สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบงก์ชาติขาดทุนเป็นภาพมายา แบงก์รัฐเจ๊งแล้ว 2 แบงก์ นี่สิของจริง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ถ้านายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีนิสัยใจคอ มีพฤติกรรมแบบเดียวกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นายประสารคงจะเขียนจดหมายถึงนายกิตติรัตน์ และนายวีรพงษ์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านเศรฐกิจ ของนายกรัฐมนตรี ให้ดูแล สะสางหนี้เน่า ของธนาคารของรัฐ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังให้ดี เพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องพังพินาศ และคาดโทษว่า นายกิตติรัตน์ และนายวีรพงษ์ต่องรับผิดชอบ
       
       แต่นายประสารเป็นข้าราชการที่ทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ด้วยความสามารถ ความซื่อตรงต่อหน้าที่ในความรับผิดชอบ ไม่ใช่ “ขี้ข้าทักษิณ” ที่กล้าทำทุกอย่าง เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เราจึงไม่ได้เห็น จดหมายจากผู้ว่าแบงก์ชาติ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
       
       ในขณะที่ นายวีรพงษ์ และนายกิตติรัตน์ สร้างภาพ หลอกชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ว่า การขาดทุนของแบงก์ชาติ สี่แสนถึงห้าแสนล้านบาทนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยพังพินาศ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ธนาคารของรัฐอย่างน้อยสองแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายกิตติรัตน์ คือ เอสเอ็มอีแบงก์ และ ไอแบงก์ หรือ ธนาคารอิสลาม มีหนี้เน่ารายละ สี่ถึงห้าหมื่นล้านบาท และมีฐานะล้มละลายแล้ว
       
       ในทางปฏิบัติ เอสเอ็มอีแบงก์ กับไอแบงก์ เจ๊งแล้ว หากมิใช่ธนาคารของกระทรวงการคลังที่มีผู้ฝากเงินเป็นรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ อย่างเช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย หรือกองทุนประกันสังคมฯลฯ ที่รัฐบาลสั่งได้ แต่เป็นผู้ฝากเงินรายย่อยที่เป็นประชาชนทั่วไป ป่านนี้ เราคงได้เห็นปรากฎการณ์ “ Bank Run” คือ ผู้ฝากเงินแตกตื่นแห่กันไปถอนเงิน จนธนาคารล้ม เหมือนที่เคยเกิดกับบริษัทเงินทุน และธนาคารเอกชนเมื่อยี่สิบปีก่อน
       
       ในขณะที่การขาดทุนของแบงก์ชาติ ซึ่งนายกิตติรัตน์ และนายวีรพงษ์ พยายามวาดภาพให้น่ากลัวได้รับการอธิบายจากผู้รู้จริง โดยเฉพาะนายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และลูกหม้อเก่าแบงก์ชาติว่า เป็นการขาดทุนทางบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกนี้ เพราะ เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และไม่ใช่หนี้สาธารณะไม่เป็นภาระของประชาชน
       
       แต่ปัญหาหนี้เน่าของเอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์นั้น ได้รับการยอมรับจากกระทรวงการคลังเอง ถึงขั้นนายกิตติรัตน์เอง เป็นผู้ให้ข่าวเองว่า ต้องมีการควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสิน ก่อนที่จะมีคนไปเตือนว่า คำพูดเช่นนี้ของคนที่เป็นรัฐมนตรีคลัง จะส่งผลกระทบอย่างไร จึงกลับคำพูดเสียใหม่ว่า ข้อเสอนควบรวมเป็นข้อเสนอของธนาคารโลก กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนที่จะควบรวมในตอนนี้
       
       ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกระทรวงการคลังเอง สถานะของเอสเอ็มอีแบงก์ มีหนี้เสียประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 40% ของหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ 9.7 หมื่นล้านบาท มีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบ 0.95% ขณะที่ไอแบงก์ มีหนี้เสีย 2.47 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 22.5% ของหนี้ทั้งหมด เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 4.6% ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดว่าต้องมีไม่ต่ำกว่า 8.5%
       
