สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กิตติรัตน์ วอนหยุดปล่อยข่าวปลดผู้ว่าธปท.

'กิตติรัตน์'วอนหยุดปล่อยข่าวปลดผู้ว่าธปท.

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"กิตติรัตน์"วอนหยุดปล่อยข่าวปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ หลังจากในช่วงที่ผ่านมารุกหนักบีบลดดอกเบี้ยนโยบาย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวที่บอกว่าการเมืองบีบบังคับให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลาออก ว่า ผมขอซักทีให้หยุดปล่อยข่าว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังรุกหนักบีบให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินไหลเข้า ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญกดดันค่าเงินบาทแข็งค่า


จับตารัฐเจาะช่องโหว่ขาดทุนปลดผู้ว่าธปท.

จับตารัฐเจาะช่องโหว่ขาดทุนแบงก์ชาติ ยกม. 28/19 (5) ปลด"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"

ความขัดแย้งระหว่าง "รัฐบาล" กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ "แบงก์ชาติ" ไม่ใช้ครั้งแรก และคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอก ส่วนจะเป็นซิรีย์หรือหนังสั้น อยู่ที่ทั้งสองฝ่ายจะหาจุดลงตัวที่สมดุลกันได้มากน้อยแค่ไหน

การปะทุขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่ "วีรพงษ์ รามางกูร" ประธานคณะกรรมการธปท. ออกมาเรียกร้องให้ ธปท. ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดแรงเสียดทานจากเงินทุนไหลเข้า พร้อมกล่าวหาว่า ผู้กำกับดูแลนโยบายการเงิน อย่าง ธปท. ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง "ดอกเบี้ย" กับ "เงินทุนเคลื่อนย้าย"

ภาพความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง ระเบิดอารมณ์ออกมาดังๆ ด้วยการประกาศคาดโทษ คณะกรรมการธปท. ผ่านหนังสือแสดงความห่วงใยต่อการดำเนินงานของธปท. ที่ล่าสุด มีผลการดำเนินงาน "ขาดทุน" เพิ่มเป็นกว่า 5.3 แสนล้านบาท พร้อมระบุว่า คณะกรรมการธปท. ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อความเสียหายนี้ด้วย

ปัจจุบัน ธปท. มียอดคงค้างการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องรวมกว่า 4.6 ล้านล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3% ใกล้เคียงดอกเบี้ยนโยบาย เท่ากับว่า ธปท. มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงถึงปีละ 1.3 แสนล้านบาท ในขณะที่เงินดอลลาร์ซึ่ง ธปท. ซื้อมานั้น ถูกนำไปลงทุนต่างประเทศ ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 1% เท่านั้น ยังผลให้ธปท.มีภาระส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้จำนวนมาก

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มา ซึ่งทำให้ทั้ง "วีรพงษ์" และ "กิตติรัตน์" ฟันธงว่า ต้นเหตุทั้งหมดเกิดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่สูงกว่าต่างประเทศ จึงเรียกร้องให้ ธปท. และ กนง. ในฐานะที่กำกับดูแลนโยบายการเงิน ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.75% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ 0.75%

หนังสือแสดงความห่วงใยของ "กิตติรัตน์" ที่ส่งตรงถึง คณะกรรมการธปท. เพื่อรับทราบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการธปท.ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจนั้น มองผิวเผินอาจดูเป็นการคาดโทษคณะกรรมการเหล่านี้ แต่เนื้อหาใจความหลัก ถูกตีความไปว่าอาจเข้าข่าย"ข่มขู่" ผู้ว่าการธปท. ซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งเป็น "ประธาน" คณะกรรมการ กนง. ให้พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา

เพียงแต่มุมมองของ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการธปท. ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มองว่า "ดอกเบี้ย" เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่เป็นตัวดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าอีกจำนวนมาก และการลดดอกเบี้ยเพื่อหยุดยั้งการไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้ ควรต้องพิจารณาถึงผลข้างเคียงอื่นประกอบด้วย

ภาพความขัดแย้งระหว่าง "รัฐบาล" กับ "แบงก์ชาติ" ที่หนักขึ้น ..ยิ่งไปเพิ่มแรงบีบในตำแหน่ง "ผู้ว่าการแบงก์ชาติ" เพราะขณะนี้กระแสข่าวลือเรื่องการ "ปลด" ผู้ว่าการธปท. เริ่มกลับมาดังกระหึ่มทั่วแบงก์ชาติอีกครั้ง

หลายคนอาจสงสัยว่าการปลดผู้ว่าการธปท. ตามกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.ธปท.ปี 2551 สามารถทำได้หรือ? ...

เรื่องนี้หากกาง กฎหมายดู มาตรา 25 (1) กับ มาตรา 28/19 (5) ก็คงต้องช่วยส่งกำลังใจแรงๆ ไปยังผู้ว่าการธปท. โดยเฉพาะเมื่อผูกโยงเรื่องนี้ เข้ากับผลการดำเนินงานของ ธปท. ที่มียอดขาดทุนจำนวนมาก

มาตรา 25 (1) ว่าด้วยเรื่อง บทบาทของคณะกรรมการธปท. นั้น กำหนดให้ คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินการและการดำเนินงานของธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฎิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการธปท.

มาตรา 28/19 (5) ระบุว่า ตำแหน่ง "ผู้ว่าการธปท." นอกจากจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ยังสามารถพ้นจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือ การเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ เพียงแต่มติดังกล่าว ต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกไว้อย่างชัดเจน

การปลด "ผู้ว่าการธปท." ออกจากตำแหน่ง คงต้องตอบคำถามของ "สังคม" ให้ได้เช่นกันว่า เพราะอะไร? ..เพราะอย่าลืมว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของธปท. และถึงแม้ว่า ธปท. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานบ้าง แต่ก็เป็นผลขาดทุนที่เกิดจากการรักษาเสถียรภาพการเงินในประเทศ ซึ่งธนาคารกลางอื่นในอีกหลายประเทศก็ประสบภาวะเดียวกัน!!!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กิตติรัตน์ วอน หยุดปล่อยข่าว ปลดผู้ว่าธปท.

view