บอกว่า สภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากนี้ ส่วนใหญ่อยู่กับ "แบงก์ชาติ" ในรูป "พันธบัตรธปท." ที่เกิดจากการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบ เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่อลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วน ธปท.ก็ควรปล่อยสภาพคล่องเหล่านี้ ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำไปลงทุน

นอกจากนี้ "กิตติรัตน์" ยังบอกด้วยว่า สภาพคล่องที่แบงก์ชาติดูดซับไว้ มีต้นทุนในรูปดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกปี และดอกเบี้ยที่จ่ายออกไป เป็นดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ได้รับจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในรูปของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ผลคือมีส่วนต่างขาดทุน ปรากฏอยู่ในงบการเงินของแบงก์ชาติ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาที่ "กิตติรัตน์" พยายามเสนอให้แบงก์ชาติเอา "สภาพคล่องส่วนเกิน" ตรงนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะเก็บไว้นิ่งๆ แถมยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นประจำทุกปี

ขณะที่ มุมของ "แบงก์ชาติ" มองว่า สภาพคล่องส่วนเกินที่ดูดซับกลับเข้ามาผ่านการออกพันธบัตรธปท. เป็นการทำหน้าที่ของ "ธนาคารกลาง" ที่ต้องดูแลเสถียรภาพโดยภาพรวมของเศรษฐกิจ เพราะสภาพคล่องส่วนเกินที่ว่านี้ เกิดจากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ทั้งยังมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุน ส่งผลให้ "ปริมาณเงิน" ในระบบเพิ่มขึ้น ถ้าปล่อยให้เพิ่มขึ้นโดยไม่ดูแล ย่อมสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมได้

ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติ ได้ส่งสัญญาณไว้เช่นกันว่า หากรัฐบาลจะนำสภาพคล่องส่วนที่แบงก์ชาติดูดซับไว้ ไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลกลับมายังประเทศในอนาคต แบงก์ชาติจะเห็นด้วย และยินดีปล่อยสภาพคล่องเหล่านี้ออกไป เพียงแต่ประเด็นอยู่ที่ว่า การปล่อยออกไปนั้น ระดับไหนที่เรียกว่าเป็นระดับเหมาะสม ไม่ทำให้เสียวินัยการเงิน

ความเห็นต่างประเด็นร้อนนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต้องส่ง "วีรพงษ์ รามางกูร" เข้ามานั่งเป็นประธานกรรมการในแบงก์ชาติ เพื่อถ่วงดุลและเพิ่มอำนาจจากฟากรัฐบาลในการสั่งการแบงก์ชาติ แต่รัฐบาลก็ต้องเบรกเรื่องนี้ เมื่อนักวิชาการต่างก็ออกมาคัดค้านและสนับสนุนแนวคิดของแบงก์ชาติ

รวมถึงปมประเด็นร้อน "หนี้กองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาท" ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุขัดแย้งของคลังและแบงก์ชาติ โดยความชัดเจนของนายกิตติรัตน์ และนายวีรพงษ์ มีความต้องการให้แบงก์ชาติ เป็นผู้เข้ามารับภาระหนี้จำนวนนี้ ซึ่งเรื่องนี้ แบงก์ชาติ มีความเห็นแย้ง เพราะหากรับภาระหนี้ก้อนนี้มา โดยจ่ายเงินออกไป แบงก์ชาติก็ต้องพิมพ์เงินออกมาจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาย่อมทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น

แต่ในปมปัญหาดังกล่าว สององค์กรใหญ่ต่างยอมถอย และพบกันครึ่งทาง โดยแบงก์ชาติยอมรับภาระหนี้ส่วนนี้ แลกกับการผลักภาระให้กับแบงก์ โดยไฟเขียวให้ขึ้นค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ผ่านสถาบันประกันเงินฝาก
ความขัดแย้งของสององค์กรใหญ่ ดูเหมือนยังไม่มีวี่แววจะสงบ หรือปรองดองกันได้ แต่กลับทวีความรุนแรง จนอาจเป็นฟางเส้นสุดท้าย บนเดิมพันเก้าอี้ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยของ เป้าหมายปลด "นายประสาร" พ้นเก้าอี้

เมื่อ วีรพงษ์ เปิดจุดโจมตีเรื่องขาดทุนสำรองของแบงก์ชาติกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุด นายวีรพงษ์ ออกมาระบุว่า สิ้นปี 2555 อาจแตะระดับ 5.3 แสนล้านบาท จากการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยที่แบงก์ชาติ ยืนกรานไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.75% จนทำให้บาทแข็งค่าต่อเนื่อง จนนักค้าเงินหลายต่อหลายค่าย มองว่าแรงไหลเข้าของทุนนอก อาจจะเห็นโอกาสบาทแข็งค่าแตะระดับ 27-28 บาทต่อดอลลาร์

หลังจากนั้น กิตติรัตน์ ก็ออกมาตอกย้ำด้วยความเห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญกับการแข็งค่าของเงินบาท เชื่อว่า เราจะมีวิธีที่จะดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะหากเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปก็จะเป็นอันตรายต่อภาคธุรกิจ ดังนั้นแนวนโยบายที่จะดูแล เขาเห็นว่า ขณะนี้ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่สูงมากเกินไป ทั้งนี้หน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน แต่ต้องรับฟังความเห็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาด้วย

"ดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไป ควรที่จะพิจารณาให้รอบคอบ เป็นความเห็นของรัฐมนตรีคลัง แต่คนที่ตัดสินใจเรื่องนี้ คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินธปท.ซึ่งเมื่อหลายฝ่ายให้ข้อคิดเห็นแล้ว ก็ควรรับไปพิจารณา" เขากล่าว

ขณะที่ นายประสาร ก็ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่เขายังไม่เลือกแนวทางลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอการไหลเข้าของทุนนอก และหยุดการแข็งค่าของเงินบาท เพราะอาจจะเกิดฟองสบู่ได้ โดยเฉพาะภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ และฟองสบู่ในตลาดหุ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้านประกอบกัน โดยเป็นการตัดสินใจของคณะบุคคล

"ความเห็นของคุณวีรพงษ์ อาจเป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการบางท่าน ที่ได้รับรู้ผ่านการรายงานของสื่อต่างๆ แต่คณะกรรมการ กนง.เป็นกรรมการอิสระ" นายประสาร กล่าว

ส่งผลให้ กิตติรัตน์ ออกมาประกาศชัดเจนว่า "หากแบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น บอร์ดแบงก์ชาติ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด"

บนความขัดแย้งและความเห็นต่างในประเด็นร้อนด้านนโยบายการเงิน และการคลัง ถือว่าเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งระดับชาติ ที่อยู่ในโฟกัสของผู้คน พูดได้ว่า บทสรุปของมหากาพย์เรื่องนี้ อาจจะลงเอยด้วยการเปลี่ยนแปลงตัว"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ให้พ้นจากเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป!!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหากาพย์ ความขัดแย้ง คลัง แบงก์ชาติ

view