       เอสเอ็มอีแบงก์ ต้องการเงินเพิ่มทุน 6,000 ล้านบาท ส่วนไอแบงก์ ต้องการ 1.4 หมื่นล้านบาท รวม สองแบงก์ รัฐบาลต้องใส่เงินเข้าไป 2 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้หนี้เสีย และทำให้เงินกองทุนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานบีเอสไอ
       
       นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังส่งทีมงานจาก สศค.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าไปดูแลและติดตามการบริหารแผนฟื้นฟู เอสเอ็มอีแบงก์ และไอแบงก์ และให้ทีมงานดังกล่าวรายงานตรงต่อนายกิตติรัตน์ กับนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง
       
       ในขณะที่นายอารีพงศ์กล่าวว่า จะให้เวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนจะพิจารณาว่าจะเพิ่มทุนให้ หรือหากทำไม่ได้ก็จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
       
       คำว่า กระทรวงการคลังส่งทีมงานเข้าไปดูแล และติดตามการบริหารแผนฟื้นฟู นั้น หากเป็นคนธรรมดาทั่วไปฟังดูก็เฉยๆ แต่สำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย นัยของคำๆนี้ ในภาษาอังกฤษคือ “receivership” หากใช้กับธุรกิจทั่วไปของเอกชนคือ การพิทักษ์ทรัพย์ เพราะกิจการอยู่ในสถานะล้มละลาย
       
       นี่คือ ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีแบงก์ กับไอแบงก์ เวลา 6 เดือนที่กระทรวงการคลังให้กับธนาคารทั้งสองแห่งในการแก้ปัญหา เป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เพื่อหาเหตุผลในการเพิ่มทุน หากต้องเพิ่มทุน เงินที่เพิ่มทุนนี้แหละ คือ ภาษีของประชาชนชนที่ ต้องเข้าไปอุ้มธนาคารของรัฐภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง
       
       ปัญหาหนี้เน่าของเอสเอ็มอีแบงก์กับไอแบงก์ ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เป็นขยะใต้พรมที่นายกิตติรัตน์ซุกเอาไว้
       
       ปี 2552 เอสเอ็มอีแบงก์ มีหนี้เอ็นพีแอล 37.16 % ลดลงมาเหลือ 20.31 % ในปี 2553 และเหลือ 15.73% เมื่อปี 2554 ก่อนจะพุ่งทะยานขึ้นไปถึง 40.68 % ในปี 2555
       
       ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยรายงาน การตรวจสอบการบริหารความเสี่ยงของ เอสเอ็มอีแบงก์ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 สรุปว่า ผลประกอบการโดยภาพรวมของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ต่ำใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยการดำรงสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงต่ำกว่ามาตรฐานที่ ธปท. กำหนด การประกอบธุรกิจขาดทุนอย่างต่อเนื่องเกิน 3 ปี และกระบวนการพิจารณาสินเชื่อยังมีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะลูกหนี้เอสเอ็มอีตามนโยบายรัฐ ส่วนใหญ่มีฐานะอ่อนแอ ทำให้จำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้น
       
       รายงานฉบับนี้ มาถึงมือนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกิตติรัตน์ ให้กำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ นายวิรุฬ จึงสั่งการให้นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานเอสเอ็มอีแบงก์ จัดการแก้ไขปัญหา
       
       เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ มีมติเลิกจ้างนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ โดยไม่บอกล่วงหน้าและจ่ายค่าทดแทน ทั้งๆที่ก่อนจะถูกเลิกจ้าง นายโสฬส ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตในการปล่อยสินเชื่อที่ไม่เป็นไปตามมติบอร์ด แต่กลับได้รับค่าชดเชย และไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด
       
       หลังจากนั้น มีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการ โดยมีนายพิชัย ชุณหวิชร เป็นประธาน แต่ไม่มีแนวทางใดๆในการฟิ้นฟูกิจการ นอกจากขอเพิ่มทุน เพราะนายพิชัย มาจากธุรกิจน้ำมัน ไม่มีความรู้ในธุรกิจธนาคาร และจนถึงบัดนี้ เอสเอ็มอี แบงก์ ยังไม่สามารถหาเอ็มดีคนใหม่ได้
       
       ส่วนไอแบงก์ หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นั้น แบงก์ชาติ ตรวจสอบพบว่ามีการปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากล ประมาณ 8 โครงการ มูลค่าเป็นหลักพันล้านบาท ในยุคที่นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ เป็นกรรมการผู้จัดการ และได้ส่งข้อมูลให้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายอำนวย ปรีมนวงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบการปล่อยกู้ ของไอแบงก์
       
       เมื่อนายธีรชัยลาออก และนายกิตติรัตน์ มาเป็นรัฐมนตรีคลัง การสอบข้อเท็จจริงดำเนินต่อไป และสุดท้ายมีข้อสรุปว่า ไม่พบว่า นายธีระศักดิ์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ มีผลประโยชน์ จากการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด ผลการสอบเบื้องต้นพบความไม่ถูกต้องของการปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวกับระเบียบ และวิธีการเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ มีความผิดที่รุนแรง หรือสร้างความเสียหายให้กับธนาคารแต่อย่างใด
       
       หากนายธีรศักดิ์ ไม่ได้มีศักดิ์ เป็นพี่เขยอย่างไม่เป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลสอบสวนอาจจะออกมาอีกแบบหนึ่งก็ได้ นายธีรศักดิ์ ยังคงนังทำงานต่อไป จนครบวาระ และไม่ได่รับการต่ออายุ ผู้มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการไอแบงก์คนใหม่คือ คนในเครือข่ายธุรกิจของทักษิณ ชินวัตร โดยตรง นาย ธานินทร์ อังสุวรังษี ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัทแคปปิตัล โอเค อันเป็นธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ในเครือชินคอร์ป

       
       นายธานินทร์ มีอายุเพียง 47 ปี มีคุณสมบัติ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งระบุว่า ต้องเป็น ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร แต่นายธานินทร์ เป็นเพียงผู้จัดการทั่วไปเท่านั้น นอกจากนี้ คุณสมบัติที่กำหนดยังระบุว่า ต้องเคยผ่านการบริหารงานในสถาบันการเงิน ที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่แคปปิตอล โอเคมีเงินทุนหมุนเวียนไม่ถึงเกณฑ์ แต่นายธานินทร์ ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเอ็มดี ของไอแบงก์ แม้จะถูกทักท้วงเรื่องคุณสมบัติ จากที่ประชุม คณะกรรมการสรรหา เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว จนกรรมการสรรหา ต้องระบุไว้ในรายงานการประชุมว่า หากคุณสมบัติผู้สมัครไม่ครบ ให้ถือว่าเป็นความผิดของผู้สมัครเอง เพราะแรงสนับสนุนทางการเมืองต้องการให้นายธานินทร์ได้รับตำแหน่งนี้
       
       ความอ่อนด้อยทั้งความรู้ และประสบการณ์ของนายธานินทร์ ทำให้นายสมชัย ผู้อำนวยการ สศค .ต้องสั่งให้นายธานินทร์แต่งตั้งทีมที่ปรึกษาเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูกิจการ ด้วยการทำสัญญาจ้างเป็นระยะเวลา 1 ปี
       
       ขนาดกระทรวงการคลัง เจ้าของแบงก์แท้ๆ ยังไม่มั่นใจในตัวผู้บริหาร ต้องหาพี่เลี้ยงเข้าไปป้อนข้าวป้อนน้ำให้ แล้วจะเรียกร้องให้ผู้ฝากเงินรายย่อยมั่นใจในไอแบงก์ได้อย่างไร
       
       บทเรียนจากวิกฤติการณ์การเงิน ปี 2540 นำไปสู่การปฏิรูป ระบบการธนาคารและการเงินของไทย จนมีความมั่นคง แข็งแกร่ง สามารถรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติการณ์การเงินครั้งใหญ่ๆ ของโลกได้ ไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใด ประสบปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องถูกควบคุมกิจการ
       
       อนิจจา ในยุคที่มีการสร้างมายาภาพหลอกให้คนเชื่อว่า ประเทศไทยมีกูรูทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่เก่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นหัวเรือใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจ มีนักการเงินที่เก่งกาจ เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีคลัง ชั่วเวลาปีเศษๆ ธนาคารของรัฐ เจ๊งคามือไปแล้ว อย่างน้อย สองแห่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แบงก์ชาติขาดทุน ภาพมายา แบงก์รัฐ เจ๊งแล้ว แบงก์ นี่สิของจริง

view